ปรสิต พิษภัยไม่ธรรมดา ก่อโรคที่เกิดจากปรสิตได้หลายระบบ

           ปรสิตตัวจิ๋วแทบมองไม่เห็น แต่แฝงอันตรายไว้มากมาย พร้อมเป็นพาหะนำโรคภัยมาสู่มนุษย์อย่างเราได้ ตั้งแต่ท้องเสียยันสมองอักเสบถึงตายได้เลย
โรคที่เกิดจากปรสิต

           โรคที่เกิดจากปรสิต จริง ๆ แล้วมีอยู่หลายโรคด้วยกัน รวมไปถึงหลากอาการผิดปกติที่อาจเกิดจากการมีปรสิตอยู่ในร่างกาย ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าปรสิตคืออะไร ติดได้จากไหน และเป็นพาหะนำโรคอะไรได้บ้าง งั้นตามมาอ่านเป็นความรู้กันเลย

ปรสิต คืออะไร

           ปรสิต ภาษาอังกฤษคือ Parasite เป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่งบนโลกใบนี้ แต่อยู่ลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่น (Host) เพื่อดำรงชีวิต โดยปรสิตจะแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ปรสิตที่อาศัยในลำไส้ของมนุษย์หรือสัตว์

          เช่น คริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium), ไกอาเดีย (Giardia), เชื้อบิดชนิดมีตัว (Entamoeba), ไมโครสปอริเดีย (Microsporidia), ไอโซสปอรา (Isospora) และปรสิตจำพวกหนอนพยาธิ อย่างพยาธิตืดหมู, พยาธิไส้เดือน, พยาธิตัวกลม, พยาธิใบไม้ เป็นต้น

          โดยปรสิตกลุ่มนี้จะปนเปื้อนมากับอุจจาระของคนและสัตว์ ซึ่งอาจจะแพร่กระจายไปตามดิน แหล่งน้ำ หากคนรับประทานผักสดที่ล้างไม่สะอาด หรือดื่มน้ำที่กรองไม่สะอาด ปรสิตเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ แก่โฮสต์ได้

2. ปรสิตที่อยู่ภายนอกร่างกาย

           ปรสิตประเภทที่อยู่ภายนอกร่างกาย (Ectoparasite) เช่น เห็บ เหา หมัด ไรฝุ่น และหิด มักจะอยู่บนผิวหนัง เส้นผมของคน เส้นขนของสัตว์อย่างสุนัข แมว กระต่าย เป็นต้น และติดมาสู่คนจากการจับ อุ้ม กอด สัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อ ซึ่งก่อให้เกิดอาการคันในบริเวณที่ปรสิตไปเกาะอยู่ หรือหากเป็นเห็บจะพบเป็นรอยบวมแดง มีผื่นเป็นวงกลมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปรสิตกลุ่มนี้ก็มีเชื้อโรคอยู่ในตัวเอง ซึ่งอาจก่ออาการอักเสบและเป็นชนวนของโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้เช่นกัน

3. โปรโตซัวจำพวกอะมีบา

          เช่น นีเกลอเรีย (Naegleria) และอะแคนทามีบา (Acanthamoeba) ซึ่งเป็นอะมีบาดำรงชีพอิสระ คือมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองตามแหล่งธรรมชาติ เช่น แอ่งน้ำ ลำคลอง แต่หากเข้าสู่ร่างกายคนแล้วก็จะอาศัยคนเป็นโฮสต์และก่อโรคให้กับเราได้

           ทั้งนี้ โรคที่เกิดจากปรสิตจะขึ้นอยู่กับชนิดของปรสิต แหล่งที่เชื้ออาศัยอยู่ และช่องทางที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งก็จะมีความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไป

ปรสิต ติดต่อผ่านทางไหนได้บ้าง

ปรสิตก่อโรคผ่านทางไหน

          โรคที่เกิดจากปรสิตสามารถติดต่อได้หลายทาง โดยที่พบได้บ่อย คือ

  • การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะอาหารสด ผักสด ผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด การดื่มน้ำจากแหล่งธรรมชาติที่ไม่ผ่านการกรอง รวมไปถึงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ 

  • ติดเชื้อทางผิวหนัง จากการสัมผัสดินหรือน้ำที่ปนเปื้อน เช่น การเดินเท้าเปล่าบนดิน หรือพื้นที่มีปรสิต การลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด การสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาดสาดขณะเล่นสงกรานต์ เป็นต้น

  • การถูกกัดโดยยุง เห็บ หมัด เหา ที่แฝงอยู่ในสัตว์ เช่น สุนัข แมว กระต่าย หมู วัว เป็นต้น

  • การสัมผัสสัตว์หรือคนที่มีปรสิตเกาะอยู่ เช่น เห็บ เหา หมัด เรือด ซึ่งสามารถกระโดดเข้ามาอาศัยในร่างกายมนุษย์ได้

  • การพลัดตกลงไปในแอ่งน้ำ โคลน บ่อ ที่มีน้ำไม่สะอาด และสำลักน้ำทางจมูก

อาการของโรคที่เกิดจากปรสิต
เป็นยังไง

          อาการที่พบบ่อยของโรคที่เกิดจากปรสิต เช่น หิวบ่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียบ่อย กินเยอะแต่น้ำหนักไม่ขึ้น หรือมีอาการทางผิวหนัง เป็นตุ่มนูน บวมแดง มีผื่นคันบริเวณที่โดนปรสิตกัด เช่น เห็บ ไรฝุ่น เหา 

          อย่างไรก็ตาม อาการของโรคปรสิตขึ้นอยู่กับชนิดของปรสิต แหล่งที่มา และวิธีการติดเชื้อ อย่างเชื้ออะมีบาก็ทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อหุ้มสมองได้ รวมไปถึงเชื้อโปรโตซัวบางชนิดที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย เป็นต้น

โรคที่เกิดจากปรสิต มีอะไรบ้าง

           โรคที่เกิดจากปรสิตมีอยู่หลายโรค แต่ที่พบได้บ่อย เช่น

1. โรคบิดอะมีบาในลำไส้ หรือโรคบิดมีตัว

โรคบิดมีตัว

           เกิดจากเชื้ออะมีบาชนิดเชื้อบิดมีตัว (Entamoeba) ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง ทำให้เกิดแผลในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังอาจแทรกซึมเข้าไปในกระแสเลือด ก่อเป็นโรคฝีบิดในตับ ในปอด หรือสมองได้ด้วย

2. ภาวะติดเชื้อไกอาเดีย (Giardia lamblia)

          เชื้อจะเข้าไปอยู่ในลำไส้เล็ก ก่อให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือมีไขมันปน หากท้องร่วงเรื้อรังจะเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารได้

3. โรคพยาธิใบไม้ตับ

พยาธิใบไม้ตับ

          เป็นพยาธิที่พบมากในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักจะได้รับปรสิตเข้าร่างกายผ่านการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะเนื้อปลาน้ำจืด ตระกูลปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย เป็นต้น เมื่อปรสิตเข้าสู่ร่างกาย จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในท่อน้ำดีในตับ

          ส่วนอาการของโรคนี้จะขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่มีอยู่ในร่างกาย ถ้ามีพยาธิไม่มาก อาการก็จะไม่แสดงเด่นชัด แต่หากมีจำนวนพยาธิใบไม้ตับมาก จะมีอาการตัวเหลือง อาหารไม่ย่อย ตับโต เป็นต้น

4. โรคพยาธิไส้เดือน

พยาธิไส้เดือน

           อีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เพราะปรสิตชนิดนี้มักแฝงอยู่ในดิน แหล่งน้ำ ในพื้นที่ชื้นแฉะ และจะเข้าสู่ร่างกายคนผ่านการบริโภคอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัด แต่อาจพบอาการไข้ ท้องเสีย หรือมีอาการแทรกซ้อนหากตัวอ่อนของพยาธิไชไปตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด ลำไส้ หรือตับ เป็นต้น

5. พยาธิใบไม้ปอด

           โรคพยาธิใบไม้ปอด หรือ พารากอนิโมซิส เกิดจากการติดเชื้อพยาธิจากการกินปูน้ำจืดแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ปูนา ปูน้ำตก ปูภูเขาที่มีตัวพยาธิระยะติดต่อ ตัวพยาธิจะเข้ามาโตเต็มวัยและอาศัยในปอดของมนุษย์ อาการของโรคพยาธิใบไม้ปอดจึงคล้ายคลึงกับวัณโรค โดยจะไอแห้ง ๆ เจ็บหน้าอก มีเสมหะปนเลือด และหลอดลมอักเสบ เป็นต้น

6. โรคพยาธิตัวจี๊ด

โรคพยาธิตัวจี๊ด

           คนมักจะได้รับปรสิตชนิดนี้จากการรับประทานปลาน้ำจืด กุ้งไร โดยเฉพาะปลาไหลที่รับประทานแบบสุก ๆ ดิบ ๆ โดยตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ดจะชอนไชไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ซึ่งจะเห็นเป็นรอยนูน ๆ เคลื่อนที่ไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมักจะเดินทางไปยังบริเวณประสาทส่วนกลางและดวงตา ส่งผลต่อสมองหรืออาจทำให้ตาบอดได้

7. พยาธิตัวตืด

          พยาธิตัวตืดที่พบได้บ่อยในประเทศไทย คือ พยาธิตัวตืดวัวและพยาธิตัวตืดหมู ซึ่งได้มาจากการกินเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนของพยาธิ (ลักษณะคล้ายเม็ดสาคู) แบบปรุงไม่สุก โดยเฉพาะเมนูลาบหมู ลาบวัว ก้อย แหนม ส้าเนื้อ และเมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกาย ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็กของมนุษย์ ก่อให้เกิดอาการหิวบ่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

8. ไข้มาลาเรีย

ไข้มาลาเรีย

          ไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า-ไข้จับสั่น เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากปรสิตพลาสโมเดียม (Plasmodium) โดยมียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะนำโรค อาการของโรคนี้จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หากมีอาการรุนแรงก็อาจจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
 

ไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า โรคติดต่ออันตราย ป่วยได้เพราะยุง !

9. โรคเท้าช้าง

โรคเท้าช้าง

          อีกหนึ่งโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะนำโรค โดยนำเอาปรสิตชนิดหนอนพยาธิตัวกลมฟิลาเรียมาก่อโรคในระบบน้ำเหลืองของคน ทำให้น้ำเหลืองอุดตัน เกิดอาการบวมบริเวณขา แขน หรืออวัยวะเพศบวมโต
 

โรคเท้าช้าง ระวังไว้ให้ดี โรคติดต่อนี้มียุงเป็นพาหะ !

10. โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

           สาเหตุของโรคนี้ คือ พยาธิตัวกลมทริคิเนลล่า สไปราลิส (Trichinella spiralis) ซึ่งพบได้บ่อยในสัตว์กินเนื้อที่เป็นสัตว์ป่า เช่น หมูป่า และสัตว์ที่ใช้ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก โดยคนจะติดเชื้อจากการกินเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนพยาธิแบบดิบ ๆ หรือปรุงไม่สุกเต็มที่ ซึ่งพยาธิตัวอ่อนจะเข้าไปอยู่ในลำไส้ ก่อให้เกิดอาการท้องร่วง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน จากนั้นตัวอ่อนจะค่อย ๆ ไชเข้าไปฝังตัวอยู่ตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ ก่อให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ กลืนลำบาก พูดลำบาก หายใจลำบาก และอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ในบางคน

11. เหา

เหา

          เหาเป็นแมลงในกลุ่มปรสิตที่อาศัยอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะบนหนังศีรษะ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้หากอยู่ใกล้ชิดกัน คนที่ติดเหาจะมีอาการคันในบริเวณที่เหาอาศัยอยู่ ซึ่งถ้าไม่รีบรักษาอาจเกิดอาการอักเสบตามมาได้
 

วิธีกำจัดเหาให้สิ้นซาก จบปัญหากวนใจบนผิวหนัง

12. โลน

           โลนก็คือเหาอีกชนิดหนึ่ง แต่ขึ้นตามอวัยวะเพศ โดยเกาะอยู่กับเส้นขนและดูดกินเลือดบริเวณหัวหน่าวหรือขาหนีบ ทำให้มีอาการคันอวัยวะเพศและมีตุ่มขึ้น สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และจากการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน การรักษาทำได้โดยโกนขนบริเวณที่โลนอาศัยอยู่ออกให้หมด
 

ตัวโลนคืออะไร คันตา คันที่ลับจนทนไม่ไหว ต้องตรวจดูแล้วล่ะ !

13. กระจกตาติดเชื้อไมโครสปอริเดีย

กระจกตาติดเชื้อไมโครสปอริเดีย

           เกิดจากการที่ดวงตาไปสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไมโครสปอริเดีย (Microsporidial Keratitis) เช่น ใช้น้ำจากแท็งก์หรือน้ำประปาที่มีเชื้อโรคล้างหน้า หรือสัมผัสน้ำฝน น้ำโคลนที่มีเชื้อ ส่งผลให้เกิดอาการติดเชื้อที่กระจกตาหรือเยื่อบุของตา ทำให้รู้สึกปวดตา ตาแดง แพ้แสง น้ำตาไหล หากเป็นคนที่ใส่คอนแทคเลนส์หรือมีแผลที่ตามาก่อนก็อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น

14. โรคพยาธิอะนิซาคิเอซิส (Anisakiasis)

           คนที่ชอบกินปลาดิบชนิดต่าง ๆ มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ เพราะพยาธิอะนิซาคิเอซิสพบได้ในตัวปลาทะเล เช่น ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง ปลาดาบเงิน ปลาทูแขก เป็นต้น หากกินปลาดิบที่มีตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปจะมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย รวมถึงมีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย บางครั้งอาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้น ต้องส่องกล้องตรวจดูถึงจะพบตัวอ่อนของพยาธิในกระเพาะอาหาร

15. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา

          หรือที่เรียกว่า อะมีบากินสมอง เกิดจากเชื้ออะมีบาสายพันธุ์นีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) ที่อยู่ในน้ำเข้าสู่ร่างกายทางจมูก จากการสำลักน้ำ ดำน้ำ ก่อให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากการติดเชื้อ อะมีบาสายพันธุ์อะแคนทามีบา (Acanthamoeba) ที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลต่าง ๆ ตามผิวหนัง รวมทั้งกระจกตา เยื่อบุตา เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วก็จะไปที่สมอง ส่งผลให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันได้
 

อะมีบากินสมอง อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ รู้ตัวสายไปอาจตายเฉียบพลัน !

โรคที่เกิดจากปรสิต รักษาอย่างไร

           วิธีรักษาโรคที่เกิดจากปรสิตโดยส่วนใหญ่จะรักษาตามชนิดของปรสิตที่ได้รับมา และรักษาตามอาการของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจจะได้รับยากำจัดพยาธิ หรือวิธีอื่น ๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร

วิธีป้องกันโรคที่เกิดจากปรสิต

วิธีป้องกันโรคที่เกิดจากปรสิต

          เราสามารถป้องกันตัวเองจากโรคที่มีปรสิตเป็นพาหะได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • รับประทานอาหารปรุงสุกด้วยความร้อนทั้งเนื้อสัตว์และผักต่าง ๆ 

  • ดื่มน้ำที่สะอาด หากไม่แน่ใจกับการกรองน้ำ ควรดื่มน้ำต้มสุก 

  • หมั่นล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร 

  • ขับถ่ายในห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ

  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นหญ้าหรือพื้นดินต่าง ๆ 

  • หากมีแผลบนร่างกาย ควรงดสัมผัสแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแอ่งดินโคลนต่าง ๆ

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสคนหรือสัตว์ที่เป็นโรค รวมทั้งสัตว์ป่า

  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม แก้วน้ำ และหมั่นทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวอยู่เสมอ

  • รักษาสุขอนามัยของตัวเองและรอบ ๆ ที่อยู่อาศัย

           ปรสิตแม้จะตัวเล็ก แต่ก็ก่อโรคให้เราได้มากมาย ดังนั้น หากเป็นคนที่ชอบกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นประจำ หรือชอบเดินเท้าเปล่า และมีอาการต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อปรสิต แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายสักครั้ง เผื่อว่าติดเชื้อปรสิตขึ้นมาจริง ๆ จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

บทความที่เกี่ยวข้องกับปรสิต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปรสิต พิษภัยไม่ธรรมดา ก่อโรคที่เกิดจากปรสิตได้หลายระบบ อัปเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2567 เวลา 18:15:24 8,577 อ่าน
TOP
x close