ส้มตำเป็นเมนูที่มีผักและสมุนไพรอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะละกอดิบ พริกขี้หนู กระเทียม มะนาว ผลมะกอก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว มะเขือ และยังมีผักสด เช่น ผักบุ้งนา กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว หรือยอดกระถิน เป็นผักแกล้มอีก ซึ่งประโยชน์ของผักต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีไฟเบอร์สูง มีสรรพคุณทางยา ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ และชะลอวัยได้
- ประโยชน์ของมะละกอ ผลไม้สรรพคุณเด่น เป็นได้ทั้งคาว-หวาน
- 13 ประโยชน์ของพริก ความแซ่บที่ซ่อนสรรพคุณสุดจี๊ดไว้มากมาย
- 9 ประโยชน์เพื่อสุขภาพของกระเทียม ที่คุณอาจคิดไม่ถึง
- มะเขือเทศ ประโยชน์ดี ๆ ของพืชสีแดง
- ผักบุ้ง สรรพคุณจัดเต็ม ของดีใกล้ตัว
- ผักกาดขาว สรรพคุณดี๊ดี แก้ท้องผูก บรรเทาหวัดก็ได้
- ประโยชน์ของมะนาว เปรี้ยวจี๊ด เปี่ยมสรรพคุณ
- ประโยชน์ของกะหล่ำปลี ผักดีต้องกิน
- ถั่วฝักยาว ประโยชน์ไม่ธรรมดา สรรพคุณทางยาไม่น้อยหน้าใคร
นอกจากนี้ ปู กุ้งแห้ง หรือปลาร้า ที่ใส่ลงไปในส้มตำ ก็เป็นเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนและแคลเซียม แต่ทั้งนี้ควรเลือกกินปู ปลาร้า หรือกุ้งที่ทำให้สุกแล้ว และเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน จึงควรกินส้มตำควบคู่กับอาหารอื่น ๆ ด้วย เช่น ข้าวเหนียว ขนมจีน ไก่ย่าง หรือลาบต่าง ๆ ซึ่งมีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตที่ทำให้อิ่มท้อง
* ท้องเสีย ท้องร่วง
ส้มตำมักจะใส่วัตถุดิบที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ดังนั้นโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคจากอาหารดิบก็มีมาก และส้มตำยังเป็นอาหารรสจัด ทั้งเปรี้ยว เผ็ด เค็ม รสชาติเหล่านี้อาจกระตุ้นระบบขับถ่ายของร่างกายได้ อาการท้องเสีย ท้องร่วงที่เป็นอยู่ก็อาจหนักขึ้นด้วย
* โรคเบาหวาน
แม้ส้มตำจะมีรสชาติแซ่บ จัดจ้าน แต่เมนูนี้ใส่น้ำตาลเยอะพอตัวเลยนะคะ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่จำเป็นต้องคุมน้ำตาลในเลือดควรระวังการกินส้มตำจะดีกว่า หรือถ้าอยากรับประทานก็จำกัดปริมาณให้ไม่มากจนเกินไป โดยอาจปรึกษาแพทย์ก็ได้ว่าสามารถรับประทานส้มตำแบบไหนถึงไม่กระทบกับสุขภาพและระดับน้ำตาลในเลือด
* หญิงตั้งครรภ์
ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย และมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นจึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี พยายามกินอาหารน้ำตาลต่ำ รวมทั้งอาหารโซเดียมต่ำด้วย โดยอาจจะลองปรึกษาสูตินรีแพทย์ก็ได้ว่ากินส้มตำได้มาก-น้อยแค่ไหน เพราะสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์แต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก็จะได้ข้อมูลที่เหมาะสมที่สุด
* โรคไต
อย่างที่บอกว่าส้มตำเป็นอาหารรสจัด มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตที่ควรระวังโซเดียมก็ไม่ควรกินส้มตำบ่อยจนเกินไป
* โรคความดันโลหิตสูง
ปริมาณโซเดียมที่มากเกินไปอาจส่งผลกับระดับความดันโลหิตได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ก็ต้องระมัดระวังอาหารโซเดียมสูงอย่างส้มตำไว้ด้วย
* โรคหัวใจ
อีกหนึ่งโรคเรื้อรังที่ควรหลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูง และควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพราะทั้งโซเดียมและน้ำตาลในเลือดต่างก็มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งสำคัญกับการทำงานของหัวใจ ดังนั้นพยายามดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อให้หัวใจทำงานได้อย่างปกติสุขจะดีกว่า
การกินส้มตำอย่างปลอดภัยและได้สุขภาพที่ดี ควรคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้เลย
* ความสะอาด
ทั้งความสะอาดของวัตถุดิบ เครื่องปรุง และความสะอาดของอุปกรณ์อย่างครก สาก ภาชนะที่ใส่ รวมถึงความสะอาดของสถานที่ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่อาจแฝงมาได้ และลดความเสี่ยงกินส้มตำแล้วท้องเสีย อ้อ ! อย่าลืมสังเกตถั่วลิสง กุ้งแห้ง กระเทียม วัตถุดิบที่เป็นของแห้งอื่น ๆ ด้วยนะคะ ของเหล่านี้ควรเก็บอย่างมิดชิด ไม่อยู่ในที่อับชื้น เพราะอาจมีเชื้อราอย่างอะฟลาทอกซินซึ่งเป็นอันตรายต่อตับ และอาจก่อมะเร็งได้
* กินตำถาดที่ปลอดภัย
หากเป็นส้มตำถาดควรมีใบตองรอง จานรอง ถาดเป็นถาดสเตนเลสเกลี้ยง ๆ ไม่มีลวดลายและสีสันฉูดฉาด เพราะกรดอย่างน้ำมะนาวหรือน้ำมะขามอาจกัดกร่อนสารตะกั่ว แคดเมียม ที่เป็นโลหะหนักจากถาดสังกะสีที่มีลวดลายต่าง ๆ ได้
* ตำกินเอง
หากเราตำส้มตำกินเองเราจะควบคุมทั้งความสะอาด และรสชาติที่ไม่หวานจัด เค็มจัด หรือปริมาณผงชูรสเยอะ ๆ ได้ ดังนั้นหากเป็นคนชอบกินส้มตำมากจริง ๆ ลองตำส้มตำแบบคลีน ๆ โดยไม่ใส่น้ำตาล หรือใส่ปริมาณน้อย เลือกน้ำตาลที่ดีต่อสุขภาพอย่างหญ้าหวาน หรือสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล รวมไปถึงปรุงรสไม่หวานจัด เค็มจัด และเผ็ดจัด
* กินส้มตำแต่พอเหมาะ
อย่างที่บอกว่าไม่ควรกินส้มตำเกินสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและโซเดียมจากส้มตำมากเกินไป และเป็นการเปิดโอกาสให้ร่างกายได้กินอาหารที่หลากหลายด้วย หรือถ้าชอบกินส้มตำปูเค็ม หรือปลาร้า ซึ่งไม่ได้ปรุงสุก ให้กินแค่สัปดาห์ละครั้งก็พอ
* ไม่ควรกินส้มตำตอนท้องว่าง
มะละกอดิบมียางที่อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร อีกทั้งรสจัดจ้านจากพริกและกรดจากน้ำมะนาว น้ำมะขามในส้มตำยังอาจทำให้แสบท้องได้ ดังนั้นจึงไม่ควรกินส้มตำขณะที่ท้องว่าง โดยควรกินข้าวเหนียว ไก่ย่าง หรือขนมจีนรองท้องไปก่อน
* เคี้ยวให้ละเอียด
กินส้มตำแต่ละครั้งควรเคี้ยวให้ละเอียด เพราะเส้นมะละกอดิบค่อนข้างย่อยยาก ดังนั้นเพื่อช่วยให้ระบบอาหารย่อยส้มตำได้ง่ายและดีขึ้น ก็อย่ารีบเคี้ยวรีบกลืนส้มตำจนเกินไปนะคะ