เล็บมีสีขาวหรือเป็นจุดสีขาว ๆ บนเล็บ ที่หลายคนเรียกว่าดอกเล็บ เป็นอาการที่พบได้บ่อย และอาจทำให้เกิดความกังวลว่าสุขภาพร่างกายจะมีปัญหาหรือไม่ วันนี้ลองมาไขข้อสงสัยกัน เล็บเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของเราได้ และบางความผิดปกติของเล็บก็เป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่างได้เช่นกัน ดังนั้น หากสังเกตเห็นเล็บมีจุดสีขาวหรือเล็บมีขีดสีขาวด้านใน หรือที่ทางการแพทย์จะเรียกว่า ภาวะ Leukonychia อาจทำให้เกิดความกังวลใจว่าอาการนี้เกิดจากอะไร ขาดวิตามินหรือไม่ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจกับสาเหตุของดอกเล็บ รวมถึงวิธีดูแลรักษาเล็บให้แข็งแรง หลายคนเชื่อว่าเล็บมีจุดสีขาวเกิดจากการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด ซึ่งในบางกรณีอาจเกี่ยวข้องกับภาวะขาดสารอาหารต่อไปนี้ สังกะสี : การขาดสังกะสีอาจทำให้เกิดจุดสีขาวบนเล็บได้ เนื่องจากสังกะสีมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์เล็บ แต่หากร่างกายขาดสังกะสีจริงมักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผมร่วง ผิวหนังอักเสบ แคลเซียม : แคลเซียมเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับเล็บเช่นกัน หากร่างกายมีแคลเซียมไม่เพียงพออาจพบดอกเล็บได้เช่นกัน ธาตุเหล็ก : การขาดธาตุเหล็กอาจส่งผลให้เล็บเปราะบางและมีความผิดปกติอย่างเล็บมีจุดสีขาว หนังเล็บลอก หรือเล็บเป็นรูปช้อน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เล็บมีจุดสีขาวอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นกัน นอกจากภาวะขาดวิตามินแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดจุดสีขาวหรือขีดสีขาวบนเล็บ เช่น การกระแทกหรือกดทับเล็บโดยไม่รู้ตัว เช่น การพิมพ์คีย์บอร์ดแรง ๆ กัดเล็บ หรือการบาดเจ็บเล็กน้อยที่ฐานเล็บอย่างการโดนประตูหนีบนิ้ว การตัดเล็บผิดวิธี การทำเล็บบ่อย ๆ ที่ต้องใช้แรงกดหรือขัดเล็บมากเกินไป อาจทำให้เล็บตรงจุดที่บาดเจ็บมีความไม่สมบูรณ์ เกิดเซลล์เนื้อเยื่อที่ตายแล้วและเห็นเป็นดอกเล็บได้ การใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น น้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ กาวติดเล็บเจล หรือสารเคมีจากการทำเล็บบ่อย ๆ อาจทำให้เล็บอ่อนแอ เปราะบางจนเกิดจุดขาวได้ หรือมีอาการแพ้เกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดจากสาเหตุนี้ แนะนำให้พักเล็บ งดทำเล็บในทุกกรณี พร้อมบำรุงเล็บโดยรักษาสุขอนามัยของเล็บ และหมั่นใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้นอยู่เสมอ การติดเชื้อราใต้เล็บอาจทำให้เล็บเปลี่ยนสีไป โดยอาจเห็นเล็บเป็นสีขาวหรือสีเหลืองก็ได้ ร่วมกับเล็บมีลักษณะหนาขึ้น เปราะบาง แตกหรือหักได้ง่าย เป็นต้น ยาบางชนิด เช่น ยาฆ่าเชื้อที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ อาทิ กลุ่มยาซัลฟา (Sulfonamide) อาจทำให้เกิดจุดสีขาวบนเล็บได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคโปรตีนในร่างกายต่ำ โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก สะเก็ดเงิน หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอาจมีเล็บเป็นสีขาวในแนวนอน หรือเห็นสีขาวเป็นแถบขวางที่เล็บ ร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น เช่น กลุ่มอาการบาร์ต-พัมฟรี (Bart-Pumphrey syndrome) และโรคแดริเยร์ (Darier disease) อาจทำให้เกิดจุดสีขาวปรากฏขึ้นบนเล็บได้ โดยทั่วไปแล้ว จุดสีขาวบนเล็บที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือการแพ้จะค่อย ๆ เลื่อนออกไปจากการที่เล็บงอกใหม่ และหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา แต่อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แล้วแต่ร่างกายของแต่ละคนว่าเล็บยาวเร็วหรือยาวช้า แต่หากเล็บมีสีขาวจากปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อรา หรือโรคทางผิวหนัง รวมไปถึงโรคที่เป็นอยู่เดิม กลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคที่มีให้หาย พร้อมทั้งดูแลสุขภาพโดยรวมให้กลับมาแข็งแรงไว ๆ การรักษาหรือป้องกันการเกิดจุดสีขาวบนเล็บสามารถทำได้หลายวิธีตามสาเหตุที่ทำให้เล็บมีจุดสีขาว เช่น หากเกิดจากการบาดเจ็บหรือการแพ้ ต้องหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกกับเล็บ และค่อย ๆ ตัดเล็บที่ยาวออกไปจนกว่าพื้นที่สีขาวจะถูกตัดจนหมดไปด้วย หากเกิดจากการติดเชื้อรา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา หากเกิดจากโรคเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม กินยาและปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้ไว ซึ่งจะช่วยคืนสุขภาพที่ดีให้เล็บและร่างกายโดยรวมได้ ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติกับเล็บไม่ว่าจะกรณีใด ๆ อาจจะต้องพบแพทย์เพื่อเช็กอาการโดยเร็ว แม้ว่าจุดสีขาวบนเล็บส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย แต่ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง ควรไปพบแพทย์หากพบอาการต่อไปนี้ จุดสีขาวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หรือมีหลายเล็บพร้อมกัน เล็บเปราะบาง แยกเป็นชั้น เล็บหลุดลอกง่าย หรือจุดสีขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล มีอาการเจ็บ ปวด หรือบวมรอบ ๆ เล็บ เล็บเปลี่ยนรูปร่างผิดปกติ มีรอยบุ๋ม หรือมีการงอกที่ผิดปกติ มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย ตัวซีด มีไข้ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับไตหรือตับ ถ้าเราดูแลเล็บให้มีสุขภาพดีก็จะช่วยลดความเสี่ยงภาวะดอกเล็บหรือเล็บมีสีขาวได้ โดยวิธีดูแลเล็บก็ทำได้ง่าย ๆ ตามนี้ รักษาความสะอาดด้วยการล้างมือและเล็บเป็นประจำด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำสะอาด ที่สำคัญควรต้องเช็ดมือให้แห้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เล็บ รักษาความชุ่มชื้นให้มือและเล็บ โดยทาครีมบำรุงมือและเล็บเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังล้างมือ ตัดเล็บอย่างระวัง ควรตัดเล็บเป็นแนวตรง ตะไบเล็บให้มน เพื่อป้องกันเล็บฉีกขาด ลดความเสี่ยงเป็นเล็บขบ หลีกเลี่ยงการตัดเล็บสั้นจนเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับเล็บ หรือหากมีผิวบอบบางแพ้ง่าย ควรใส่ถุงมือเมื่อต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือน้ำยาทำความสะอาดอื่น ๆ ไม่กัดเล็บ ดึงจมูกเล็บ หรือดึงหนังรอบ ๆ เล็บ เพราะอาจสร้างบาดแผลและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ สำหรับเล็บเท้า ควรเลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย ไม่คับ หัวรองเท้าไม่บีบเล็บ และให้ระมัดระวังเวลาวางของหนัก ๆ ไว้ใกล้เท้า รับประทานอาหารให้ครบหลักโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของเล็บ ทั้งธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม โปรตีน ไบโอติน เป็นต้น ดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงจากภายใน หากเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรก็พยายามรักษาโรคนั้นให้หาย หรืออย่างน้อย ๆ ก็พอให้โรคสงบ ไม่ลุกลาม หากใครเจอว่าเล็บมีจุดสีขาว ลองสังเกตอาการของตัวเองให้ดีว่ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งหากไม่เจอก็ดีไป แต่หากเจอสัญญาณที่ไม่ชอบมาพากลก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมด้วยนะคะ เล็บเป็นเส้น ขาดวิตามินอะไร เส้นบนเล็บแบบไหนเสี่ยงมะเร็ง ! วิธีแก้จมูกเล็บฉีก หนังโคนเล็บลอก รีบรักษาให้หาย จะได้ไม่ต้องถอดเล็บ ! วิธีรักษาเล็บขบ...ปัญหาปวดจี๊ดเกินบรรยายของปลายนิ้ว ชอบกัดเล็บตัวเองตอนเผลอ แค่สมองเออเรอร์หรือกำลังป่วยจิต ?! วิธีตัดเล็บเท้า เช็กให้ชัวร์ ที่ทำอยู่ถูกหรือเปล่าเนี่ย ! ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก ใกล้หมอจิ๋ม, healthline.com, my.clevelandclinic.org
แสดงความคิดเห็น