น้ำกัดเท้า สาเหตุเกิดจากอะไร
น้ำกัดเท้า ภาษาอังกฤษ คือ Athlete's foot หรือบางคนเรียกว่า ฮ่องกงฟุต คือภาวะที่ผิวหนังบริเวณเท้าเปื่อยลอก เพราะมีความอับชื้น ทำให้เชื้อราเจริญเติบโต ส่วนใหญ่มักขึ้นตามซอกนิ้วเท้า ซึ่งเป็นจุดที่สะสมสิ่งสกปรกไว้มากที่สุด โดยมีปัจจัยดังนี้
-
สภาพแวดล้อมที่ชื้น เช่น การใส่รองเท้าที่อับชื้น ใส่ถุงเท้าที่เปียกชื้น เท้าสัมผัสน้ำเป็นประจำ รวมทั้งการเดินลุยน้ำท่วมขัง
-
ติดเชื้อราจากที่สาธารณะ เช่น ห้องอาบน้ำ สระว่ายน้ำ หรือพื้นที่ที่เปียกชื้น
-
การเสียดสีของเท้ากับรองเท้า หรือการเดินบ่อย ๆ อาจทำให้ผิวหนังบริเวณเท้าเกิดรอยร้าว ซึ่งเป็นทางเข้าของเชื้อรา
-
ภาวะเหงื่อออกง่ายบริเวณฝ่าเท้า ทำให้เท้าอับชื้นอยู่ตลอดเวลา
น้ำกัดเท้า อาการเป็นแบบไหน
อาการระยะแรก
อาการระยะติดเชื้อ
ในกรณีที่เป็นมานานเกิน 3 วัน อาจมีอาการติดเชื้อร่วมด้วย โดยอาการจะแตกต่างกันตามชนิดของเชื้อที่เข้าสู่บาดแผล
-
เชื้อแบคทีเรีย : มีรอยแผลเปื่อยที่ผิวหนัง ผื่นที่เท้าจะบวมแดง ร้อน มีหนอง ปวด กดเจ็บ อาจมีไข้ร่วมด้วย
-
เชื้อรา : มักเกิดกับคนที่แช่น้ำมาเป็นเวลานาน ผิวหนังจะมีขุยขาวเปียก ลอกเป็นวง ๆ มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคัน อาจมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ ขึ้นด้วย ร่วมกับมีประวัติเป็นมานานเกิน 2 สัปดาห์
วิธีรักษาน้ำกัดเท้า ใช้ยาอะไร
วิธีรักษาน้ำกัดเท้าระยะแรก
ในช่วง 1-3 วันแรกเป็นระยะที่ยังไม่ติดเชื้อ ยังเป็นไม่นาน สามารถรักษาได้ด้วยวิธีนี้
-
ล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ แล้วเช็ดเท้าให้แห้งสนิท โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า
-
ใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อน ๆ เช่น ไตรแอมซิโนโลน ชนิดครีม, เบตาเมทาโซน ชนิดครีม ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็น วันละ 2-3 ครั้ง ใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์
-
หากต้องออกไปนอกบ้านให้เลือกสวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี
วิธีรักษาน้ำกัดเท้าที่ติดเชื้อแบคทีเรีย
กรณีที่ยังเป็นไม่มาก
-
ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ โดยผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำอุ่น 1 ลิตร แช่เท้าประมาณ 15-20 นาที วันละ 2 ครั้ง
-
หลังจากแช่น้ำเกลือควรเช็ดเท้าให้แห้งสนิท แล้วทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน, โพวิโดน, ไอโอดีน หรือขี้ผึ้งวิทฟิลด์ วันละ 2-3 ครั้ง
-
ห้ามใช้ยาสเตียรอยด์ทาบริเวณที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะจะยิ่งทําให้เชื้อลุกลาม
กรณีที่เป็นมาก
โรคน้ำกัดเท้าที่ติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง จนมีอาการบวมและปวดมาก มีไข้ ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อคลอกซาซิลลิน หรือไดคลอกซาซิลลิน มารับประทาน และอาจฉีดยาปฏิชีวนะให้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
วิธีรักษาน้ำกัดเท้าที่ติดเชื้อรา
กรณีที่ยังเป็นไม่มาก
-
ล้างเท้าด้วยสบู่ เช็ดเท้าให้แห้งสนิท
-
ทายาต้านเชื้อรา เช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์, คีโตโคนาโซล ชนิดครีม, โคลไตรมาโซล ชนิดครีม ในบริเวณที่เป็น วันละ 2-3 ครั้ง ทาติดต่อกันประมาณ 1-2 เดือน
-
ห้ามใช้ยาสเตียรอยด์ทาบริเวณที่มีการติดเชื้อรา เพราะจะยิ่งทําให้เชื้อลุกลาม
กรณีที่เป็นมาก
ในคนที่ทายาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีการติดเชื้อที่เล็บร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์จ่ายยารักษาที่เหมาะสมต่อไป โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาเชื้อราชนิดรับประทานร่วมด้วย ได้แก่ กริซีโอฟูลวิน, ไอทราโคนาโซล และฟลูโคนาโซล
ยาทาเชื้อรา ครีมทาเชื้อราแก้น้ำกัดเท้า มีแบบไหนบ้าง ยี่ห้อไหนดี
สมุนไพรรักษาน้ำกัดเท้า
มีอะไรบ้าง
1. ขมิ้นชัน
มีสรรพคุณแก้คัน บรรเทาอาการผดผื่นคัน ยับยั้งเชื้อโรคและเชื้อราได้ดี
วิธีใช้ขมิ้นชันรักษาน้ำกัดเท้า
-
ขมิ้นชันสด : นำเหง้าขมิ้นชันสดฝนกับน้ำต้มสุกแล้วทาบริเวณที่มีอาการ หรือตำกับน้ำแล้วนำมาชโลมแผลน้ำกัดเท้าก็ได้
-
ขมิ้นชันผง : นำผงขมิ้นชันผสมกับน้ำเล็กน้อย ทาบริเวณที่มีอาการ
เมื่อหายเป็นปกติแล้วให้ใช้ต่อเนื่องอีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้อาการหายขาด
2. ข่าแก่
ข่ามีฤทธิ์รักษาโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคน้ำกัดเท้าได้ รวมทั้งรักษากลาก เกลื้อน และแก้ลมพิษได้ด้วย
วิธีใช้ข่ารักษาน้ำกัดเท้า
-
เหง้าข่าสด : นำเหง้าข่าแก่สดเท่าหัวแม่มือมาทุบหรือตำให้ละเอียด ผสมเหล้าโรงจนเข้ากันดี แล้วนำน้ำข่ามาทาบริเวณที่มีอาการหลาย ๆ ครั้งจนกว่าอาการจะทุเลาลง
-
ทิงเจอร์ข่า : นำเหง้าข่าแก่สดทุบพอหยาบ ใส่ลงในโหลแก้วที่สะอาด เติมแอลกอฮอล์ล้างแผลพอท่วม หมักไว้ 7 วัน หมั่นคนเช้า-เย็น จากนั้นกรองเอาแต่น้ำมาทาบริเวณที่มีอาการ
3. ใบพลู
ใบพลูมีสารสำคัญหลายชนิดที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย โดยเฉพาะน้ำมันหอมระเหย Betel oil ที่มีสรรพคุณยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบนผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคน้ำกัดเท้า
วิธีใช้ใบพลูรักษาน้ำกัดเท้า
-
นำใบพลูมาล้างสะอาด แล้วตำใบพลูผสมกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์
-
ทาติดต่อกันจนกว่าแผลจะดีขึ้น
4. เปลือกมังคุดแห้ง
เปลือกมังคุดแห้งมีสารแทนนินที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลน้ำกัดเท้าได้
วิธีใช้เปลือกมังคุดแห้งรักษาน้ำกัดเท้า
-
นำเปลือกมังคุดแห้งมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสให้ข้นพอควร
-
ทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง
5. ทองพันชั่ง
ในทองพันชั่งมีสาร Diospyrol ที่มีฤทธิ์รักษาเชื้อรา กลาก เกลื้อน และต้านอาการผิวหนังอักเสบ จึงใช้รักษาน้ำกัดเท้าได้
วิธีใช้ทองพันชั่งรักษาน้ำกัดเท้า
-
ใบทองพันชั่ง : ใช้ใบทองพันชั่งประมาณ 1 กำมือ ตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน จนกว่าแผลจะหาย
-
ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง : นำใบทองพันชั่ง 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วโขลกพอหยาบ ใส่ลงในโหลแก้วที่สะอาด เติมแอลกอฮอล์ล้างแผลพอท่วม ปิดฝาให้สนิท หมักไว้ 7 วัน หมั่นคนเช้า-เย็น เมื่อครบกำหนดกรองเอาแต่น้ำมาทาบริเวณที่มีอาการ
เป็นน้ำกัดเท้า ดูแลตัวเองอย่างไร
สำหรับคนที่มีอาการน้ำกัดเท้า ควรดูแลตัวเองดังนี้
-
ทายาเป็นประจำตามคำแนะนำบนฉลากยาหรือตามที่แพทย์สั่ง
-
ไม่เกาบริเวณที่เป็นโรค เพราะอาจติดเชื้อซ้ำเติม ใช้เวลารักษานานขึ้นไปอีก
-
ไม่แช่เท้าในน้ำเป็นเวลานาน ยกเว้นว่าเลี่ยงไม่ได้ควรใส่รองเท้าบูตก่อนลงน้ำ และต้องล้างเท้าด้วยน้ำสบู่ทันทีหลังขึ้นจากน้ำแล้วเช็ดให้แห้ง
-
หากเท้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน, โพวิโดน, ไอโอดีน เป็นต้น
-
ระวังการตัดเล็บเท้าที่อาจเกิดบาดแผลและเป็นทางเข้าของเชื้อโรค
วิธีป้องกันโรคน้ำกัดเท้า
-
ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดหลังลุยน้ำ สัมผัสน้ำสกปรก โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ควรใช้สบู่ฟอกให้สะอาดและเช็ดให้แห้งสนิท
-
เปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน โดยใส่ถุงเท้าที่ซักสะอาดและแห้งสนิท ระบายอากาศได้ดี
-
เลือกใส่รองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ใส่รองเท้าที่อับชื้น
-
พยายามไม่สัมผัสน้ำสกปรก และหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำที่ท่วมขัง
-
ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น รองเท้า ถุงเท้า ผ้าเช็ดตัว เพราะโรคนี้สามารถติดต่อกันได้
-
ทำความสะอาดพื้นที่เปียกชื้นเป็นประจำ เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ
-
หากมีเหงื่อออกมากบริเวณเท้า สามารถใช้แป้งฝุ่นทาเพื่อช่วยดูดซับเหงื่อ