โรค VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada Disease คืออะไร ทำไมถึงทำจอประสาทตาอักเสบ

           โรค VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada Disease คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร ทำไมถึงทำให้จอประสาทตาอักเสบ สูญเสียการมองเห็น แล้วจะรักษาได้ไหม
โรค vogt koyanagi harada

           โรค Vogt-Koyanagi-Harada Disease (VKH) เป็นโรคที่ค่อนข้างหายาก แต่ก่อให้เกิดอาการกับร่างกายหลายระบบ จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไม่น้อย การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

โรค VKH คืออะไร

          โรค Vogt-Koyanagi-Harada Disease หรือโวกต์–โคยานางิ–ฮาราดะ เป็นโรคอักเสบเรื้อรังที่หายาก มักพบในคนเอเชีย คนฮิสแปนิก และคนพื้นเมืองอเมริกัน มากกว่าชาวยุโรป โดยทั่วไปจะเริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 30-40 ปี แต่ก็เคยมีรายงานพบผู้ป่วยเด็กอายุ 4 ขวบเช่นกัน

          สำหรับชื่อของโรคนี้ตั้งตามชื่อของแพทย์ 3 คน ที่เป็นผู้อธิบายอาการโดยรวมของโรค VKN คือ อัลเฟรด โวกต์, โยชิโซ โคยานางิ และเอโนสุเกะ ฮาราดะ

โรค VKH สาเหตุเกิดจากอะไร

           สาเหตุของโรค VKH ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจผิดและโจมตีเซลล์ที่มีเม็ดสีเมลานินของตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบในส่วนต่าง ๆ คือ ดวงตา ผิวหนัง เส้นผม หูชั้นใน และระบบประสาทส่วนกลาง นอกจากนี้ยังอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เช่นกัน

โรค VKH อาการเป็นอย่างไร

vkh eye

           อาการของโรค VKH เกิดขึ้นกับหลายระบบ จึงแสดงอาการที่หลากหลาย ดังนี้

อาการทางตา

           ตาแดง เจ็บตา ปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพเป็นวงกลม มีจุดดำลอยในสายตา เห็นภาพซ้อน มีฝ้าบังตา กลัวแสง จอประสาทตาอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านี้ดูเผิน ๆ จะคล้ายกับต้อกระจกและต้อหิน

อาการทางผิวหนัง

           ผู้ป่วยจะมีผิวหนังขาว (Vitiligo) มีจุดขาวกระจายทั่วศีรษะ เปลือกตา ลำตัว เนื่องจากสูญเสียเซลล์สร้างเม็ดสี ตามมาด้วยขนตาขาว ผมร่วง ผิวหนังอักเสบ สีของผมและขนเปลี่ยนไป ทำให้บางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคด่างขาว

อาการทางหู

           มีอาการหูอื้อ เวียนหัว ได้ยินเสียงดังในหู สูญเสียการได้ยิน

อาการอื่น ๆ

           ปวดหัว เวียนหัว เป็นไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หากเป็นมาก ๆ อาจมีอาการคอแข็ง อ่อนแรง และชักได้ในที่สุด

จะรู้ได้อย่างไรว่าป่วย VKH

          เนื่องจากอาการของโรค VKH มีความคล้ายคลึงกับบางโรค แพทย์จึงต้องตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยพิจารณาจากประวัติการเจ็บป่วย อาการทางคลินิก และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น

  • การตรวจตา : ตรวจดูการอักเสบภายในลูกตา ตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา OCT

  • การตรวจผิวหนัง : ตรวจดูรอยโรคบนผิวหนัง

  • การตรวจหู : ตรวจการได้ยิน

  • การตรวจน้ำไขสันหลัง : ตรวจหาความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง

  • การตรวจเลือด : ตรวจหาความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน

โรค VKH รักษาอย่างไร

โรค VKH

          การรักษาโรค VKN จะมุ่งเน้นไปที่การลดการอักเสบและป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยทั่วไปจะใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในขนาดสูงร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ รวมทั้งการรักษาตามอาการที่เป็น

          ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การฉายแสง หรือการผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดเพื่อลดความดันลูกตา หรือการรักษารูจอประสาทตา เป็นต้น

โรค VKH อันตรายไหม

           โรค VKH มีความอันตราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น

  • ต้อกระจกและต้อหิน : โรค VKH ส่งผลกระทบต่อดวงตาโดยตรง จึงอาจทำให้มีอาการต้อกระจกหรือต้อหิน

  • สูญเสียการมองเห็น : นับเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยและรุนแรงที่สุด เพราะการอักเสบของเส้นประสาทตาและดวงตา ทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้นจนเส้นประสาทตาเสียหายได้ อีกทั้งการที่ดวงตาอักเสบบ่อย ๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการทำลายเซลล์ประสาทในจอประสาทตา และนำไปสู่ความบกพร่องทางสายตาอย่างถาวร

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ : การอักเสบของเยื่อหุ้มสมองอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน และอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ

  • การเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีผิว : อาการผิวขาว (Vitiligo) และการเปลี่ยนสีของผมและขน อาจส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์และจิตใจของผู้ป่วย

  • กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน : การมองเห็นไม่ชัด เจ็บตา เวียนหัว ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

          อย่างไรก็ตาม การตรวจพบได้เร็วและเริ่มการรักษาโรค VKH ในระยะเริ่มแรก จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

วิธีดูแลผู้ป่วยโรค VKH

โรค VKH

          ผู้ป่วยโรค VKH ควรได้รับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยควบคุมการอักเสบและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ไม่ควรหยุดยาเองหรือปรับเปลี่ยนขนาดยาโดยพลการ เพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้

  • ควรไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจติดตามอาการและปรับเปลี่ยนยาตามความเหมาะสม

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด สวมแว่นกันแดดและทาครีมกันแดดเสมอเมื่อออกนอกบ้าน

  • งดทำกิจกรรมที่ทำให้ตาบาดเจ็บ เช่น การขยี้ตาแรง ๆ หรือการเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดการกระทบต่อดวงตา

  • หยุดพักสายตาเป็นระยะหากต้องทำงานที่ต้องใช้สายตามาก

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ

           โรค VKH เป็นโรคที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อหลายระบบของร่างกาย แต่รักษาได้ถ้าตรวจพบเร็ว ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคระบบภูมิคุ้มกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : rarediseases.org, ncbi.nlm.nih.gov
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรค VKH หรือ Vogt-Koyanagi-Harada Disease คืออะไร ทำไมถึงทำจอประสาทตาอักเสบ อัปเดตล่าสุด 13 กันยายน 2567 เวลา 14:41:24 11,791 อ่าน
TOP
x close