x close

สบายดีไหมจ๊ะน้องสาว

ผู้หญิง

สบายดีไหมจ๊ะน้องสาว (Health Plus)

          ขอต้อนรับสู่กลเม็ดเคล็ดลับที่จะช่วยให้น้องน้อยของคุณมีสุขภาพดี และมีความสุขแล้วคุณจะรู้สึกสบายใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

          คุณอาจไม่เคยรู้เลยว่าช่องคลอดของคุณมีความสุขดีหรือไม่ ทั้งที่จริงแล้ว ช่องคลอดเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย รู้อย่างนี้แล้วเหตุใดเราจึงไม่ดูแลเอาใจใส่น้องน้อยของเราเป็นพิเศษ ทฤษฏีของเราคือสิ่งที่ทำให้คนเรามีความสุข คือสิ่งที่ทำให้ช่องคลอดมีความสุข นั่นคือได้รับการมองว่ามีคุณค่า ได้รับความรักและความเอาใจใส่ ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ มีเซ็กซ์และได้หัวเราะอย่างมีความสุข และเหนืออื่นใดคือ การมีสุขภาพดี และเมื่อคุณอยู่ในช่วงก่อนวัยทองหรือวัยทอง ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบโดยตรงกับความสุขและสุขภาพของช่องคลอด

คำแนะนำต่อไปนี้ จะช่วยให้น้องสาวของคุณแฮปปี้สุด ๆ

กระจกวิเศษบอกข้าเถิด...

          กระจกช่วยให้คุณคุ้นเคยกับริ้วรอยรอบดวงตาได้ดีเกินคาด ว่าแต่คุณใช้กระจกส่องดูจุดซ่อนเร้นของคุณว่า ยังอยู่ดีมีสุขอยู่หรือไม่ ครั้งสุดท้ายคือเมื่อไร นี่อาจฟังดูเป็นคำแนะนำเชย ๆ ที่เรียกร้องมาจากเวิร์กช็อปของนักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีในยุคทศวรรษที่ 70 แต่อันที่จริงแล้วการส่องกระจกและสำรวจดูอย่างละเอียด เป็นวิธีเดียวที่จะได้เห็นสิ่งที่อยู่ระหว่างขา

          แต่ถ้าเรากล้าพอที่จะส่องดู ก็จะทำให้รู้ว่าน้องสาวยังสบายดีอยู่ไหม หน้าตายังงดงามดีหรือเปล่า หลายคนไม่กล้าแม้แต่จะเปิดไฟขณะมีเซ็กซ์ และคงไม่ต้องถึงขั้นบอกให้คู่รักถอดแว่นออก เวลาคุณเปลือยกายต่อหน้าเขา หลายคนเชื่ออยู่ลึก ๆ ในใจว่าจุดซ่อนเร้นของตนเองต้องไม่ปกติหรือน่าเกลียด

          ดร.แคเธอรีน แบล็กเลดจ์ มองเห็นประโยชน์ของการเปรียบเทียบ ดังนั้น เธอได้รวบรวมภาพสีของช่องคลอดลักษณะต่าง ๆ มาไว้ในหนังสือสำรวจความลึกลับของช่องคลอดที่มีชื่อว่า "The Story Of V"

          "มีผู้หญิง 2-3 คน มาพบฉันพร้อมกับเล่าว่า พวกเธอคิดว่าช่องคลอดตัวเองผิดปกติ จนกระทั่งได้มาเห็นรูปภาพในหนังสือ ช่องคลอดมีลักษณะหลากหลายแตกต่างกันไป แต่ละชนิดก็มีความสวยงามในแบบของตัวเอง นี่เป็นการค้นพบสุดล้ำลึก ที่ช่วยให้ผู้หญิงเรามองเห็นช่องคลอดของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนที่มีพลังและความรื่นรมย์ในตัวเอง โดยที่พวกเธอสามารถมองได้อย่างภาคภูมิใจ"

          การใช้กระจกส่องสังเกตความผิดปกติ เช่น รอยแดง ที่อาจเป็นสัญญาณอันตรายนำไปสู่อาการปากช่องคลอดอักเสบ มะเร็งปากช่องคลอด ส่วนอาการบวมอาจเป็นเพราะแมลงกัดต่อย หรืออาการเริ่มแรกของโรคไต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หากส่องพบไฝ จุดสีคล้ำ ดำ ก็ให้หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อย ๆ ว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นหรือสีเข้มมากขึ้นหรือไม่ ต้องระวังว่ามีตุ่มน้ำเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเป็นสัญญาณของโรคเริมหรือผิวหนังอักเสบ

ไลต์โยเกิร์ต มิตรแท้

          สุขภาพของช่องคลอดไม่ต่างอะไรกับไลฟ์โยเกิร์ต (live yogurt) หนึ่งถ้วย ซึ่งเป็นโยเกิร์ตที่อุดมด้วย แบคทีเรียที่เป็นมิตรอย่างแลคโตบาซิลลัส โดยมีหน้าที่แข็งขันในการต่อสู้กับเชื้อโรค ก่อนจะไปทำอันตรายต่อช่องคลอด ระบบนิเวศตามธรรมชาติของแบคทีเรียที่ดี คือความเป็นกรดปานกลาง นั่นคือมีค่า pH ประมาณ 4 ซึ่งยังมีความเป็นกรดน้อยกว่ามะนาว (pH2) แต่มากกว่าไวน์แดง 1 แก้ว ระดับความเป็นกรดดังกล่าวนี้ มีความเหมาะสมต่อการเติบโตของแบคทีเรียที่ดี และทำให้เชื้อราในช่องคลอดและโรคติดเชื้ออื่น ๆ ไม่มากล้ำกราย

          ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงทำให้ช่องคลอดมีความเป็นกรดลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย การใช้น้ำฉีดล้างจุดซ่อนเร้น การทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นด้วยสบู่ที่มีฤทธิ์แรง หรือและเช็ดล้างด้วยสบู่เหลวอนามัย สำหรับผู้หญิงที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์น้ำยาระงับกลิ่น สารทำความสะอาดจำพวกคลอรีน หรือน้ำหอม เหล่านี้ล้วนไปรบกวนปราการธรรมชาติของคุณ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้ มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองและการติดเชื้อได้

          สาเหตุของการติดเชื้อราเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งชุดชั้นในที่มีเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการตากในที่อับชื้นหรือไม่โดนแสงแดด โดยเฉพาะผ้าไนลอนจะสามารถติดเชื้อราได้ง่าย ควรเลือกชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะเกิดเชื้อราได้ยาก และระบายความอับชื้อได้ดีกว่า หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าหรือชุดชั้นในรัด ๆ ฟิต ๆ เพราะจะทำให้เกิดความอับชื้นในจุดซ่อนเร้น โดยเฉพาะคนที่มีเหงื่อมาก และผู้หญิงเจ้าเนื้อควรต้องระวังเป็นพิเศษ รวมทั้งการใส่แผ่นอนามัย โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนระหว่างวันหรือใส่เป็นเวลานาน เพราะแผ่นอนามัยจะทำให้ยิ่งเกิดความอับชื้นเป็นทวีคูณ

          รู้ไหมว่ายาปฏิชีวนะนี่แหละตัวดี บางคนเป็นหวัดเรื้อรัง หรือเป็นสิว ต้องกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวยาจะไปทำลายเจ้าเชื้อแบคทีเรีย "แลคโตบาซิลลัส" ที่มีหน้าที่ฆ่าเชื้อราในช่องคลอด ทีนี้จึงเป็นโอกาสให้เชื้อราเจริญเติบโตอยู่ภายในช่องคลอด ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

เพิ่มความหล่อลื่น

          เซลล์ผนังช่องคลอดมีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง ต่อการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อทำให้เซลล์ชุ่มชื่น เมื่อฮอร์โมนดังกล่าวขาดหายไป ผนังเซลล์ที่หนาตัวจะบางลง ความยืดหยุ่นลดลง สารที่ก่อให้เกิดความหล่อลื่นหายไป ความแห้งเป็นอาการแรกๆ ที่ปรากฏเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทอง หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ทำให้ช่องคลอดตีบ อาการที่พบคือแสบหรือคันช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ บางครั้งเลือดออกหลังมีเซ็กซ์

          จากผลการสำรวจของ the Menopause Exchange พบว่า 40% ของผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอาการดังกล่าว แต่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ไปพบแพทย์ ข่าวดีคือเราสามารถป้องกันอาการดังกล่าวได้ โดยไปพบแพทย์เมื่อมีอาการช่องคลอดแห้ง วิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหล่อลื่นและเลือดไหลเวียนไปยังช่องคลอด

          การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นการรักษาที่ตรงจุดมากที่สุด แต่จำเป็นต้องดูแลเรื่องความเสี่ยงและอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้เป็นเวลานาน เอสโตรเจนมีมากมายหลายแบบ ทั้งใช้ใส่ในช่องคลอด ทาหรือแปะที่ผิวหนัง รวมถึงแบบรับประทาน การพิจารณาเลือกใช้ฮอร์โมนว่าควรใช้แบบใด และนานเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับอาการ ควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรซื้อฮอร์โมนมาใช้เอง

          "สารอาหารจากธรรมชาติช่วยได้ ไอโซฟลาโวนส์ (lsoflavones) ซึ่งเป็นสารเอสโตรเจนจากพืชที่สามารถพบมากในถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองทั้งหลาย หรือแบล็คโคฮอช (black cohosh) เป็นพืชที่เชื่อว่าช่วยลดอาการที่เกิดขึ้นในวัยหมดประจำเดือน รวมทั้งความแห้งของช่องคลอดด้วย"

เซ็กซ์ช่วยได้

          เซ็กซ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ช่องคลอดยืดหยุ่น รู้สึกอ่อนเยาว์ แม้อายุมากขึ้นก็ควรมีเซ็กซ์กับคู่รัก หรือสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ร่างกายที่ถูกปลุกเร้าหรือถึงจุดสุดยอด เลือดจะไหลไปเลี้ยงยังบริเวณอุ้งเชิงกรานมากขึ้น จึงทำให้ช่องคลอดแข็งแรง แม้จะต้องเผชิญกับภาวะที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง จำไว้ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร การมีเพศสัมพันธ์ไม่ควรจะทำให้รู้สึกเจ็บ หรือก่อนการร่วมเพศให้ใช้สารหล่อลื่นทาที่ปากช่องคลอด หรืออวัยวะเพศชายจะช่วยลดการเสียดสีที่อาจจะทำให้เจ็บได้

ฝึกขมิบ

          ผู้หญิงทุกคนควรออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทุกวัน การฝึกขมิบอุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ ที่เรียกว่า Kegel exercises ซึ่งจะช่วยให้เลือดไหลไปยังบริเวณดังกล่าวมากขึ้น จึงทำให้เนื้อเยื่อช่องคลอดอ่อนเยาว์ ผลพลอยได้คือ ทำให้คุณกับคู่รักมีความสุขมากขึ้นขณะมีเพศสัมพันธ์ คือ ช่องคลอดกระชับตึงมากขึ้น การฝึกขมิบยังช่วยควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะให้ดีขึ้น ช่วยป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ดออกมาเวลาหัวเราะหรือเต้นรำ

ตรวจมะเร็งปากมดลูก

          อัตราการเป็นมะเร็งปากมดลูกลดลง ต้องขอบคุณการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า แป๊ปสเมียร์ (Pap smear) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองว่ามีข้อสงสัยหรือข้อชี้นำว่า มีเชื้อมะเร็งหรือไม่ การตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นการตรวจทางเซลล์วิทยา เพื่อการหามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น เพื่อจะได้รักษาแต่เนิ่น ๆ เชื่อกันว่าไวรัสชนิด Human Papilloma Viruses (HPV) เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะก่อนมะเร็งและมะเร็งปากมดลูก เชื้อไวรัสชนิด HPV มีมากกว่า 60 ชนิด ซึ่งมากกว่า 10 ชนิดจะติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ โอกาสเกิดมะเร็งเนื่องจากสัมผัสถูกเชื้อไวรัส มักจะเกิดในช่วงอายุ 20-30 ปี และภาวะก่อนมะเร็งมักจะเกิดในช่วงอายุ 30-40 ปี และมะเร็งปากมดลูกมักจะเกิดในช่วงอายุ 50-60 ปี

          ส่วนการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะก่อนมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูก คงต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ต่อไป ซึ่งมักจะต้องการได้รับชิ้นเนื้อบางส่วนของปากมดลูก หรือปากมดลูกทั้งหมด ผู้หญิงที่อยู่วัยเจริญพันธุ์และมีเพศสัมพันธ์หรือายุ 30 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก และควรเข้ารับการตรวจซ้ำทุก 3 ปี อย่างไรก็ตาม หากผลการตรวจที่ผ่านมาเป็นบวก ควรเข้ารับการตรวจซ้ำทุกปี

ปลอดภัยไว้ก่อน

          โดยทั่วไปการป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูกก็คือ การป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ซึ่งสามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ควรเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การมีคู่นอนหลายคน

          นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้ถุงยางอนามัยสามารถลดการติดเชื้อได้ แม้จะไม่ทั้งหมด เนื่องจากยังมีโอกาสติดเชื้อได้จากผิวหนัง ที่สัมผัสในบริเวณที่อยู่นอกถุงยางอนามัย ดังนั้นสตรีที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้สามารถตรวจพบร่องรอยของโรคได้ตั้งแต่ระยะต้น ๆ ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลสำเร็จดีกว่าพบเมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลาม


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สบายดีไหมจ๊ะน้องสาว อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 17:52:58 4,684 อ่าน
TOP