
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลสำรวจไก่ทอดร้านดัง โดยพบว่า ร้านแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ทำให้ลูกค้า-พนักงาน เสี่ยงมะเร็งมากที่สุด เพราะใช้น้ำมันเก่าทอดซ้ำจนเสื่อมสภาพเกิน 25% พร้อมติงรัฐบาลเมินแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
วันนี้ (14 มีนาคม) ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวและสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (ทีซีไอเจ) ได้เผยแพร่บทความกรณีที่ร้านค้ามักใช้น้ำมันเก่ามาทอดซ้ำ ซึ่งประเด่นนี้เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมานาน แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาตรการทางกฎหมายหรือบังคับปฏิบัติอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น
โดยล่าสุด ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทดสอบความปลอดภัยของอาหารประเภทไก่ทอด จากร้านค้าต่าง ๆ ทั้งที่มีชื่อเสียงเป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศ หรือร้านที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่นิยมทั่วไป จำนวน 10 ร้าน แต่ได้ส่งตัวอย่างไก่ทอด จาก 7 ร้านค้า ไปทดสอบยังศูนย์วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี
สำหรับวิธีการทดสอบทำโดยใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ โดยนำน้ำมันจากไก่ทอดตัวอย่างไปทดสอบ เพื่อวัดการเสื่อมสภาพจากการใช้งานของน้ำมันที่ใช้ ซึ่งผลปรากฏว่า เกือบทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ 9-20 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นเพียงตัวอย่างเดียวที่พบค่าเกินมาตรฐานกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ คือ ร้านแฟนไชส์ชื่อดังจากต่างประเทศ ซึ่งวินิจฉัยได้ว่า เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25 (3) ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท นอกจากนี้ยังพบอีก 3 ตัวอย่าง ที่มีค่าเกือบเกินมาตรฐาน
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบในเรื่องของราคา พบว่า ไก่ทอดร้านแฟรนไชส์ชื่อดังมีราคาสูงที่สุด แต่ไก่ทอดจากร้านที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงและขายตามตลาดทั่วไปกลับอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมากกว่า ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่า อาหารราคาแพงหรือแบรนด์ดัง ๆ อาจไม่ได้มีคุณภาพเสมอไป เพราะนอกจากผู้บริโภคจะต้องเสี่ยงกับการป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ในน้ำมันเก่าจะมีสารก่อมะเร็งที่อาจทำให้ผู้บริโภคเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ขณะที่พนักงานในร้านดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดเพราะต้องสูดควันจากน้ำมันทอดซ้ำในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทอีกด้วย
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การที่พ่อค้าแม่ค้าเติมน้ำมันใหม่ผสมลงไปในน้ำมันเก่า ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นให้น้ำมันเสื่อมสภาพเร็วยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยสุ่มเก็บตัวอย่างในกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต และพบว่า ร้านค้า 34 เปอร์เซ็นต์ ใช้น้ำมันทอดซ้ำ และยังรวมไปถึงกลุ่มธุรกิจที่รับซื้อน้ำมันเก่ามาฟอกสี และบรรจุในถุงหรือขวดที่ดูน่าเชื่อถือเพื่อขายตามท้องตลาดอีกด้วย