คนรักสุขภาพได้เวลาอัพเดท กับซูเปอร์ฟู้ดกินแล้วดีกับสุขภาพ ของแบบนี้ไม่ลองไม่รู้
เทรนด์การเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ อย่างซูเปอร์ฟู้ด ไม่ว่าเมื่อไรก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ และอาหารเพื่อสุขภาพที่เรามักจะเห็นว่าได้รับความนิยมมาก ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นบรรดาธัญพืชต่าง ๆ หรือแม้แต่ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เนื่องด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพที่มีมากมาย และวันนี้เราก็มีตัวอย่างซูเปอร์ฟู้ดใหม่ ๆ ที่เราอาจจะนึกไม่ถึงมาฝากกัน โดยคุณธิษณา จรรยาชัยเลิศ จากหนังสือชีวจิต ใครที่กำลังอยากลองลิ้มลองอาหารเพื่อสุขภาพใหม่ ๆ ละก็ห้ามพลาด เพราะอาหารเหล่านี้ดีจริงแบบไม่ต้องโปรโมทให้เสียเวลาเลยเชียว
เคเฟอร์ (Kefir)
What is it?
นมเปรี้ยวชนิดหนึ่งผลิตจากการหมักน้ำนมวัว แพะ หรือแกะ ด้วยแบคทีเรียและยีสต์ กระบวนการหมักช่วยเปลี่ยนน้ำตาลแลคโตส (Lactose) ในนมให้กลายเป็นกรดแลคติก (Lactic acid) ทำให้มีรสเปรี้ยว
Eat right, live healthy
เคเฟอร์มีรสชาติเปรี้ยวคล้ายโยเกิร์ต แต่มีความข้นหนืดน้อยกว่า และมีโพรไบโอติกส์ (Probictics) หรือแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแตกต่างกัน แนะนำให้กินสลับกับโยเกิร์ต โดยกินร่วมกับผลไม้สดเพื่อให้ร่างกายได้รับโพรไบโอติกส์หลากหลาย ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค ทั้งกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแอนติบอดี (Antibody) ต่อต้านสิ่งแปลกปลอม และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน
ขณะเดียวกัน ผลไม้ที่มีกากใยสูงเมื่อกินควบคู่กับเคเฟอร์ จะมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ (Prebiotic) ทำหน้าที่เป็นอาหารให้กับโพรไบโอติกส์ กระตุ้นให้จุลินทรีย์ชนิดดีภายในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี และเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม และสังกะสี อีกด้วย
เคเฟอร์เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปริมาณเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ในระบบทางเดินอาหารต่ำ ส่งผลให้ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ หลังดื่มนมจึงเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเดิน ปวดท้อง แนะนำให้ดื่มเคเฟอร์นม ช่วยให้ร่างกายได้รับแคลเซียมเพียงพอ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการปั่นป่วนในระบบทางเดินอาหาร
มันแกว (Jicama)
What is it?
เป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีหัวใต้ดินเป็นรากสะสมอาหาร แต่เดิมมีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง ปัจจุบันแพร่หลายในประเทศเขตร้อน เช่น จีน อินโดจีน อินโดนีเซีย มันแกวเป็นพืชที่มีหัวใต้ดินซึ่งกินได้ แต่ส่วนอื่น เช่น ใบและเมล็ดเป็นพิษ มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้ ช็อก หมดสติ และหยุดหายใจ
Eat right, live healthy
กินมันแกวสดเป็นผลไม้ กินพร้อมผักสดร่วมกับน้ำสลัด นำไปผัดกับกุ้งด้วยไฟอ่อน หรือหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าต้มเป็นแกงจืดพร้อมผักสดหลากชนิดก็อร่อย มันแกวสดมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เนื้อสัมผัสจึงฉ่ำกรอบ ให้ความสดชื่น ช่วยดับกระหาย ทั้งอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอามีน ไนอะซิน และวิตามินซี
มันแกวเพียง 1 ถ้วยตวง ให้ใยอาหารมากถึงร้อยละ 25 ของความต้องการใน 1 วันนอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของ อินูลิน (Inulin) ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยได้ในระบบทางเดินอาหาร และไม่ให้พลังงาน มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ช่วยกระตุ้นให้จุลินทรีย์ชนิดดีภายในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี ช่วยในการขับถ่าย จึงนับเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
มัทฉะ (Matcha)
What is it ?
มัทฉะ คือ ชาเขียวชนิดหนึ่งมีต้นกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่น ผลิตโดยนำยอดอ่อนมาอบไอน้ำโดยไม่ผ่านกระบวนการหมักและนวด เมื่อแห้งจึงนำมาบดกลายเป็นผงสีเขียว เป็นชาที่กินได้ทั้งใบ จึงอุดมไปด้วยสารอาหารที่ไม่ละลายน้ำ เช่น ใยอาหาร และ เบต้าแคโรทีน
Eat right, live healthy
เมื่อละลายน้ำ มัทชะจะกลายเป็นน้ำสีเขียวอ่อนสดใส นิยมชงโดยใช้ไม้ตีฟองผสมชาและน้ำร้อนให้เข้ากัน ขณะตีเสร็จใหม่ ๆ บนผิวหน้าน้ำชาจะมีฟองละเอียดสีเขียวปกคลุม ยิ่งตีนานน้ำชาจะกลายเป็นสีเขียวมรกตเข้มขึ้น
สำหรับวิธีชงชาที่ถูกต้อง สมาคมผู้ฝึกสอนชาญี่ปุ่น แนะนำว่า ควรกรองชาก่อนเพื่อไม่ให้ผงชาจับตัวเป็นก้อน จากนั้นใส่มัทฉะ 2 กรัมลงในถ้วยชา รินน้ำอุณหภูมิปกติลงไปประมาณ 10 ซี.ซี. ใช้ไม้ตีน้ำมัทฉะให้เข้ากัน แล้วจึงรินน้ำเดือดลงในถ้วยชา 50 ซี.ซี. จากนั้นตีผงชาและน้ำร้อนให้เข้ากันจนเกิดฟองละเอียดเต็มบริเวณผิวด้านบน จึงยกไม้ตีชาออก ใช้จิบขณะอุ่น
มัทฉะ อุดมไปด้วยสารคาเตชิน (Catechin) และวิตามินต่าง ๆ โดยสารคาเตชิน มีสารแอนติออกซิแดนท์ ต้านมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญ ต้านเชื้อไวรัสไข้หวัด ต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก จึงช่วยกำจัดกลิ่นปาก ข้อมูลจากวารสาร American Physiological Society เปิดเผยว่า มัทฉะ 1 กรัม มีสารคาเตชินสูงถึง 105 มิลลิกรัม มีค่าโอแรค (ORAC) หรือค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพสารแอนติออกซิแดนท์ถึง 1300 umoleTE/กรัม เมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ที่มีแอนติออกซิแดนท์ประสิทธิภาพสูงชนิดอื่น เช่น ทับทิมซึ่งมีค่าโอแรค 105 และบลูเบอร์รีป่า 93 นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยวิตามิน เอ ซี และอี จึงช่วยชะลอวัย ทำให้ดวงตา และผิวพรรณสดใส
กระเทียมสีดำ (Black Garlic)
What is it?
กระเทียมสีดำได้รับการกล่าวขวัญถึงประโยชน์ต่อสุขภาพว่าเหนือกว่ากระเทียมทั่วไป แท้จริงคือ กระเทียมสีขาวที่ผ่านการหมักบ่ม (Fermentation) ด้วยอุณหภูมิ 65-80 เปอร์เซ็นต์ นาน 1 เดือน จนกระเทียมสีขาวเปลี่ยนเป็นสีดำ วารสาร Medicinal and Aromatic Plant Science And Biotechnology เพิ่มเติมว่า สาร SAC (S-Allyl-L cysteine) ที่พบในกระเทียมสีดำมีคุณสมบัติด้านมะเร็ง
Eat right, live healthy
กระเทียมสีดำใช้ปรุงอาหารเหมือนกระเทียมทั่วไป และเพื่อให้กระเทียมหลั่งสารสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น สารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ควรบุ บด หรือสับกระเทียม และตั้งทิ้งไว้สักครู่ก่อนนำมาปรุงอาหาร
นายแพทย์แอนดรูว์ ไวล์ (Andrew Weil) พ่อมดแห่งวงการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กระเทียมสีดำมีรสชาติหวานกว่ากระเทียมสีขาว และพบรายงานผลวิจัยที่ระบุว่า กระเทียมสีดำมีสารแอนติออกซิแดนต์และสาระสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่ากระเทียมสีขาวหลายเท่า
นายแพทย์แอนดรูว์เห็นว่า กระเทียมสีดำมีเสน่ห์ดึงดูดนักชิมและผู้ที่ชื่นชอบอาหารแปลกใหม่ หากไม่สามารถหาซื้อได้ กินกระเทียมสีขาวก็นับว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากพอ เพราะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ป้องกันโรคในระบบทางเดินหายใจ ลดปริมาณคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดได้
กิมจิ (Kimchi)
What is it?
เป็นอาหารเกาหลี ทำจากผักหลากหลายชนิดนำมาดองหรือแช่ในน้ำเกลือเพื่อถนอมอาหารเตรียมไว้กินแทนผักสดในช่วงฤดูหนาวที่ไม่สามารถปลูกผักบางชนิดได้ นับเป็นภูมิปัญญาคนโบราณที่ทำให้มีผักกินตลอดทั้งปี โดย ผักกาดขาว หัวผักกาด หัวหอม ต้นหอม แตงกวา กระเทียม ขิง พริกแดง คือผักที่นิยมปรุงเป็นกิมจิ โดยหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ จากนั้นคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรสที่มีกระเทียมสับ ขิง และพริกแดงป่นเป็นส่วนประกอบ
Eat right, Live Healthy
นิยมกินกิมจิเป็นเครื่องเคียงในอาหารมื้อหลัก หรือปรุงเป็นอาหารหลากหลาย เช่น ข้าวผัด สตูบะหมี่ กิมจิมีรสชาติเปรี้ยวนำเพราะผ่านกระบวนการหมัก ทำให้อุดมด้วยจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส เช่นเดียวกับที่พบในนมเปรี้ยว โดยหลายการศึกษาพบว่าแบคทีเรียชนิดดีช่วยทำความสะอาดลำไส้ ป้องกันโรคในระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียก่อโรค และลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
กิมจิ 1 ถ้วยตวงอุดมด้วยใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุจากผัก ที่สำคัญ ให้พลังงานเพียง 29 กิโลแคลอรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเสริมว่า นอกจากให้พลังงานต่ำ ส่วนประกอบต่าง ๆ ในกิมจิล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น พริกแดงมีสารแคปไซซิน (Capsiaicin) ช่วยเผาผลาญไขมัน พริกแดงป่นมีวิตามินซีช่วยให้ถุงน้ำดีขับคอเลสเตอรอล ส่วนกระเทียมและหัวหอมช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตรอล และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ และหลอดเลือด
คามู คามู (Camu Camu)
What is it?
ผลไม้ทรงกลม ขนาดเท่าผลพุทรา เมื่อสุกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอมม่วง โดดเด่นที่รสเปรี้ยวช่วยให้เจริญอาหาร
Eat right, live healthy
นิยมคั้นผลคามู คามูสด ดื่มเป็นน้ำผลไม้ ผสมกับน้ำผลไม้อื่นหรือผสมกับน้ำเปล่า นอกจากนี้สามารถซื้อผงคามู คามูจากร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ชง ผสมน้ำดื่ม อัตราส่วนน้ำ 1 แก้วต่อผงคามู คามู 1 ช้อนชา หรือใช้เติมลงในน้ำผักผลไม้ปั่นหรือน้ำสลัด
Journal of Food Research International ระบุว่า ผลคามู คามู 100 กรัมมีปริมาณวิตามินซี 1,882-2,280 มิลลิกรัม มีสรรพคุณช่วยรักษาสุขภาพดวงตาและผิวหนัง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันโรคหวัด หอบหืด บรรเทาอาการของโรคเหงือก อ่อนเพลียเรื้อรังไปจนถึงโรคซึมเศร้า
แม้มีสุดยอดอาหารอยู่ในมือแต่ก็ต้องไม่ลืมกินอาหารให้เพียงพอ และหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน สุขภาพจึงจะแข็งแรงอย่างแท้จริง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก