ก๊าซไข่เน่า คืออะไร เกิดจากอะไร รู้จักสารอันตรายที่แค่ดมกลิ่นก็ตายได้ในไม่กี่นาที

          ก๊าซไข่เน่า คืออะไร รู้จักไว้รับมือภัยใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะหากสูดดมมากเกินไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต 
ก๊าซไข่เน่า คืออะไร

         หลายครั้งที่เราได้ยินข่าวฝาท่อระบายน้ำระเบิด เพราะมีก๊าซสะสมอยู่ในปริมาณมาก หรือพบคนสูดดมสารพิษอย่าง "ก๊าซไข่เน่า" จนเสียชีวิต ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมก๊าซไข่เน่าถึงทำให้คนเสียชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว วันนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซไข่เน่าที่ผลร้ายแรงต่อสุขภาพมาให้ลองศึกษากัน

ก๊าซไข่เน่า คืออะไร 
เกิดจากอะไร

ก๊าซไข่เน่า เกิดจากอะไร

          ก๊าซไข่เน่า หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen Sulfide) มีสูตรเคมีคือ H₂S เป็นก๊าซชนิดหนึ่งที่ไม่มีสี แต่มีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า สามารถติดไฟและระเบิดได้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตกรดซัลฟิวริก และใช้ในกระบวนการปิโตรเคมีต่าง ๆ 

          ก๊าซชนิดนี้มักเกิดจากการที่แบคทีเรียไปย่อยสลายสารอินทรีย์โดยที่ไม่ใช้ออกซิเจน เช่น ย่อยสลายขยะจากเศษอาหารหรือสิ่งมีชีวิตที่มีโปรตีนสูง กลายเป็นก๊าซมีพิษที่มีกลิ่นฉุนรุนแรง  

          นอกจากนี้การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรด เช่น น้ำยาล้างท่อระบายน้ำที่มีคุณสมบัติเป็นกรดซัลฟิวริก ผสมกับน้ำยาล้างห้องน้ำหรือสบู่ที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง ก็ทำให้เกิดสารไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ที่มีความรุนแรงไม่ต่างจากการเอาโซดาไฟมาผสมเช่นกัน

ก๊าซไข่เน่า พบได้ที่ไหนบ้าง

      ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่มีการย่อยสลายสารอินทรีย์ เช่น 

  • แหล่งที่พบตามธรรมชาติ : บ่อน้ำพุร้อน บ่อโคลนภูเขาไฟ ทะเลสาบที่มีการหมักหมมของอินทรียวัตถุ
  • ในบ้าน : บ่อส้วม ท่อระบายน้ำ ท่อระบายน้ำอุดตัน ถังขยะที่ไม่ปิดสนิท
  • ในสิ่งแวดล้อม : บ่อขยะ หนองน้ำ แหล่งน้ำเน่าเสีย บ่อปุ๋ยคอก โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทที่มีการหมักและใช้กำมะถัน ใต้ท้องเรือประมง
  • เกิดจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม : การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ บ่อหมักก๊าซ การบำบัดน้ำเสีย 

อาการเมื่อสูดดมก๊าซไข่เน่า

กลิ่นแก๊สไข่เน่า

          ก๊าซไข่เน่า หรือ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไม่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ คนที่ได้รับพิษจะต้องมาจากการสูดดมเข้าไปโดยตรง ซึ่งความอันตรายขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่สูดดมเข้าไป โดยศูนย์พิษวิทยาศิริราช และศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้

  • ระดับความเข้มข้นต่ำ : ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา ตาแดง น้ำตาไหล ระคายเคืองจมูก และลำคอ มีอาการไอจากการระคายเยื่อบุทางเดินอาหาร และหายใจลำบาก
  • ระดับความเข้มข้นต่ำถึงปานกลาง : ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และมีปัญหาการหายใจ
  • ระดับความเข้มข้นสูง : สูญเสียการรับรู้กลิ่นและเกิดอาการรุนแรง เช่น การระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ
  • ระดับความเข้มข้นสูงมาก : อาจทำให้หมดสติ ช็อก ปอดบวม น้ำท่วมปอด และระบบหายใจล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว เกิดภาวะเป็นกรดในร่างกายสูง และเสียชีวิตได้
          ทั้งนี้ ศูนย์พิษวิทยาศิริราช ยังเตือนอีกว่า เมื่อได้กลิ่นไข่เน่าจะมีอาการระคายเคืองที่ตาหรือทางเดินหายใจอย่างกะทันหัน เวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ ถือเป็นสัญญาญเตือนอันตราย ต้องรีบออกมาจากบริเวณนั้นโดยเร็วและไปยังสถานที่อากาศบริสุทธิ์ เพราะหากก๊าซไข่เน่ามีความเข้มข้นขึ้นจะทำให้ประสาทรับกลิ่นของจมูกอ่อนล้า เคยชินกับกลิ่นนั้นจนไม่ได้กลิ่นในที่สุด ส่งผลให้เรารับแก๊สพิษในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว  

ก๊าซไข่เน่า อันตรายอย่างไร

     หากวัดเป็นระดับความเข้มข้นตามข้อมูลของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี จะพบว่า

  • ความเข้มข้น 0.2 ppm : เริ่มได้กลิ่น
  • ความเข้มข้น 10 ppm : ได้กลิ่นที่รุนแรงมาก  
  • ความเข้มข้น 50 ppm : ระคายเคืองตาและเยื่อบุทางเดินหายใจ
  • ความเข้มข้น 150 ppm : ประสาทรับกลิ่นไม่ทำงาน
  • ความเข้มข้น 200 ppm : ไม่ได้กลิ่น ตาแดง เจ็บในคอ
  • ความเข้มข้น 250 ppm : อาจน้ำท่วมปอดถ้าสูดดมนาน
  • ความเข้มข้น 500 ppm : หากสัมผัสกลิ่นในระยะเวลาครึ่งชั่วโมง - 1 ชั่วโมง จะเกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ หมดสติ และหยุดหายใจ 
  • ความเข้มข้น 500-1,000 ppm : เกิดอาการจากการขาดออกซิเจนในทุกระบบและหยุดหายใจ
          นอกจากนี้หากมีความเข้มข้นมากกว่า 1,000 ppm แค่สูดดมเข้าไปเพียง 2-3 วินาทีก็จะเสียชีวิตได้ทันที เพราะก๊าซจะไปบล็อกออกซิเจน ทำให้สมองขาดอากาศ

วิธีรักษาเมื่อสูดดมก๊าซไข่เน่า

          หากพบผู้สูดดมก๊าซไข่เน่าให้รีบนำตัวผู้ป่วยออกจากสถานที่ปนเปื้อนก๊าซพิษโดยเร็ว และนำตัวไปยังที่โล่งที่มีการระบายอากาศที่ดี จากนั้นนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยแพทย์จะให้ยาต้านพิษโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) 3% เพื่อรักษา 

          อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีภาวะการหายใจล้มเหลว แพทย์จะต้องให้ออกซิเจน พร้อมกับเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม น้ำท่วมปอด

วิธีป้องกันก๊าซไข่เน่า

ก๊าซไข่เน่า อันตราย

  • จัดการต้นตอแหล่งกำเนิดก๊าซไข่เน่า เช่น หากพบว่าท่อระบายน้ำอุดตันควรซ่อมแซมให้เรียบร้อย
  • ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เพื่อระบายอากาศ ป้องกันการสะสมของก๊าซ หรือทำฝาท่อให้มีรูระบายอากาศ
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นที่เสี่ยงมีการระบายอากาศที่ดี
  • เปิดหน้าต่าง ประตู หรือใช้พัดลมเพื่อระบายอากาศในบริเวณที่มีกลิ่นไข่เน่า
  • ติดตั้งเครื่องตรวจจับก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ในพื้นที่เสี่ยง
  • หากต้องทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ควรสวมหน้ากากป้องกันสารเคมี ถุงมือ และเสื้อผ้าที่ป้องกันสารเคมี

         ทั้งนี้ หากพบเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซไข่เน่าในปริมาณมาก ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาล หรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ให้เข้ามาตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

          ก๊าซไข่เน่าถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากอาจถึงแก่ชีวิตได้ เราจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับก๊าซชนิดนี้ และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย

บทความที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, ศูนย์พิษวิทยาศิริราช (1), (2), ThaiPBS  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ก๊าซไข่เน่า คืออะไร เกิดจากอะไร รู้จักสารอันตรายที่แค่ดมกลิ่นก็ตายได้ในไม่กี่นาที อัปเดตล่าสุด 14 สิงหาคม 2567 เวลา 17:05:06 7,492 อ่าน
TOP
x close