x close

กระดูกคอเสื่อม กดทับเส้นประสาท ไม่แก่ก็ต้องระวังไว้ อาการเป็นแบบไหนรีบมาเช็ก !

          เมื่อความเสื่อมไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย แต่พฤติกรรมที่ทำกันทุกวันก็อาจเป็นสาเหตุของกระดูกคอเสื่อมได้ งั้นลองเช็กดูหน่อยไหมว่าอาการเป็นยังไง

กระดูกคอทับเส้นประสาท

          กระดูกคอ คือข้อกระดูกสันหลังส่วนคอของเรา และเมื่อกระดูกคอถูกใช้งานมานาน ก็จะเริ่มมีอาการสึกหรอหรือเสื่อมไปตามวัย ทว่าทุกวันนี้โรค ภัยต่าง ๆ เกิดขึ้นกับคนอายุน้อยลง อย่างกระดูกคอเสื่อมก็เป็นอีกอาการที่ไม่ได้เจอแค่ในวัยชราเท่านั้น แต่คนอายุไม่มาก หรือช่วงวัยทำงานก็พบโรคนี้ได้มากขึ้น ที่สำคัญอาการกระดูกคอเสื่อมก็ไม่ได้แสดงอาการที่คอโดยตรงซะด้วย แต่อาจส่งสัญญาณมาที่แขน ที่มือ เอาเป็นว่าเรามาลองทำความรู้จักโรคกระดูกคอเสื่อมกันดีกว่า

กระดูกคอเสื่อม เกิดจากอะไร

          กระดูกคอเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้

1. ออฟฟิศซินโดรม

          โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ซึ่งหากนั่งผิดท่าซ้ำ ๆ ทำเป็นระยะเวลานานเข้า ก็อาจจะมีอาการออฟฟิศซินโดรม และหากไม่รักษา ในระยะยาวก็อาจเสี่ยงกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทได้


2. สังคมก้มหน้า

          ท่าที่เราก้มหน้ามองจอมือถือนาน ๆ จะทำให้มีแรงกดทับที่กระดูกต้นคอ ยิ่งงอคอมากแรงกดทับก็จะยิ่งมาก อาจจะประมาณ 20 กิโลเลยทีเดียว ดังนั้นหากมีพฤติกรรมเช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะมีอาการปวดคอ ปวดหลัง และเสี่ยงต่อภาวะกระดูกต้นคอเสื่อม รวมไปถึงอาการกระดูกต้นคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทด้วย


3. อายุที่มากขึ้น

          ตามปกติแล้วข้อต่อต่าง ๆ ระหว่างกระดูกคอแต่ละปล้องที่ได้รับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวมานานจะมีลักษณะโครงสร้างที่เปลี่ยนไป โดยอาจมีการสึกหรอ มีน้ำในไขข้อลดลง ส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังยุบ ความยืดหยุ่นลดลง กระดูกคอส่วนอื่น ๆ ก็ต้องรับแรงกระแทกที่มากขึ้นจนค่อย ๆ เสื่อมตัวลงในที่สุด

กระดูกคอทับเส้นประสาท

กระดูกคอเสื่อม อาการเป็นอย่างไร
   
           อาการหลัก ๆ ของภาวะกระดูกคอเสื่อม ส่วนมากจะมีอาการปวด โดยแบ่งอาการออกได้ตามตำแหน่งที่เสื่อม หรือมีหินปูนที่เกาะกระดูกและเอ็นไปกดเส้นประสาท ดังนี้

* กระดูกคอเสื่อม ที่ยังไม่มีการกดเส้นประสาท

           หากไม่มีอาการปวดร้าวมาที่แขน แสดงว่ายังไม่มีการกดเส้นประสาท แต่จะปวดกระดูกและข้อต่าง ๆ ในกระดูกสันหลัง ซึ่งเสื่อมสภาพไป

* กระดูกคอเสื่อม ที่มีหินปูนเกาะกระดูกและเอ็นไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งจะมีอาการ ดังนี้
           - ปวดคอ อาจปวดร้าวไปที่แขน มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง
           - ปวดร้าวบริเวณท้ายทอย รวมไปถึงสะบัก
           - แขนชา ขาชา 
           - ปวดมากเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง
           - แขน ขา อ่อนแรง (ในกรณีที่อาการหนัก)

* กระดูกคอเสื่อมในข้อที่ 5-6 และข้อที่ 6-7 ซึ่งทำให้มีอาการ ดังนี้
           - ปวดหลังคอร้าวไปยังแขนตรงกล้ามเนื้องอแขน หรืออาจร้าวไปถึงแขนท่อนล่าง จนถึงนิ้วโป้งและนิ้วชี้
           - หากเส้นประสาทคอข้อที่ 7 ถูกกด จะปวดหลังคอร้าวลงไปด้านหลังของไหล่ ตรงกล้ามเนื้อเหยียดแขน และอาจปวดร้าวไปถึงแขนท่อนล่างจนถึงนิ้วกลาง
           - หากมีการกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง จะมีอาการอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ

           ทั้งนี้อาการปวดจะเป็นเรื้อรังหลายปี และหากไม่รีบรักษา อาจมีอาการเดินไม่คล่อง มือไม้อ่อน ทำของหลุดมือบ่อย ๆ กลัดกระดุมเสื้อไม่ได้ เดินขากาง หรืออาการอาจลุกลามไปจนถึงอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เลย


กระดูกต้นคอเสื่อม รักษายังไง
   
           การรักษากระดูกต้นคอเสื่อมมีหลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

           * การรักษาด้วยยา ร่วมกับกายภาพบำบัด ในรายที่อาการไม่มาก
           * การรักษาด้วยเครื่องมือที่ช่วยดึงคอ (Traction) เพื่อลดแรงกดต่อรากประสาท นาน 1-2 สัปดาห์
           * การรักษาด้วยการผ่าตัด
   
           ทั้งนี้แพทย์จะเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมตามอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคล


กระดูกต้นคอเสื่อม ป้องกันได้

           - หลีกเลี่ยงการก้มหน้าเล่นมือถือนาน ๆ แต่ควรจัดท่าให้จอมือถืออยู่ในระดับสายตา
           - นั่งทำงานให้ถูกวิธี หลีกเลี่ยงความเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม
           - ถ้ามีอาการปวดคอ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระเทือนต่อกระดูกคอ เช่น วิ่งเหยาะ หรือโยกศีรษะแรง ๆ
           - พักคอเป็นระยะระหว่างขับรถ ดูโทรทัศน์ เล่นมือถือ หรือใช้คอมพิวเตอร์
           - หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บต้นคอ โดยการใช้เข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ
           - ออกกำลังกายเสมอ โดยเลือกท่าที่ช่วยฝึกให้กล้ามเนื้อช่วงหลังและคอแข็งแรงขึ้น

           การไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ ดังนั้นหากพฤติกรรมไหนที่เสี่ยงภาวะกระดูกคอเสื่อมก็เลี่ยงให้ไกลดีกว่านะคะ

หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 15 ธันวาคม 2563

ขอบคุณข้อมูลจาก
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระดูกคอเสื่อม กดทับเส้นประสาท ไม่แก่ก็ต้องระวังไว้ อาการเป็นแบบไหนรีบมาเช็ก ! อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2563 เวลา 08:59:30 109,587 อ่าน
TOP