อย.ยืนยัน ยังไม่พบไข่ไก่ปลอมในไทย (ไทยรัฐ)
อย. ยืนยันยังไม่พบไข่ไก่ปลอมในไทย ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก...
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยกรณี พบไข่ไก่สดมีลักษณะผิดปกติ เช่น ไข่แดงมีสีเหลืองซีด ไข่ขาวเหลวและขุ่นไม่ข้นใสเหมือนไข่ไก่สดปกติ จึงสงสัยว่าเป็นไข่ไก่ปลอมและได้ร้องเรียนให้ อย. ตรวจสอบมาหลายครั้งแล้วนั้น อย. รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้มีการตรวจสอบรวมทั้งส่งตัวอย่างไข่ไก่สดที่สงสัยว่าปลอม ตรวจวิเคราะห์ดีเอนเอที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยผลการวิเคราะห์มักจะพบว่า ไข่ไก่สดดังกล่าวมีดีเอนเอจำเพาะของไก่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไข่ไก่สด นั้นเป็นไข่ไก่สดแท้ ไม่ใช่ไข่ไก่ปลอมตามที่ผู้ร้องเรียนสงสัย
อย่างไรก็ตาม จากข่าวพบไข่ไก่ที่มีลักษณะเหมือนไข่ปลอมที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากมีสภาพผิดปกติแตกต่างจากฟองอื่น ๆ นั้น อย. ได้มีการประสานงานกับ สสจ. ซึ่งได้แจ้งว่าสาธารณสุขอำเภอพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ให้เดินทางเข้าตรวจสอบไข่ไก่ทุกแผง ที่มีจำหน่ายและสุ่มเก็บตัวอย่างพบว่าไข่ไก่มีลักษณะปกติ และยังไม่มีการตรวจพบไข่ไก่ปลอมแต่อย่างใด
เลขาธิการฯ อย. กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก เพราะจากการเฝ้าระวังที่ผ่านมาของ อย. ยังไม่พบการจำหน่ายไข่ไก่ปลอมแต่อย่างใด พบเพียงไข่ที่มีลักษณะผิดปกติเนื่องจากเป็นไข่เก่า ซึ่งอาจมีลักษณะผิดปกติบางประการ เช่น ไข่ขาวเหลวและมีสีขุ่น ไข่แดงแตกง่าย
เนื่องจากโปรตีนในไข่ มีการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติ เมื่อนำไปต้มหรือทอดจะมีความแตกต่างจากไข่สดปกติที่จำหน่ายตามท้องตลาด บางครั้งอาจพบไข่แดง มีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม ซึ่งขึ้นอยู่กับอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ และพันธุ์สัตว์ ซึ่งจะทำให้ไข่แดงมีสีแตกต่างกันออกไปหรือบางครั้งอาจพบว่าเปลือกไข่มีลักษณะนูนหนาเป็นบางที่ ไม่เรียบเสมอกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสุขภาพของสัตว์
ทั้งนี้ ขอแนะนำผู้บริโภคให้ทราบถึงวิธีการสังเกตลักษณะของไข่ไก่สด โดยที่เปลือกไข่สดจะมีผงคล้ายแป้งฉาบติดอยู่ ส่วนไข่เก่าเปลือกจะมันลื่นไข่ไก่สดเปลือกภายนอกจะเป็นสีนวล แต่ไข่เก่าที่จะเน่านั้นจะมีจุดสีเทาขาว ๆ ดำ ๆ อยู่ที่เปลือก หรือทดสอบโดยการเขย่าว่าไข่มีการคลอนหรือไม่ เพราะไข่ไก่สดเนื้อจะแน่นติดเปลือก มีน้ำหนักไม่สั่นคลอนเวลาที่เขย่า และควรเลือกไข่ที่มีเปลือกสะอาด เพราะไข่ที่มีเปลือกสกปรก เชื้อโรคจะแทรกซึมเข้าไปในไข่ ทำให้ไข่ไก่เสียได้ หากพบไข่ไก่ที่มีลักษณะผิดปกติจำหน่ายขออย่าได้ซื้อมาบริโภค และสามารถแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่สายด่วน อย. 1556
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก