อาการปวดหัวกับโควิด 19 เกี่ยวกันอย่างไร และอาการปวดหัวในลักษณะไหนต้องสงสัยโควิด ต้องรีบเช็ก
1. เชื้อไวรัสเข้าสู่สมอง
2. เชื้อไวรัสกระตุ้นการอักเสบ
3. เชื้อไวรัสเข้าไปยังน้ำหล่อเลี้ยงสมอง
อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวก็อาจเป็นอาการแสดงของภาวะอื่น ๆ ด้วย เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ไมเกรน ความเครียด หรือแม้แต่โรคออฟฟิศซินโดรม ดังนั้นควรต้องเช็กให้ดีว่าอาการปวดหัวแบบไหนเข้าข่ายอาการโควิด 19
ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการปวดหัว มักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว
- เจ็บคอ
- มีน้ำมูก
- เวียนศีรษะ
- จมูกไม่ได้กลิ่น
- ลิ้นไม่รับรส
- ไอแห้ง ๆ
- ถ่ายเหลว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หายใจถี่ หอบเหนื่อย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลจาก ZOE COVID Symptom Study เผยว่า อาการปวดหัวอาจเป็นอาการแสดงนำของโรคโควิด 19 มากกว่าอาการอื่น ๆ โดยในผู้ใหญ่จะมีอาการนี้ประมาณ 70% ส่วนในเด็กอยู่ที่ 60% แต่ทั้งนี้ก็อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไปนะคะ เพราะอย่างที่บอกว่าอาการปวดหัวก็เกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนั้นลองมาเช็กให้ดี ๆ ว่าอาการปวดหัวแบบไหนอาจใช่โควิด 19
อย่างที่บอกว่าอาการปวดหัวเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก ๆ แต่หากมีอาการปวดหัวดังต่อไปนี้ ก็อาจต้องนึกถึงโควิด 19 ไว้หน่อย
1. มีอาการปวดหัวแบบรวดเร็ว โดยมีความรุนแรงปานกลางจนถึงปวดมาก
2. กินยาก็ไม่หาย หรือกินยาแล้วดีขึ้น แต่หลังยาหมดฤทธิ์จะรู้สึกปวดหัวซ้ำได้อีก
3. อาการปวดจะชัดที่บริเวณขมับ หน้าผาก หรือรอบกระบอกตา โดยจะรู้สึกปวดหัวทั้ง 2 ข้าง
4. ปวดหัวตุ้บ ๆ เป็นจังหวะเหมือนเส้นเลือดเต้นได้ หรือปวดหัวเหมือนมีอะไรบีบรัด
5. อาจรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อโน้มตัวไปข้างหน้า ออกแรงไอ จาม หรือเมื่อเอนตัวลงนอน
6. มีอาการติดต่อกัน 3-5 วัน หรืออาจนานถึง 2 สัปดาห์
ปวดหัวจากโควิด 19
- ปวดหัวทั้งสองข้าง
- รู้สึกปวดหัวตุ้บ ๆ บีบรัดไปทั่วทั้งศีรษะ
- รู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อโน้มตัวไปข้างหน้า ไอ จาม
- มีไข้ร่วมด้วย
- อาการปวดจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับอุณหภูมิ แสง หรือเสียง
ปวดหัวจากไมเกรน
- มักปวดหัวข้างใดข้างหนึ่ง บางรายอาจปวดทั้งสองข้าง หรือปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วค่อยย้ายสลับข้าง
- มีอาการปวดหัวตุ้บ ๆ เป็นจังหวะ บริเวณขมับ อาจปวดร้าวมาที่กระบอกตา เบ้าตา หรือท้ายทอย
- ไม่มีไข้
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- มีอาการปวดหัวเมื่อเจออากาศร้อนมาก ๆ เจอแสงจ้า ๆ เสียงดัง
- บางคนจะมีอาการเตือนนำ คือ เห็นแสงไฟสีขาว ๆ มีขอบหยึกหยัก หรือภาพเบลอ ภาพบิดเบี้ยว เตือนนำมาก่อนเริ่มปวดหัว 10-30 นาที
- มักสัมพันธ์กับรอบเดือน คืออาจมีอาการปวดหัวในช่วงก่อนประจำเดือนมา 1 วัน จนถึง 3 วัน หลังประจำเดือนมาวันแรก
- บางคนปวดหัวมากจนทำอะไรไม่ได้
สำหรับวิธีรักษาอาการปวดหัวจากโควิด 19 มีคำแนะนำ ดังนี้
* พักผ่อนให้มาก ๆ
* นวดเบา ๆ บริเวณหน้าผากและขมับ
* ประคบเย็นบริเวณหน้าผาก เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะและช่วยให้ไข้ลดลง
* รับประทานยาแก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอล หรือหากปวดหัวมาก สามารถกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือยาแก้ปวดกลุ่ม Triptan เช่น ไอบูโพรเฟน ได้
สรุปว่าใครที่มีอาการปวดหัวก็อย่าเพิ่งตกใจว่าติดโควิด 19 แล้ว ขอให้ลองสังเกตดูว่ามีอาการปวดหัวต่อเนื่องหลายวัน กินยาก็ไม่หาย พักผ่อนแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น และมีอาการอื่น ๆ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น หายใจไม่สะดวก ถ่ายเหลว ซึ่งเป็นอาการร่วมของโควิดด้วยหรือไม่ ถ้ามีควรรีบไปตรวจหาเชื้อหรือพบแพทย์โดยด่วนนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหัว กับอาการโควิด
► ปวดหัวบ่อย เกิดจากอะไร ส่งสัญญาณอันตรายอะไรหรือเปล่า ?
► ปวดหัวแบบไหนผิดปกติ เช็กสักนิดแล้วรีบไปหาหมอ
► ไมเกรน ปวดหัวเรื้อรังต้องระวัง ยังเสี่ยงเกิดโรคแบบนี้ด้วย
► อาการปวดหัว 14 ชนิด รักษาแบบนี้สิถึงตรงจุด
► นอนตอนเย็นแล้วปวดหัว เป็นเพราะอะไรกันนะ ?
► ก้มหน้าแล้วปวดหัว เวียนหัวเวลาหัน อาการนี้อาจไม่ปกติ
► ดื่มน้ำเย็นแล้วปวดหัวจี๊ด เคสนี้อันตรายไหม แก้ยังไงให้รู้สึกสบายขึ้น
โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
โรงพยาบาลพระราม 9
medicalnewstoday.com
healthline.com
novanthealth.org
prevention.com