เป็นโรคไทรอยด์จนอ้วนขึ้น จะลดน้ำหนักยังไงให้กลับมาผอมเหมือนเดิม และไม่อันตรายต่อร่างกาย ไม่กระทบต่อโรคไทรอยด์ที่เป็นอยู่ ลองมาดูวิธีกัน
ภาวะไฮโปไทรอยด์ หรือไทรอยด์แบบอ้วน เกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง จนกระทบต่อระบบเผาผลาญ ทำให้ผู้ป่วยโรคไฮโปไทรอยด์อ้วนขึ้น มีอาการหน้าบวม ตัวบวม ครั้นจะลดน้ำหนักก็ลองทำมานาน ทว่าน้ำหนักและความอ้วนกลับไม่ลดลงเลย ดังนั้นกระปุกดอทคอมเลยอยากเสนอวิธีลดน้ำหนักสำหรับผู้ป่วยไทรอยด์ ที่จะช่วยกู้ร่างเดิมกลับมาได้ และมีความปลอดภัยต่อร่างกายของผู้ป่วยด้วย
ทว่าในขั้นแรก นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจหลอดเลือดและทรวงอก แนะนำว่า เราควรเคลียร์ร่างกายให้พร้อมก่อนจะเริ่มลดน้ำหนัก เนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างของโรคไทรอยด์อาจทำให้ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ ฉะนั้นหากคุณไม่อยากตกอยู่ในภาวะลดน้ำหนักแทบตาย แต่กลับไม่ผอมลงเลย ก็ควรต้องรู้ข้อต่อไปนี้ให้ชัด และทำความเข้าใจให้ดี
- แยกสาเหตุของโรคไฮโปไทรอยด์ว่าเป็นชนิดใด
โรคไฮโปไทรอยด์มีอยู่สองชนิดด้วยกัน คือไฮโปไทรอยด์ที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ (Primary) และไฮโปไทรอยด์ที่เกิดจากสมอง (Secondary) โดยเราสามารถสังเกตและแยกชนิดได้ด้วยระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) ถ้าระดับฮอร์โมนสูงก็แสดงว่าเป็นไฮโปไทรอยด์ชนิดที่เกิดจากตัวต่อม สามารถปรับให้ระดับฮอร์โมนดังกล่าวเป็นปกติได้ด้วยยา ทว่าหากมีระดับฮอร์โมนต่ำ นั่นแสดงว่าไฮโปไทรอยด์เกิดจากสมอง อาจมีเนื้องอกใต้ต่อมสมอง ต้องอาศัย CT หรือ MRI สแกนอย่างละเอียดอีกรอบ เพราะหากไม่รักษาตรงจุดนี้ ภาวะไฮโปไทรอยด์ที่ทำให้อ้วนขึ้นก็คงไม่หายไปไหน
- ระดับฮอร์โมนกระตุ้น เป็นปกติหรือยัง
ก่อนจะลดความอ้วนให้เห็นผล เราควรต้องรักษาโรคไทรอยด์ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ กล่าวคือ ควรได้รับการรักษาจนระดับฮอร์โมนกระตุ้น (TSH) กลับมาเป็นปกติ ไม่มีภาวะไฮโปไทรอยด์หลงเหลืออยู่ เพราะไม่เช่นนั้นการลดน้ำหนักด้วยวิธีใดก็คงไม่เห็นผล
- เช็กการทำงานของเมตาบอลิซึม
ในกรณีที่คนไข้คุมไฮโปไทรอยด์ได้แล้ว ก็ต้องมาเช็กต่อว่ามีภาวะโลหิตจางด้วยหรือไม่ เพราะการที่ระดับเม็ดเลือดต่ำ แปลว่าฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดยังต่ำอยู่ อันเนื่องมาจากการเผาผลาญของร่างกายยังทำงานได้ไม่ดี ร่างกายจึงไม่ต้องการออกซิเจนมาก เลยไม่สร้างเม็ดเลือดมาก ๆ ด้วย ซึ่งจุดนี้ก็ต้องให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุให้ชัด ว่าทำไมระบบเมตาบอลิซึมถึงทำงานต่ำ ทั้ง ๆ ที่คุมไฮโปไทรอยด์ได้แล้ว
- เช็กยาที่กินด้วย
ยาบางชนิด เช่น Amiodarone และยาทางจิตเวชบางตัวมีผลต่อต้านไทรอยด์โดยตรง ซึ่งจะทำให้ไทรอยด์ผิดปกติได้ ดังนั้นหากคุณกินยาเหล่านี้อยู่ อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์เปลี่ยนยาให้ หรือปรึกษาแนวทางการลดน้ำหนักจากแพทย์โดยตรงอีกที
เอาล่ะ...หากคุณผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ ข้างต้นมาได้อย่างสวยงาม เรามาเริ่มลดน้ำหนักกันเลย
1. หลีกเลี่ยงอาหารมีกลูเตน
กลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีสารกอยโตรเจน (Goitrogens) ซึ่งเป็นสารยับยั้งการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมน คอยทำหน้าที่ยับยั้งการส่งผ่านไอโอดีน เป็นปัจจัยให้เกิดโรคคอพอกได้ ทั้งนี้โปรตีนกลูเตนจะพบได้ในข้าวสาลี ข้าวไรซ์ ข้าวบาร์เลย์ ดังนั้นจึงอาจพบกลูเตนได้ในเบเกอรี่ชนิดต่าง ๆ เค้ก พาย เนื้อปูเทียม หรือยังอาจพบกลูเตนได้ในปลากระป๋อง กะทิสำเร็จรูป น้ำมันหอย ซอสถั่วเหลือง และมัสตาร์ด
ดังนั้นหากไม่อยากให้ต่อมไทรอยด์ผิดปกติจนนำมาสู่ภาวะอ้วนไม่เลิก ก็พยายามเลือกกินอาหารที่ปลอดกลูเตน อย่างอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปใด ๆ เช่น ผักสด ผลไม้สด ปลา ไก่ เนื้อไร้ไขมัน ถั่วชนิดต่าง ๆ ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่าง ๆ และน้ำมันมะกอก
2. เพิ่มคาร์บเชิงซ้อน ลดคาร์บเชิงเดี่ยว
คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอย่างข้าวกล้อง โฮลเกรน โฮลวีท แป้งไม่ขัดสี เป็นกลุ่มอาหารลดน้ำหนักที่ช่วยทั้งคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันร่างกายจากกลูเตน และยังช่วยเพิ่มไฟเบอร์ให้ร่างกาย กินน้อยแต่อิ่มนาน ระบบขับถ่ายก็ดี จึงเป็นทางเลือกในการลดความอ้วนของผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์อย่างไม่ต้องสงสัย
- คาร์โบไฮเดรตชนิดดี VS ไม่ดี เลือกกินอย่างไรให้หุ่นเฟิร์ม
- ลดน้ำหนักทั้งที คาร์โบไฮเดรตเหล่านี้ช่วยคุณได้
- 7 คาร์โบไฮเดรตชนิดดี กินแบบนี้สิไม่อ้วน
3. กินอาหารช่วยต้านอาการอักเสบ
ภาวะอาการอักเสบเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคไฮโปไทรอยด์จะได้เจอบ่อย ๆ เนื่องจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่น้อยผิดปกติ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดน้อยลงด้วย จึงอาจทำให้เกิดอาการป่วย เพลียบ่อย ๆ หรืออาจเปิดโอกาสให้เกิดภาวะเนื้อเยื่ออักเสบ ก่อให้เกิดอาการตัวบวมได้ง่าย ดังนั้นผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ที่อยากลดน้ำหนัก ลดอาการตัวบวม ควรช่วยร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ เพื่อลดภาระ ระบบภูมิคุ้มกันได้อีกทาง
- 19 อาหารที่ลดอาการอักเสบ บรรเทาอาการได้ชะงัดไม่ง้อยา
4. กินน้อย ๆ แต่กินบ่อย ๆ
ระบบเผาผลาญของผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์จะทำงานได้ช้า ดังนั้นเราควรกระตุ้นด้วยการกินอาหารมื้อย่อย ๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น โดยอาจแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อต่อวัน (3 มื้อหลัก และคั่นด้วยของว่างแคลอรีต่ำก่อนมื้อหลัก) ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญแล้ว ยังช่วยคงระดับน้ำตาลในเลือดไปด้วยในตัว
- 20 ของว่างแคลอรีต่ำ อร่อยเต็มคำแต่ให้พลังงานไม่เกิน 100 กิโลแคลอรี
5. ดื่มน้ำเยอะ ๆ
วิธีลดน้ำหนักง่าย ๆ ที่ทำแล้วดีต่อทุกคนคือการดื่มน้ำให้เยอะเข้าไว้ค่ะ เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย เป็นสารที่ช่วยหล่อเลี้ยงการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายให้เป็นไปได้ด้วยดี อีกทั้งการดื่มน้ำยังช่วยลดความหิวกระหาย ช่วยให้รู้สึกอิ่มและกินอาหารได้น้อยลงด้วยนะ
6. นอนหลับให้เพียงพอ
ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์คือนอนไม่หลับ ซึ่งแน่นอนว่าหากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ก็ย่อมส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะในเรื่องของฮอร์โมน การนอนไม่หลับจะก่อให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนคอร์ติซอล ฮอร์โมนแห่งความหิว ความเครียด และอาจส่งผลให้ฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกายแกว่งไปด้วย ดังนั้นหากไม่อยากเจอกับความผิดปกติเหล่านี้ แนะนำให้ฝึกร่างกายตัวเองให้นอนหลับอย่างเพียงพอ โดยอาจเริ่มจากการเข้านอนตรงเวลาทุกวัน นั่งสมาธิก่อนนอน หรือลองวิธีช่วยให้นอนหลับสนิทวิธีอื่น ๆ ก็ได้
- 19 วิธีทำให้ง่วงนอนสำหรับคนนอนไม่หลับ ไม่ต้องมัวนับแกะอีกต่อไป
7. ออกกำลังกาย
นอกจากควรจะเลือกกินอาหารที่ดีต่อการลดน้ำหนักแล้ว วิธีลดความอ้วนที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งก็คือการออกกำลังกายค่ะ เพื่อเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ดึงพลังงานจากอาหารที่เรากินเข้าไปออกมาใช้ และการออกกำลังกายยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญอีกวิธีหนึ่งด้วยนะคะ ดังนั้นพยายามออกกำลังกายให้ได้ทุกวัน และทำอย่างสม่ำเสมอด้วยก็จะดีมาก
อย่างไรก็ตาม อยากให้โฟกัสที่อาการป่วยและการรักษาโรคไฮโปไทรอยด์ก่อนเป็นหลัก ถ้ารักษาจนทุกอย่างลงตัวแล้ว อยู่ในระยะที่ปลอดภัย เราค่อยมาเริ่มต้นลดน้ำหนักกันอย่างจริงจังก็ยังไม่สาย ทั้งนี้กระปุกดอทคอมก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านโรคไทรอยด์และอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างสวยงาม มีสุขภาพแข็งแรงและรูปร่างที่ดีกันทุกคนเลย :)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล, DrSant บทความสุขภาพ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์, healthdigezt, everydayhealth, verywell