ปวดหัวบ่อย เกิดจากอะไร ส่งสัญญาณอันตรายอะไรหรือเปล่า ?

          ปวดหัวบ่อย อาจไม่ได้เกิดจากความเครียดเพียงอย่างเดียว มาดูกันว่าสาเหตุของอาการปวดหัวมีอะไรที่เราควรระวังไว้บ้าง

ปวดหัว

          อาการปวดหัวแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงเท่าไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้รำคาญตัวเองไม่น้อย และบางคนไม่ใช่แค่ปวดหัวเท่านั้นด้วยนะคะ แต่อาการปวดขมับ ปวดเบ้าตา และอาการตึงเครียดที่ท้ายทอยก็มาเยือนด้วย โดยอาการปวดหัวบ่อย ๆ นั้น อาจมาจากปัญหาสุขภาพบางอย่างก็จริง แต่ก็มีไม่น้อยที่เกิดจากเรื่องใกล้ตัวซึ่งเราหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นใครไม่อยากมีอาการปวดหัวทุกวัน มาลองเช็กกันว่าสาเหตุใกล้ตัวที่ทำให้เราปวดหัวบ่อย ๆ มีอะไรบ้าง และเราสามารถหลีกเลี่ยงต้นตอของอาการปวดหัวได้ด้วยวิธีไหน

ปวดหัวบ่อย เกิดจากพฤติกรรมอะไรได้บ้าง


1. ความเครียด

          ความเครียดเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็พบเจอด้วยกันได้ทั้งนั้น ซึ่งอาการปวดหัวจากความเครียดสังเกตได้ง่าย ๆ โดยจะมีความรู้สึกปวดหนัก ๆ ที่ขมับทั้งสองข้าง ปวดตื้อ ๆ แต่ไม่ปวดแบบตุบ ๆ หรือบางคนอาจมีอาการปวดหัวร่วมกับปวดต้นคอ ไหล่ และหลังร่วมด้วย

          โดยคนที่จะมีอาการปวดหัวแบบนี้ทุกวัน นั่นก็แปลว่าคุณกำลังตกอยู่ในความเครียด ความกดดัน หรือรู้สึกวิตกกังวลกับอะไรบางอย่าง ซึ่งหากไม่อยากทรมานกับอาการปวดหัวอีกต่อไป ลองฝึกนั่งสมาธิ สงบจิตใจ และรู้จักปล่อยวางบ้างก็ดีนะคะ

2. ติดโซเชียล

ปวดหัว

          ทุกวันนี้คนเราจ้องหน้าจอมากกว่ามองวิวรอบ ๆ ตัวอีกนะคะ ดังนั้นหายสงสัยได้เลยว่าทำไมตกเย็นถึงมีอาการปวดหัว ปวดกระบอกตารอบ ๆ ได้ นั่นก็เพราะเราใช้สายตากับเทคโนโลยีเหล่านี้มากเกินไป โดยเฉพาะคนที่เล่นมือถือในระหว่างเดินทาง จ้องจอติดกันเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งก็แน่นอนว่ามีความสั่นสะเทือนไม่มากก็น้อย แบบนี้ดวงตาก็ต้องโฟกัสสิ่งที่กำลังดูมากขึ้นไปโดยปริยาย เกร็งทั้งดวงตา ทั้งก้มคอ ความตึงเครียดเหล่านี้แหละสาเหตุหลักที่ทำให้ปวดหัวเลย !

          ทว่าวิธีแก้ปวดหัวจากการติดสมาร์ตโฟนก็มีค่ะ โดยพยายามอย่าจ้องหน้าจอนานติดต่อกัน ควรเงยหน้ามาพักสายตา มองไปรอบ ๆ ตัวหาพื้นที่สีเขียวทุก ๆ 5 นาที รวมทั้งกะพริบตาให้บ่อยขึ้น และปรับแสงหน้าจอให้มีความเหมาะสม ไม่มืด ไม่สว่างเกินไปก็ช่วยได้แล้ว


3. นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป

          หนุ่ม-สาวออฟฟิศที่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ก็มักจะมีอาการปวดหัวหนัก ๆ รู้สึกหนักหัว และปวดกระบอกตาตุบ ๆ ร่วมกับอาการปวดคอ ไหล่ และหลัง โดยอาการมักจะมาตอนบ่ายหรือใกล้เลิกงาน บางคนอาจมีอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุเลย

          โดยบางคนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา ถึงเวลาต้องตัดแว่น หรือเปลี่ยนเลนส์แว่นสักที เพราะสายตาตอนนี้เปลี่ยนไปไม่ตรงกับค่าเลนส์แว่นอันเดิมที่ใส่แล้ว หรือบางคนอาจทำงานหนัก นั่งติดเก้าอี้และจ้องจอคอมพ์ ไม่ยอมลุกไปไหน ขนาดกินข้าวก็ยังนั่งกินที่โต๊ะ เล่นโซเชียลผ่านหน้าจอคอมพ์ไปอีก ซึ่งก็เท่ากับว่าเราใช้สายตาไปกับจอคอมพิวเตอร์แทบจะทั้ง 8-9 ชั่วโมงที่ทำงาน ดังนั้นอาการล้าสายตา ปวดเกร็งกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ด้วย
 
          ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อเลี่ยงอาการปวดหัวที่มีสาเหตุมาจากการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ไม่ยาก โดยพยายามพักสายตาไปมองรอบ ๆ ตัวทุก 10 นาที และลุกไปเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

4. ติดกาแฟ

          กาแฟมีคาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นความตื่นตัวให้ร่างกาย อันนี้ไม่เถียงค่ะ แต่รู้ไหมว่าการฝึกตัวเองให้ติดกาแฟหนัก ๆ อย่างคนที่ดื่มกาแฟได้วันละ 4-5 แก้วต่อวัน พฤติกรรมดังกล่าวก็เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดหัวบ่อย ๆ ได้เหมือนกันนะ เพราะปริมาณคาเฟอีนที่สะสมอยู่ในร่างกายมากเกิน จากการกินกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน จะกระตุ้นสมองส่วนกลางรัว ๆ ทำให้มีอาการปวดหัว ปวดกระบอกตาตุบ ๆ บางคนอาจมึนหัวเหมือนคนนอนไม่พอ หรืออาจพัฒนาเป็นโรคไมเกรนได้ถ้ายังไม่เลิกติดกาแฟ

5. เสพติดหมากฝรั่ง

          มีใครแถวนี้ติดเคี้ยวหมากฝรั่งบ้างไหม ประเภทต้องเคี้ยวหมากฝรั่งหลังมื้ออาหาร ยามง่วง ๆ หรือทุกครั้งที่รู้สึกว่าลมหายใจไม่สะอาด จะบอกให้รู้ว่าพฤติกรรมติดเคี้ยวหมากฝรั่งแบบนี้อาจเป็นต้นเหตุของอาการปวดหัวข้างเดียว แบบรู้สึกปวดขมับตุบ ๆ ร้าวลงมาถึงกรามได้ อันเนื่องมาจากภาวะกรามล้า จากการต้องบดเคี้ยวย้ำ ๆ นั่นเอง
   
          ดังนั้นหากใครปวดหัวข้างเดียวบ่อย ๆ ในลักษณะนี้ และเดาได้ว่าอาจมีสาเหตุเพราะติดเคี้ยวหมากฝรั่ง ก็พยายามงดเคี้ยวหมากฝรั่งไปสักพัก หรืออย่างน้อยเคี้ยวให้น้อยลงหน่อยก็ยังดี

6. ดื่ม/กินของเย็นจัด

ปวดหัว

          สำหรับเคสที่ปวดหัวจี๊ด ๆ ทุกวัน​โดยเฉพาะตอนดื่มน้ำเย็นเจี๊ยบหรือกินของเย็นจัด ๆ อาการนี้เรียกว่าภาวะ Brain freeze ที่จะก่อให้เกิดอาการปวดหัวจี๊ด ๆ หรือในบางคนปวดเจ็บจี๊ด ๆ ที่บริเวณขมับ อันเนื่องมาจากการรับของเย็นจัดเข้าร่างกาย จะกระตุ้นหลอดเลือดบริเวณช่องคอแถวเพดานอ่อนให้หดตัว แล้วก็เกิดการคลายตัวในเวลาถัดมา ซึ่งการหดและคลายตัวของหลอดเลือดจะส่งผลทำให้ต่อมรับความรู้สึกเจ็บปวด (Pain Receptor) ถูกกระตุ้น และส่งผลไปยังสมองและเส้นประสาท ทำให้เส้นเลือดหดเกร็งตัว ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะจี๊ด ๆ นั่นเอง
  
          ทว่าวิธีแก้ปวดหัวจี๊ด ๆ จากการดื่มน้ำเย็นหรือกินของเย็นจัดก็ไม่ยาก เพียงแค่ค่อย ๆ ดื่มน้ำเย็น หรือเล็มไอศกรีมช้า ๆ โดยแตะที่ลิ้นก่อนเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายได้ปรับตัวในขั้นแรก เท่านี้ก็จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการปวดหัวจี๊ด ๆ ได้แล้วล่ะ หรือทางที่ดีพยายามดื่มน้ำที่ไม่เย็นจัดมากก็น่าจะช่วยได้เยอะเลย


7. แบกกระเป๋าหนัก ๆ หรือยืน-นั่งจนหลังแข็ง !

          ในบางอาชีพที่แทบต้องยืน-เดินทำงานทั้งวันแบบไม่มีเวลานั่งพักสักเท่าไร หรือในกลุ่มนักเดินทาง นักเรียนที่ต้องแบกกระเป๋าหนัก ๆ เป็นเวลานาน ๆ กลุ่มนี้จะเกิดอาการปวดหัวตื้อ ๆ ร่วมกับอาการปวดหลังและคอได้ โดยสาเหตุก็คืออาการปวดล้ากล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง จะลามมาทำให้กล้ามเนื้อลำคอเกร็งปวดไปด้วยได้ ก่อให้เกิดความรู้สึกปวดหัวในเวลาต่อมา ดังนั้นลองสังเกตว่าหากเรามีอาการหลังแข็ง คอแข็ง ร่วมกับอาการปวดศีรษะแบบมึน ๆ บ่อยจนน่ากังวล ลองไปพบแพทย์หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองในเบื้องต้นก็ได้

8. นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ

          สำหรับคนที่จำเป็นต้องนอนดึก ตื่นแต่เช้า ร่างกายก็คงไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ จนเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดหัวทุกเช้าหลังตื่นนอนได้ โดยอาการปวดหัวจะมีลักษณะปวดตุบ ๆ หนักศีรษะเหมือนจะลุกไม่ค่อยไหวในทุกเช้า ซึ่งนอกจากอาการปวดหัวทุกเช้าจะเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอแล้ว ยังอาจเป็นได้จากความเครียด ปัญหาสุขภาพฟัน หรือเป็นอาการเริ่มแรกของโรคไมเกรนก็ได้ด้วยนะคะ ดังนั้นลองแก้ปวดหัวด้วยการพยายามพักผ่อนให้เต็มอิ่มดูก่อน หากอาการปวดหัวยังไม่หาย ลองพบแพทย์เพื่อหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริงให้รู้ชัดกันไปเลย

9. กินยาแก้ปวดมากเกินไป !

          โดยเฉพาะยาแก้ปวดจำพวกอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือพาราเซตามอล, แอสไพริน และไอบูโพรเฟน เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมทั้งยารักษาโรคไมเกรน (Triptans) เกิน 10 วันต่อเดือนด้วย ซึ่งเมื่อเรากินยาแก้ปวดติดต่อกันนาน ๆ จนร่างกายเกิดความเคยชิน อาการปวดก็จะถูกฤทธิ์ยากดไว้ ทว่าพอฤทธิ์ยาในร่างกายหมดไป อาการปวดหัวจะฟื้นกลับมาแสดงอาการอีกครั้งในทันที ทำให้เรารู้สึกปวดหัวเกือบทุกวัน โดยปวดไปทั้งศีรษะหรือปวดขมับอย่างหนักเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการในแต่ละบุคคล และถ้าอยากหายจากอาการปวดหัวลองปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ปรับลดขนาดยาให้เหมาะสมกับความจำเป็นของร่างกายดีกว่า

10. ปวดหัวจากการออกกำลังกาย

ปวดหัว

          การออกกำลังกายที่หนักมากเกินไป โดยเฉพาะหากผู้ออกกำลังกายกดดันตัวเอง หรือออกกำลังกายที่เกินกำลังสังขารของตัวเอง เคสนี้เราพบว่าเป็นต้นเหตุของอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน โดยลักษณะอาการปวดจะปวดหัวตุบ ๆ ทั้งศีรษะ เหมือนมีอะไรมาแทงอยู่ข้างใน หรือบางคนอาจรู้สึกปวดท้ายทอยหรือเฉพาะส่วนหน้าของศีรษะนานหลายนาที แม้จะหยุดออกกำลังกายไปแล้วอาการปวดหัวก็ยังอยู่

          ซึ่งอาการปวดหัวที่กล่าวมานี้ยังสามารถเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ในระหว่างที่เราออกกำลังกายได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สภาพแวดล้อมบริเวณนั้นร้อนอบอ้าว ร่างกายของเราเหนื่อยล้าและมีอาการปวดหัวอยู่ก่อนแล้ว ออกกำลังกายหนักจนเกิดภาวะขาดน้ำ ปวดหัวจากอุปกรณ์ออกกำลังกายบางชนิดที่มีความบีบรัด ปวดหัวจากการโหม่งบอลผิดท่า หรือเป็นคนไม่ค่อยได้ออกกำลังกายแล้วไปออกกำลังกายหนัก ๆ ในทันที กลุ่มนี้ก็จะเกิดอาการปวดหัวหลังออกกำลังกายได้เหมือนกัน

          โดยทางแก้ก็คือตรวจเช็กอาการปวดหัวของเราก่อนว่ามีความรุนแรงขนาดไหน ปวดหัวทุกครั้งที่ออกกำลังกายเลยหรือเปล่า เมื่อค่อนข้างได้ข้อมูลที่ครบถ้วนแล้วก็ไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจจะจ่ายยาแก้ปวดมาให้รับประทาน และแนะนำวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเราต่อไป

11. ปวดหัวเพราะกินอาหารซ้ำ ๆ เดิม ๆ

          ไม่น่าเชื่อว่าพฤติกรรมบริโภคอาหารซ้ำซากจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดหัวได้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ชอบกินอาหารรสหวาน อาหารสำเร็จรูปเมนูเดิม ๆ หนักไปทางไขมันและชีส ผลสำรวจจาก Centers for Disease Control บอกว่าอาหารไม่มีประโยชน์เหล่านี้แหละตัวดีที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวเลยล่ะ และใครไม่อยากปวดหัวบ่อย ๆ อีกต่อไป ลองเปลี่ยนมากินแป้งไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ และอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปดูบ้าง เชื่อสิว่าถ้าปรับพฤติกรรมแล้ว อาการปวดหัวบ่อย ๆ ของคุณจะหายไป !

ปวดหัวบ่อย จากปัญหาสุขภาพและอาการป่วย


1. ปัญหาสุขภาพฟัน

ปวดหัว

          ปัญหาสุขภาพฟันก็ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นต้นตอของอาการปวดหัว 2 ข้าง หรือปวดหัวข้างเดียวในลักษณะปวดเหมือนมีอะไรมารัดรึงที่หัว ปวดรอบ ๆ ลูกตา ปวดร้าวแนวกรามและขากรรไกร บางรายอาจมีอาการกัดฟันในตอนกลางคืนร่วมด้วย และสัมผัสได้ถึงอาการปวดศีรษะเมื่อเอามือไปแตะที่หน้าผาก พร้อมทั้งเมื่ออ้าปากอาจมีเสียงดังกึกให้ได้ยินเบา ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาความผิดปกติของข้อขมับและขากรรไกรล่าง ที่ทำให้การสบฟันผิดปกติไปด้วย จนเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อที่ควรได้รับการพักผ่อนต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นหลายเท่า นานเข้าจึงส่งสัญญาณความเมื่อยล้ามาเป็นอาการปวดหัวอย่างที่บอกไป

          แต่อย่างไรก็ดี วิธีรักษาอาการปวดหัวจากสาเหตุนี้ต้องได้รับการรักษาโดยทันตแพทย์เท่านั้น อย่าซื้อยาแก้ปวดกินเองเด็ดขาด

2. อาการภูมิแพ้

          อาการภูมิแพ้ของบางคนไม่ได้มาในรูปฟึดฟัด หายใจไม่ออก น้ำมูก-น้ำตาไหล แต่มาในรูปแบบของอาการปวดหัวก็มี โดยบางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองไวต่อสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ ดังนั้นลองสังเกตตัวเองดูว่ารู้สึกปวดหัวตอนไหนแบบเจาะจงได้บ้าง เช่น ปวดหัวทุกครั้งที่ได้กลิ่นกาแฟ ปวดหัวทุกครั้งที่อยู่ในห้องเหม็นอับ หรือปวดหัวทุกครั้งที่เดินผ่านดงดอกไม้เยอะ ๆ และมักจะปวดหัวแบบเวียน ๆ มึน ๆ ร่วมกับอาการคัดจมูก เหมือนจะเป็นไข้ ถ้าพบว่าอาการเหล่านี้ใช่ก็พบแพทย์ได้เลย

3. ความดันโลหิตสูง

          ในกรณีที่ปวดหัวทุกวัน โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ได้นอนไม่พอ และไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการปวดหัวใด ๆ เลย อาจเป็นไปได้ว่าอาการปวดหัวเรื้อรังที่คุณเป็นอยู่นั้นมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบแสนอันตราย เพราะมักจะไม่ปรากฏอาการใด ๆ คุณอาจมีอาการปวดหัวบ่อย ๆ มึนศีรษะเป็นบางครั้ง หรือเหนื่อยง่ายผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ หลายคนจึงไม่เอะใจว่าอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของโรคความดันโลหิตสูง

          อย่างไรก็ตาม หากคุณมีอาการปวดหัวเรื้อรัง ร่วมกับอาการข้างเคียงดังที่กล่าวมา และเป็นบุคคลที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจวัดความดันโลหิตของตัวเองเรื่อย ๆ เพื่อเช็กดูว่าความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงของเรามีมากน้อยแค่ไหน เพราะหากรู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูงในระยะเริ่มต้น เราก็พอมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายมากกว่าการรับประทานยาไปตลอดชีวิต ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมก็มีวิธีลดความดันโลหิตตามวิธีธรรมชาติมาฝากด้วย


          - 13 อาหารลดความดันโลหิตสูง ที่ทุกครัวเรือนควรมี

          - สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง พืชมหัศจรรย์ใกล้ตัว

4. ไมเกรน

ปวดหัว

          ถ้ามีอาการปวดหัวบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นไมเกรนก็ได้ โดยข้อสังเกตของโรคนี้คือ มักมีอาการปวดหัวตุบ ๆ เป็นระยะ ๆ หรือปวดแบบตื้อ ๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้างเดียว แต่บางรายก็อาจปวดพร้อมกันทั้งสองข้างและปวดรุนแรงจนทำงานไม่ได้ ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้บางคนอาจเห็นแสงเป็นเส้น ๆ นำมาก่อนอาการปวดหัว

          กรณีมีอาการปวดบ่อย ๆ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ไปกระตุ้นไมเกรน เช่น อาหารที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาคุมกำเนิด เสียงดัง อากาศร้อนจัด ภาวะความเครียด การอดนอน การทำงานหนักจนไม่ได้พักผ่อน แต่หากเป็นมากควรไปพบแพทย์เพื่อใช้ยารักษา

5. ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disorder)

          อาการปวดหัวเรื้อรังในบางเคส สามารถบอกสัญญาณของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองในระยะเริ่มต้นได้ โดยหากคุณมีอาการปวดหัวทุกวันแต่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุตามข้อไหนในที่กล่าวมาแล้วเลย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้งดีกว่า

6. ปวดหัวด้วยโรคทางสมอง

          เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง เส้นเลือดสมองโป่งพอง มะเร็งสมอง มักมีอาการปวดหัวรุนแรงขึ้นมาแบบเฉียบพลัน ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน เดินเซ คอแข็ง ชักเกร็ง เป็นต้น ใครมีอาการลักษณะนี้ต้องรีบพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะมีอันตรายถึงชีวิต

          จะเห็นว่าสาเหตุของอาการปวดหัวหลายข้อเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเองก็คาดไม่ถึง และจริง ๆ แล้วเราสามารถแก้ปวดหัวได้โดยไม่ต้องพึ่งยาขนานไหน แค่ปรับแค่เปลี่ยนความคิดและนิสัยบางอย่างของเราเองนี่แหละ แต่ถ้าปวดหัวร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายก็อย่าละเลย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยดีกว่าค่ะ


บทความเกี่ยวกับอาการปวดหัว

          -  ปวดหัวแบบไหนผิดปกติ เช็กสักนิดแล้วรีบไปหาหมอ 
          -  นอนตอนเย็นแล้วปวดหัว เป็นเพราะอะไรกันนะ ? 
          -  ดื่มน้ำเย็นแล้วปวดหัวจี๊ด เคสนี้อันตรายไหม แก้ยังไงให้รู้สึกสบายขึ้น 
          -  อาการปวดหัว 14 ชนิด รักษาแบบนี้สิถึงตรงจุด 
          -  ไมเกรน ปวดหัวเรื้อรังต้องระวัง ยังเสี่ยงเกิดโรคแบบนี้ด้วย 


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 27 กรกฎาคม 2564


ขอบคุณข้อมูลจาก
health
womenshealthmag
boston
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดหัวบ่อย เกิดจากอะไร ส่งสัญญาณอันตรายอะไรหรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2564 เวลา 18:10:41 141,319 อ่าน
TOP
x close