x close

โรคผิวหนัง...สาว ๆ ระวังไว้ ให้ไกลตัว


โรคผิวหนัง

โรคผิวหนัง...ระวังให้ไกลตัว (MODERNMOM)
เรื่อง : วุ้นกาแฟ

          ผิวหนังเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่คุณผู้หญิงทุกคนเฝ้าหวงแหนดูแลเป็นอย่างดีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หมั่นทาครีมบำรุงเช้า สาย บ่าย เย็น และก่อนนอน แต่ถึงจะประทินผิวดูแลดีอย่างไรก็ตาม คุณผู้หญิงยังมีอีกเรื่องที่ต้องระวังให้แก่ผิวหนังนั่นก็คือ โรคผิวหนังค่ะ

ต้นเหตุทำร้ายผิวหนัง

          ผิวสวย ๆ วันหนึ่งก็อาจเกิดการติดเชื้อขึ้นมาได้เหมือนกัน ซึ่งก็ต้องหาสาเหตุว่าโรคนั้นมีต้นกำเนิดมาจากอะไร มีวิธีการรักษาแบบไหน ซึ่งเราสามารถแบ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันค่ะ

เชื้อรา ไม่ร้างลาผิว

          เชื้อราพบได้ทั่วไปในทุกภูมิอากาศโดยเฉพาะในสภาวะอับชื้น เชื้อราจะเกิดขึ้นได้บ่อยกับคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือกินยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงคนที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น โรคติดเชื้อผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราที่พบบ่อย ได้แก่

          กลาก ธรรมชาติของเชื้อราชนิดนี้มักเกิดขึ้นในบริเวณที่มีเคอราติน ซึ่งโปรตีนโครงสร้างชนิดหนึ่ง พบที่ผิวหนัง เล็บ ขน และผม อาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่ติดเชื้อ เกิดจากการใส่เสื้อผ้าที่อับชื้นเป็นเวลานาน หรือบางคนที่ร่างกายอ่อนแอ อยู่ในสถานที่อับชื้นก็ทำให้เกิดอาการขึ้นได้ การดูแลรักษากลาก คือใช้ครีมทาบริเวณที่เป็น เพื่อยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา

กลาก

กลาก

          เกลื้อน เกิดจากเชื้อรากินไขมันจากรูขุมขน เมื่อภูมิต้านทานลดลงจึงทำให้เกิดโรค หน้าตาของเจ้าเกลื้อนจะมีลักษณะเป็นด่างขาว มีขุยขอบเขตชัดเจน หรือบางคนอาจเป็นสีเข้มขึ้นก็ได้ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ คัน เพียงแต่เป็นด่างขาวบนผิวหนัง

          ดูแลรักษาเกลื้อนด้วยการหมั่นรักษาสุขอนามัยให้ผิว อาบน้ำทันทีหลังจากที่เหงื่อออก และควรแยกเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัวของคนที่เป็นเกลื้อนออกมาต่างหาก เพื่อป้องกันการติดต่อ

          เชื้อราในช่องคลอด เกิดขึ้นเพราะมีเชื้อราในช่องคลอดมีอาการคันตามจำนวนเชื้อราที่เพิ่มขึ้น และมีตกขาวที่เป็นลักษณะคล้ายนมบูด เป็นน้ำ รวมถึงมีแผ่นขาว ๆ ออกมาจากช่องคลอด ซึ่งก็คือเชื้อรานั่นเอง

          สาเหตุมาจากการอับชื้น และไม่รักษาความสะอาดน้องหนู สวมชุดชั้นในที่แน่นเกินไป ซักไม่สะอาด ไม่แห้ง รวมถึงใส่แผ่นอนามัยตลอดเวลา หากวันไหนต้องทำงานกลางแจ้งและเหงื่อออกเป็นเวลานาน ควรเตรียมชุดชั้นในไปเปลี่ยน รวมถึงล้างน้องหนูให้สะอาดอยู่เสมอ ส่วนน้ำยาทำความสะอาดไม่ควรสวนล้างเข้าไปในช่องคลอดนะคะ

ไวรัสกระจาย

          ไวรัสเป็นเชื้อกลุ่มใหญ่ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในทุกระบบ รวมไปถึงการติดเชื้อที่ผิวหนัง เมื่อร่างกายได้รับเชื้อมาแล้วจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ เพื่อพยายามกำจัด และป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโรค แต่เชื้ออาจจะยังหลบซ่อนและอาศัยอยู่ในร่างกายนี่เอง วันดีคืนร้าย เมื่อภูมิต้านทานต่ำลงก็อาจเกิดอาการของโรคขึ้นมาได้ โรคติดเชื้อผิวหนังจากเชื้อไวรัส มีดังนี้

เริมที่ปาก

เริม

          เริม มี 2 ชนิดด้วยกันค่ะ คือ ชนิดที่ทำให้เกิดแผล มักจะพบบริเวณริมฝีปาก มุมปาก และชนิดที่พบบริเวณอวัยวะเพศ เริ่มต้นของอาการเริมจะรู้สึกคันและเจ็บนิด ๆ บริเวณที่จะเป็นเริม จากนั้นจะมีผื่น และกลายเป็นตุ่มน้ำใส หลังจาก 1-2 วันตุ่มน้ำใสจะแตก และกลายเป็นแผลตกสะเก็ด

          การดูแลรักษาควรพบคุณหมอเพื่อประเมินอาการของเริมว่าอยู่ในระยะใด เพราะอาจจะมีไข้ ปวดแผล ซึ่งควรกินยาแก้ปวดและยาต้านไวรัสค่ะ แต่ไม่หายขาด เชื้อไวรัสเริมจะยังคงอยู่และรอคอยแสดงอาการในวันที่ร่างกายอ่อนแอค่ะ ดังนั้นสาว ๆ ควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรงเพื่อสู้ไวรัสอยู่เสมอ

          งูสวัด เป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสุกใส ลักษณะแผลจะเป็นผื่นตามแนวเส้นประสาท และมีอาการปวดแผลมาก หลังจากเป็นแผลแล้วประมาณ 10 วัน จะตกสะเก็ด โดยระหว่างที่เป็นไข้และมีอาการอ่อนเพลียด้วย ควรพบคุณหมอเพื่อรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาการอาจจะลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายตามเส้นประสาท

          หูด ก้อนบนผิวหนัง อาจจะมีผิวเรียบ หรือขรุขระ สีขาว ชมพู หรือน้ำตาล เกิดขึ้นได้ทั้งร่างกายค่ะ แต่ที่พบบ่อยคือบริเวณนิ้วมือ แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า คอ และใบหน้า ลักษณะของหูดก็จะแตกต่างกัน อาจจะเป็นหูดเพียงเม็ดเดียว หลายเม็ดพร้อมกัน ผิวขรุขระ และเป็นกระจายทั่วไป

          วิธีการดูแลรักษาหูดมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดของหูด อาจจะรักษาด้วยการจี้ด้วยกรดซาลิไซลิก จี้ไฟฟ้า หรือผ่าตัดออก แต่หากผ่าชิ้นเนื้อหูดออกมาแล้ว ควรนำชิ้นเนื้อของหูดไปตรวจด้วย เพื่อเช็คว่ามีความผิดปกติอย่างอื่นหรือไม่

แบคทีเรียตัวร้าย

          จริง ๆ แล้วบนผิวหนังของเรามีเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่ เรียกว่าเชื้อประจำถิ่น (Normal Flora) แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของผิวหนังไปจากเดิม เช่น สุขอนามัยไม่ดี หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เชื้อเหล่านี้ก็มีโอกาสทำให้เกิดโรคผิวหนัง

          แผลพุพอง เป็นการติดเชื้อของชั้นหนังกำพร้า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ใบหน้า เริ่มแรกเป็นเพียงผื่นแดงเล็ก ๆ มีอาการคัน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส เมื่อตุ่มแตกออกบริเวณพื้นของแผลจะเป็นสีแดง มีน้ำเหลืองไหล เมื่อแห้งแล้วจะตกเป็นสะเก็ดเหลืองเกาะที่แผล หากเกิดที่หนังศีรษะจะเรียกว่า ชันนะตุ ปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจจะกลายเป็นแผล และอาจลุกลามขยายวงกว้างและลึกลงไปมากขึ้น จนเข้าสู่กระแสเลือดได้

          ต้นเหตุของแผลผุพอง เกิดจากสุขอนามัยไม่ดี หรือละเลยทำความสะอาดบาดแผล วิธีดูแลรักษา ควรหมั่นทำความสะอาดแผล และใช้ยาทาฆ่าเชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบคุณหมอ

รูขุมขนอักเสบ

รูขุมขนอักเสบ

          รูขุมขนอักเสบ เกิดจากรูขุมขนติดเชื้อจนเกิดผื่นแดง และอาจจะมีอาการคันร่วมด้วย พบมากในบริเวณที่มีต่อมขนเยอะ เช่น บริเวณรักแร้ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นแล้วหายเอง แต่บางครั้งอาจจะเกิดการอักเสบหากไม่ได้รับการรักษาจนเป็นตุ่มหนอง แดง และเจ็บ

          ต้นเหตุ เกิดจากความอับชื้น หรือการอักเสบจากการถอน รักษาด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อทาวันละ 2-3 ครั้ง หากเป็นหนอง บางครั้งจำเป็นต้องผ่าหนองออก

          ผิวหนังอักเสบ เป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อชั้นหนังแท้ และลึกลงไปชั้นผิวหนังลักษณะเป็นผื่นแดงจัด ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว กดแล้วจะรู้สึกเจ็บและบริเวณนั้นร้อน มักพบว่ามีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย

          อาการผิวหนังอักเสบพบได้บ่อยกับคนป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน อ้วน หรือติดสุรา วิธีการดูแลรักษาต้องกินยาร่วมกับการประคบร้อน หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาคุณหมอ อย่าลืมสังเกตอาการตัวเองด้วยค่ะว่าเป็นนานหลายวันหรือไม่

          ให้ข้อมูลของโรคเพื่อเป็นข้อมูลในการสังเกตอาการของตัวเอง เพราะอาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ แต่หลักการสำคัญในการป้องกันโรคผิวหนัง คือหมั่นดูแลรักษาสุขอนามัยของผิวหนังให้สะอาดอยู่เสมอนะคะ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 





ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคผิวหนัง...สาว ๆ ระวังไว้ ให้ไกลตัว อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 16:05:14 36,836 อ่าน
TOP