ปวดประจำเดือนแบบไหนต้องไปหาหมอ แล้วส่อเค้าโรคอะไรได้บ้าง

          อาการปวดประจำเดือน​ จะมากหรือน้อยก็ควรต้องใส่ใจ แล้วสาว ๆ ทราบไหมคะว่า อาการปวดประจำเดือนแบบไหนต้องไปหาหมอ โดยเฉพาะคนที่ปวดประจำเดือนหนัก ๆ ทุกเดือน

อาการปวดประจำเดือน

          เกิดเป็นผู้หญิงทั้งทีนี่ชีวิตยากนะคะ โดยเฉพาะช่วงที่มีรอบเดือน ผู้หญิงทุกคนจะต้องทรมานกับอาการปวดประจำเดือนกันเป็นประจำ โดยบางรายอาจปวดประจำเดือนเบา ๆ วันสองวันก็หาย แต่บางรายอาจมีอาการปวดประจำเดือนค่อนข้างรุนแรง ชนิดที่ต้องหยุดเรียนหรือลางานกันเลยล่ะ เอ๊ะ ! แล้วอาการปวดประจำเดือนแบบไหนต้องไปหาหมอ แล้วอย่างเราเรียกว่าปวดประจำเดือนแบบเบา ๆ หรือผิดปกติกันล่ะ สงสัยต้องหาคำตอบกันแล้ว

 อาการปวดประจำเดือน


          อาการปวดประจำเดือนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดได้แก่


1. ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea)


          เป็นอาการปวดประจำเดือนแบบปกติ โดยจะปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และหงุดหงิดร่วมด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ออกมามากผิดปกติ กระตุ้นให้มดลูกมีการบิดเกร็งตัว และจะรู้สึกปวดในระยะก่อนมีประจำเดือน 2-3 ชั่วโมง ตลอดจนช่วง 2-3 วันแรกของการมีประจำเดือน อาการปวดหน่วง ๆ ก็จะยังคงรู้สึกอยู่
   
          อาการปวดประจำเดือนชนิดนี้จะมีอาการมากสุดในช่วงอายุ 15-25 ปี หลังจากวัยนี้อาการปวดประจำเดือนจะค่อย ๆ ลดลง บางรายอาจหายป่วยหลังมีบุตรแล้ว และส่วนมากอาการปวดประจำเดือนชนิดนี้ก็จะไม่พบความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่แต่อย่างใด

2. ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea)


          ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิจะมีอาการปวดท้องค่อนข้างหนัก บางรายอาจมีอาการท้องเสีย เหงื่อออก ตัวเย็น มือ เท้าเย็น หรือหน้ามืดเป็นลมได้ อาการปวดประจำเดือนชนิดนี้มักเกิดกับสาววัย 25 ปีขึ้นไป โดยจะรู้สึกปวดประจำเดือนแบบนี้ครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยปวดประจำเดือนขนาดนี้มาก่อน ซึ่งคนที่รู้สึกปวดประจำเดือนหนัก ๆ ในวัยนี้ มักตรวจพบความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ด้วย เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก หรือปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
   

          ทั้งนี้เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเสริมความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนทั้ง 2 ชนิด เช่น พบว่าผู้มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย หรือมีความเครียดจะมีอาการปวดรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีอารมณ์ดี
    

ปวดประจำเดือนแบบไหน เรียกว่าปกติ


          * ปวดประจำเดือนไม่มาก แค่พอรำคาญ แต่ไม่ปวดประจำเดือนจนรู้สึกทรมานและทนไม่ไหว
   
          * อาการปวดประจำเดือนที่เป็นไม่ถึงกับต้องรับประทานยาแก้ปวด
   
          * อาการปวดประจำเดือนเกิดขึ้นแค่ 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน จากนั้นอาการปวดประจำเดือนจะหายได้เอง
   
          * บางรายอาจปวดประจำเดือนมากทุกครั้งที่ประจำเดือนมา แต่ถ้ากินยาแก้ปวดอาการจะทุเลาลงจนใช้ชีวิตได้ปกติ

ปวดประจำเดือนแบบไหนต้องไปหาหมอ


          - ปวดประจำเดือนมาก โดยช่วงที่ปวดประจำเดือนแรก ๆ อาจพอทนไหว แต่ต่อมาอาการปวดประจำเดือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกเดือน และมักจะรู้สึกปวดรุนแรงในช่วง 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน
   
          - รู้สึกปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงจนต้องรับประทานยาแก้ปวดมากกว่าวันละ 1 ครั้ง อาการปวดประจำเดือนถึงจะทุเลาลง
   
          - ปวดประจำเดือนรุนแรง โดยอาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม ท้องเดิน และรู้สึกปวดท้องจนไม่สามารถลุกไปทำอะไรได้ ต้องกินยาแก้ปวดและนอนพักสักระยะจึงจะหาย
   
          - ปวดประจำเดือนรุนแรงขึ้นจนยาแก้ปวดเอาไม่อยู่ และต้องไปพบแพทย์ทุกครั้งที่มีประจำเดือน
   
          - มีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย รวมทั้งหากเกิดการกระเทือน หรือกดถูกบริเวณนั้นจะมีอาการเจ็บปวด
   
          - ปวดและกดเจ็บตรงบริเวณท้องน้อย ร่วมกับมีอาการไข้สูง อาจมีอาการตกขาวร่วมด้วย
   
          - ปวดบิดเกร็งตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง และมักมีอาการปวดร้าวลงมาที่ช่องคลอดข้างเดียวกัน
   
          - ปวดประจำเดือนมาก ร่วมกับมีเลือดออกกะปริบกะปรอย (ประจำเดือนมากกว่ากว่า 1 ครั้ง แต่ละครั้งเลือดจะออกน้อย) หรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ

อาการปวดประจำเดือน

          ทั้งนี้ หากรู้สึกปวดประจำเดือนแตกต่างจากที่เคยเป็น และมีอาการปวดประจำเดือนติดต่อกันนานกว่าปกติ กดบริเวณท้องน้อยแล้วรู้สึกเจ็บ มีไข้ หรือมีอาการตกขาวร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอื่น ๆ เนื่องจากอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงจนถึงขั้นไม่ปกติ อาจเป็นสัญญาณของโรคได้ดังนี้

ปวดประจำเดือนผิดปกติ ส่อโรคอะไรได้บ้าง


          + เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
          + ช็อกโกแลตซีสต์
          + เลือดออกในอุ้งเชิงกราน
          + เนื้องอกมดลูก
          + ปีกมดลูกอักเสบ
          + นิ่วท่อไต
          + ไส้ติ่งอักเสบ
         
          อาการปวดประจำเดือนสามารถบอกสัญญาณของความผิดปกติภายในสุขภาพผู้หญิงได้ด้วย ดังนั้นหากคุณสาว ๆ มีอาการปวดประจำเดือนที่ต่างไปจากเดิม ก็อย่านิ่งนอนใจนะคะ และสำหรับคนที่อาการปวดประจำเดือนมีไม่มาก แต่อยากบรรเทาอาการปวดประจำเดือน เราก็มีสารพัดวิธีบรรเทาอาการปวดประจำเดือนมาฝากตามนี้เลยจ้า
 
         - ไม่ต้องเครียด ! ปวดท้องเมนส์ บรรเทาได้ ไม่ง้อยา
         - ข้อปฏิบัติดี ๆ พิชิตอาการปวดประจำเดือนให้อยู่หมัด
         - ปวดท้องประจำเดือน บรรเทาได้ด้วยสุดยอดท่าโยคะ
         - 7 อาหารแก้ปวดประจำเดือน กินแล้วชีวิตดี๊ดี
         - สุขสดใส แม้ถึงวันนั้นของผู้หญิง

          ปวดประจำเดือนเมื่อไรก็บรรเทาอาการปวดได้เลยตามนี้ แต่หากมีอาการปวดประจำเดือนผิดปกติ ก็อย่าลืมไปตรวจให้ละเอียดกับคุณหมอด้วยนะจ๊ะสาว ๆ ;)



ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลนนทเวช, โรงพยาบาลพญาไท

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดประจำเดือนแบบไหนต้องไปหาหมอ แล้วส่อเค้าโรคอะไรได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2566 เวลา 13:18:16 346,370 อ่าน
TOP
x close