แค่เดินไม่กี่ก้าวก็หายใจหอบ รู้สึกตัวเองเหนื่อยง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะ อาการอย่างนี้ควรกังวลใจแค่ไหนนะ
เข้าใจว่าความเหนื่อยใคร ๆ ก็มีได้ แต่ถ้ายังไม่ทันได้ทำอะไรก็เหนื่อยง่ายอาจไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจแล้วหรือเปล่า ใครมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ทำอะไรก็เหนื่อยหอบ หายใจแทบไม่ทัน ทั้งที่อายุไม่เท่าไร ลองมาดูหน่อยว่าอาการที่เราเหนื่อยง่ายเกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการเหนื่อยง่ายที่ไม่ได้เกิดจาก
โรค
พักผ่อนไม่เพียงพอ
โดยเฉพาะคนที่อดหลับอดนอนติดต่อกันหลายวัน ความอ่อนเพลียจากการที่ไม่ได้พักผ่อนจะทำให้รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ตกอยู่ในโหมดไม่มีชีวิตชีวา ไม่อยากขยับตัวไปไหน ยิ่งเวลาบ่าย ๆ จะรู้สึกง่วงงุนหนักมาก อยากแต่จะนอนอย่างเดียวเลย
นอนกรน
ติดกาแฟ
หากดื่มกาแฟเกินวันละ 4 แก้ว และดื่มกาแฟช่วงหลังบ่ายสองอยู่ประจำ อาจทำให้นอนหลับได้ไม่ดี จนร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ตื่นมาก็ไม่สดชื่นและรู้สึกอ่อนล้า เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
ติดหวานมากเกินไป
แม้การดื่มน้ำหวานหรือการกินของหวานจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นได้ชั่วขณะ แต่หากกินหวานจนเสพติดรสชาติหวานมากเกินไป ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนร่างกายปรับสมดุลไม่ทัน น้ำตาลจะไปยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเลปติน หรือฮอร์โมนอิ่ม ส่งผลต่อการเรียนรู้และจดจำของสมองในส่วนฮิปโปแคมปัสให้มีการตอบสนองได้ช้ากว่าปกติ เป็นเหตุให้สมองจดจำอะไรได้ไม่ดี ร่างกายเฉื่อยชาและอ่อนเพลียอีกด้วย
เพิ่งฟื้นตัวจากไข้
หลังจากหายป่วย ร่างกายจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติดี จนอาจรู้สึกเพลีย ๆ และเหนื่อยง่ายกว่าปกติอยู่บ้าง ต้องรอให้ร่างกายฟื้นตัวอย่างเต็มที่ถึงจะมีเรี่ยวแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
ความเครียด วิตกกังวล
เวลาทำงานเครียด ๆ หรือกำลังรู้สึกกังวลกับอะไรบางอย่าง เคยสังเกตไหมคะว่าเราจะรู้สึกเหนื่อยกว่าปกติ หายใจไม่ค่อยเต็มอิ่ม และเพลียไปทั้งร่างกาย นั่นก็เป็นเพราะความเครียด ความรู้สึกกดดัน อารมณ์เหล่านี้มีผลต่อร่างกายเราได้โดยตรง ดังนั้นเมื่อเครียดจากการเรียน การทำงาน หรือปัญหาชีวิต เราจึงมักจะรู้สึกเหนื่อยจนไม่อยากทำอะไร และบางคนก็มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย
ออกกำลังกายน้อยมาก
โดยเฉพาะคนที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่ทั้งวัน ไม่ค่อยลุกไปไหน ยิ่งไม่ออกกำลังกาย ไม่ขยับไปไหน ยิ่งเหนื่อย เพราะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดเป็นไปด้วยดี ร่างกายก็จะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า แต่หากขาดการออกกำลังกาย ร่างกายก็จะไม่แข็งแรง มีอาการเหนื่อยง่าย หรือที่เรียกกันว่าร่างกายไม่ฟิตปั๋งนั่นเอง
ลดน้ำหนักไม่ถูกวิธี
ไม่ว่าจะเป็นการอดอาหาร
ลดน้ำหนัก กินน้อยเกินไป การลดน้ำหนักแบบ IF หรือคีโตที่ไม่ถูกวิธี ล้วนส่งผลเสียต่อร่างกายได้ทั้งนั้น อย่างอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรงจากการที่ร่างกายขาดสารอาหารก็ด้วยเช่นกัน
ตั้งครรภ์
ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ และมีอาการประจำเดือนขาด เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
การรับประทานยาบางชนิด
เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้คลื่นไส้-อาเจียน ยาต้านเศร้า หรือยาระงับอาการปวดบางชนิด อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายได้
อาการเหนื่อยง่ายที่เกิดจากโรค หรือภาวะผิดปกติบางอย่าง
โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง หรือ Chronic Fatigue Syndrome (CFS)
ต่อมหมวกไตล้า
โรคลมหลับ
เป็นโรคที่เกี่ยวกับการนอนหลับโดยตรง ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนทั้งวัน สามารถหลับได้ทุกที่ แม้จะอยู่ในท่านั่ง ยืน หรือกำลังทำงานอะไรอยู่ ก็อาจมีอาการผล็อยหลับแบบเฉียบพลัน ทั้งยังจะมีอาการไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย อยากแต่จะนั่ง ๆ นอน ๆ ตลอดทั้งวัน ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยในวัย 15-25 ปี และวัยทำงานช่วงอายุ 35-45 ปี
- ง่วงนอนทั้งวัน หลับได้ทุกที่ ระวังให้ดีอาจเป็นโรคลมหลับ
โรคซึมเศร้า
ความอ่อนเพลียกับโรคซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กัน ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าสูง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็จะมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย เนื่องจากอาการนอนไม่หลับ ภาวะเบื่ออาหารจนทำให้ขาดสารอาหาร ความเครียด ภาวะขาดแรงบันดาลใจ รวมไปถึงผลของยาต้านเศร้าด้วย
- โรคซึมเศร้า อาการที่ควรรีบรักษา
โรคหัวใจ
อาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ร่วมกับอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก ขาบวม วูบบ่อย แม้จะไม่ได้ออกแรง หรือเพียงออกแรงเล็กน้อยก็ตาม อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจได้ ดังนั้นหากพบสัญญาณนี้ควรรีบไปพบแพทย์นะคะ
โรคปอด-ปอดอักเสบ
เมื่อใดที่ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ การหายใจรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายก็จะสะดุดไปด้วย ส่งผลให้หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม และมีอาการอ่อนเพลีย
ทั้งนี้ อาการหายใจหอบเหนื่อยยังแสดงให้เห็นถึงภาวะปอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ฯลฯ โดยมักจะมีไข้สูง หรือไอร่วมด้วย แต่กรณีที่ปอดอักเสบจากโรคโควิด 19 บางคนอาจจะมีไข้อย่างเดียว โดยที่ไม่เหนื่อย, บางคนอาจมีอาการไข้และไอร่วมด้วย และบางคนที่ไม่แข็งแรงอาจมีทั้งอาการไข้, ไอ และหอบ ซึ่งวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา และเอกซเรย์ปอด
โรคไทรอยด์
ภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติทั้งไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroid) หรือภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroid) จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซึ่งโรคนี้สังเกตอาการไม่ยากนะคะ หากเป็นไทรอยด์เกิน หรือไทรอยด์เป็นพิษ จะกินเท่าไรก็ไม่อ้วน ส่วนไทรอยด์ขาดจะอ้วนง่าย ดังนั้นถ้าสงสัยว่าจะป่วยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ได้เลย
- ท้องเสียบ่อย น้ำหนักลด ระวังไทรอยด์เป็นพิษ
โรคโลหิตจาง
เป็นอีกหนึ่งโรคที่เมื่อป่วยแล้วจะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะตอนที่ออกแรง ร่วมกับมีอาการตัวซีด ปากซีด ตัวเหลืองจนสังเกตเห็นได้ชัด เบื่ออาหาร หน้ามืด วิงเวียนบ่อย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น สาเหตุเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก สารอาหารสำคัญต่อการผลิตเม็ดเลือดแดงที่คอยส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- เช็กอาการโลหิตจาง สัญญาณไหนบอกได้บ้างว่าป่วย
โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ และเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลกับภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว แต่เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ ร่างกายก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน
- 10 สัญญาณอาการเบาหวาน เช็กได้ง่ายนิดเดียว
นอกจากนี้อาการเหนื่อยง่ายยังอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ เช่น
- ภูมิแพ้อากาศ
- จมูกอักเสบเรื้อรัง
- อุบัติเหตุบริเวณทรวงอกที่ถึงปอดและหัวใจ
- โรคสมองและประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Disease) เช่น หลอดเลือดเลี้ยงสมองตีบ โรคกล้ามเนื้อฝ่อ
- การพิการของกระดูกทรวงอกจำกัดการเคลื่อนไหวของทรวงอก ทำให้หายใจลำบาก ต้องออกแรงมากขึ้นจนเหนื่อย
- กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับและท้องอืด
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคตับระยะรุนแรง
อย่างไรก็ตาม แต่ละโรคนั้นจะมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนั้น ถ้าความเหนื่อยที่เป็นอยู่พักก็ไม่หาย เป็นเรื้อรังนาน ๆ อาจต้องลองพาตัวเองไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพกันหน่อยแล้วนะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมสุขภาพจิต, โรงพยาบาลพญาไท, หมอชาวบ้าน, articles.mercola