โรคคอพอก เกิดจากอะไร อาการแบบไหนเสี่ยง !

           โรคคอพอก โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ มีสาเหตุและอาการอย่างไร ถ้าเป็นแล้วรักษาหายไหม มีอาหารอะไรบ้างที่ควรกิน พร้อมวิธีป้องกัน

          อย่างที่รู้กันดีว่าโรคคอพอกส่วนใหญ่เกิดจากการขาดสารไอโอดีน แม้ว่าอาการของโรคอาจไม่ได้ถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนโรคร้ายแรงอื่น ๆ แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีการรักษา และการป้องกันก็จะทำให้มีผลกระทบต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้นดีกว่า

โรคคอพอก เกิดจากสาเหตุใด
โรคคอพอก

           โรคคอพอก (Goiter) เป็นหนึ่งในความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีขนาดโตขึ้นผิดปกติจนสามารถมองเห็นหรือคลำพบ ถ้ามองด้วยตาอาจเห็นว่าโตขึ้นเป็นก้อนเนื้อก้อนเดียว หรือเป็นก้อนเนื้อตะปุ๋มตะป่ำก็ได้ โดยคอพอกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก คือคอพอกชนิดไม่เป็นพิษ กับคอพอกชนิดเป็นพิษ

1. คอพอกชนิดไม่เป็นพิษ

          เกิดได้หลายสาเหตุ แต่โดยส่วนใหญ่เกิดจากการขาดไอโอดีน สารสำคัญที่จำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ เช่น ฮอร์โมนไทรอกซิน ซึ่งควบคุมระบบเผาผลาญของร่างกาย และจำเป็นต่อการพัฒนาสติปัญญา เมื่อร่างกายได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอจะส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อดักจับไอโอดีนในอาหารมาผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ จึงขยายตัวใหญ่ขึ้นกลายเป็นโรคคอพอก

2. คอพอกชนิดเป็นพิษ

          เกิดจากต่อมไทรอยด์สร้างและหลั่งฮอร์โมนออกมามากเกินไป โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าร่างกายได้สร้างสารบางอย่างออกมากระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานมากขึ้น จึงมีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายซูบผอม คอพอกชนิดนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม และพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 7-8 เท่า

          นอกจากนี้ คอพอกยังอาจเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น

  • โรคเกรฟส์ (Graves' Disease) เป็นสาเหตุของอาการคอพอกชนิดเป็นพิษที่พบได้บ่อยที่สุด อาการแสดงที่เห็นชัดคือ คอพอกตาโปน
  • โรคฮาชิโมโต ไทรอยด์ (Hashimoto's Thyroiditis) เกิดจากภูมิคุ้มกันไปทำให้ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังและทำงานได้ลดลง
  • มีก้อน ซีสต์ หรือเนื้องอกเกิดในต่อมไทรอยด์
  • เกิดการอักเสบที่ต่อมไทรอยด์
  • การได้รับสารบางชนิด หรือยาบางอย่าง  
  • การตั้งครรภ์ที่ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดขึ้นมาและอาจไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้น
ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคคอพอก

     - เด็กหรือทารกที่ได้รับไอโอดีนจากอาหารไม่เพียงพอ หรือมีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์แต่กำเนิด

     - มารดาตั้งครรภ์ที่เป็นโรคไทรอยด์

     - มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์

     - ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง 

     - ผู้ที่เคยเข้ารับการฉายรังสีบริเวณลำคอหรือหน้าอก 

     - ผู้ที่กำลังกินยาบางชนิด เช่น อะมิโน ไทอะโซล (Amino thiazole) หรือยาไทโอ ไซยะเนต (Thiocyanate) ซึ่งเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง มีฤทธิ์กันไม่ให้ต่อมไทรอยด์รวมไอโอดีน เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง ก็ทำให้ผลิตสารไทรอกซินที่ใช้ในต่อมไทรอยด์น้อยลงด้วย จึงเสี่ยงโรคคอพอก

     - คนที่ไม่ชอบกินอาหารทะเลหรือไม่ชอบกินอาหารปรุงรสด้วยเกลือผสมไอโอดีน

อาการของโรคคอพอก
โรคคอพอก

           โรคคอพอกแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดไม่เป็นพิษ กับ ชนิดเป็นพิษ ซึ่งจะมีอาการแตกต่างกันดังนี้

1. อาการคอพอกชนิดไม่เป็นพิษ

          เนื่องจากขาดสารไอโอดีนทำให้มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ ถ้าพบในผู้ใหญ่จะมีทั้งชนิดที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้นชัดเจน และชนิดที่ต่อมไทรอยด์ไม่โตกว่าปกติ ลักษณะอาการจะมีความเชื่องช้า ไม่กระฉับกระเฉง เหนื่อยง่าย เสียงแหบ ผิวแห้ง ผมร่วงง่าย ท้องผูก อ้วนขึ้น ขี้หนาว พูดช้า เพราะปริมาณฮอร์โมนไทรอกซินต่ำ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ ได้ง่าย ส่วนเด็กและวัยรุ่นที่ขาดสารไอโอดีนก็จะมีพัฒนาการช้า ร่างกายแคระแกร็น มีปัญหาด้านสติปัญญา

          สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่บริโภคไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ผิดปกติ แท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งเด็กที่คลอดออกมาอาจเป็นโรคคอพอกได้สูง อีกทั้งร่างกายและสมองเติบโตช้า ระบบประสาทและการเคลื่อนไหวผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกเกิด เมื่อเด็กโตขึ้น ตัวจะเตี้ยแคระแกร็น พุงป่อง พัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญาได้เลย

2. อาการคอพอกชนิดเป็นพิษ

          เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างและหลั่งฮอร์โมนมากกว่าปกติ ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานตลอดเวลา ส่งผลให้มีอาการหัวใจเต้นเร็วและแรง ใจสั่น เหนื่อยง่าย มักเป็นคนขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ชอบอากาศเย็น ๆ แต่มือจะอุ่น และมักมีเหงื่อออกชุ่ม อาจรู้สึกอยู่ไม่สุข หงุดหงิด กินจุแต่ไม่อ้วน น้ำหนักลด ขับถ่ายบ่อย กล้ามเนื้อต้นแขนต้นขามักอ่อนแรง ถ้าเป็นมาก ๆ จะก้าวขึ้นบันไดหรือรถเมล์ไม่ไหว กรณีมีสาเหตุจากโรคเกรฟส์ ลูกตาจะโปนถลน อาจมองเห็นภาพซ้อนกันอยู่เสมอ

          ส่วนอาการคอพอกที่เกิดจากอาการป่วยหรือภาวะอื่น ๆ ทางร่างกาย ก็จะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามอาการเฉพาะของโรคนั้น ๆ

โรคคอพอก รักษาหายไหม
โรคคอพอก

          วิธีรักษาคอพอกนั้นแตกต่างกันไปตามอาการที่เป็น โดยกรณีคอพอกไม่เป็นพิษ อาจไม่จำเป็นต้องมีการรักษาถ้าการทำงานของต่อมไทรอยด์ปกติ และขนาดต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก เพียงเลือกกินอาหารที่มีธาตุไอโอดีนสูง เช่น อาหารทะเล สาหร่ายทะเล หรือปรุงรสด้วยเกลือผสมไอโอดีน ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น

          ส่วนใครที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง อาจรักษาด้วยยาไทรอยด์ฮอร์โมนเมื่อพบมีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือให้กลืนสารไอโอดีนกัมมันตรังสีเมื่อมีอาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ รวมทั้งอาจมีการผ่าตัด หากต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่มากจนส่งผลกระทบต่อการหายใจหรือการกลืนอาหาร
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคคอพอก

          เมื่อป่วยด้วยโรคนี้ควรพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอยู่เสมอ และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยกินยาให้ครบโดสตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง เพราะจะมีผลต่อการรักษา

          นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียง พยายามลดความเครียด และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

โรคคอพอกควรกินอะไร อาหารประเภทใดเหมาะสม
โรคคอพอก

           ใครที่เป็นโรคคอพอกทั้งอาการคอพอกไม่เป็นพิษและคอพอกเป็นพิษ การเลือกรับประทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้อาการคอพอกดีขึ้น

อาหารสำหรับอาการคอพอกไม่เป็นพิษ

  • รับประทานอาหารที่มีธาตุไอโอดีนสูง เช่น อาหารทะเล ปลาทะเล ปลาทู ปลาเก๋า ปลาจะละเม็ดขาว ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้ง หอยนางรม หอยแมลงภู่ สาหร่ายทะเล เป็นต้น

  • ปรุงอาหารด้วยเกลือเสริมไอโอดีน โดยเลือกซื้อเกลือที่ระบุว่า "เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน" และมี อย. กำกับ เพราะหากใช้เกลือทะเลทั่วไปจะมีปริมาณไอโอดีนไม่เพียงพอ 

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีน เช่น ไข่สดเสริมไอโอดีน (กรณีมีภาวะไขมันในเลือดสูงต้องระวัง), บะหมี่เสริมไอโอดีน, ซอสปรุงรสเสริมไอโอดีน เป็นต้น

  • ไม่ควรรับประทานกะหล่ำปลีดิบ ผักกาดดิบ แครอตดิบ บรอกโคลีดิบ ในปริมาณมากหรือกินเป็นประจำ แต่ควรทำให้สุกก่อนรับประทาน เพราะในผักประเภทนี้มีสารกอยโตรเจน ซึ่งจะทำให้ร่างกายนำไอโอดีนไปใช้สร้างฮอร์โมนไทรอกซินได้น้อยกว่าปกติ จึงมีโอกาสเกิดคอพอกได้

          แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคอพอกเป็นพิษควรงดรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีการสร้างฮอร์โมนเกินความจำเป็นอยู่แล้ว ถ้าหากได้รับอาหารที่มีไอโอดีนเข้าไปอีกจะยิ่งกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้

          หลังจากทราบคร่าว ๆ ว่าอาหารที่เหมาะสมสำหรับอาการคอพอกไม่เป็นพิษมีอะไรบ้าง คราวนี้เรามาดูอาหารเพื่อปรับสมดุลไทรอยด์ที่สามารถรับประทานได้ทั้งผู้ป่วยคอพอกปกติและคอพอกเป็นพิษ

  • กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี องุ่น ชาเขียว ถั่วเปลือกแข็ง และธัญพืชชนิดต่าง ๆ เนื่องจากจะช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของต่อมไทรอยด์

  • กินอาหารที่มีธาตุเหล็กและสังกะสี เช่น ตับ เลือด ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักโขม เห็ดฟักทอง ถั่วเหลือง ถั่วขาว เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เพื่อปรับสมดุลการทำงานของต่อมไทรอยด์

  • เสริมวิตามินที่จำเป็น โดยเฉพาะวิตามินบีรวม ซึ่งมีความสำคัญกับระบบการทำงานของต่อมไทรอยด์ 

วิธีป้องกันโรคคอพอก

          กรณีโรคคอพอกเป็นพิษที่เกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนมากเกินไป หรือเกิดจากภาวะการเจ็บป่วยอื่น ๆ อาจจะยังไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด

          แต่สำหรับโรคคอพอกไม่เป็นพิษที่เกิดจากภาวะขาดไอโอดีน สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีน เช่น อาหารทะเลหรือเกลือเสริมไอโอดีน ให้ได้ปริมาณ 150 ไมโครกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือเสริมไอโอดีน 1 ช้อนชา ก็จะช่วยป้องกันโรคคอพอกที่มีสาเหตุจากการขาดไอโอดีนได้

           หลังจากเรารู้สาเหตุและการป้องกันโรคคอพอกไปแล้ว น่าจะเป็นแนวทางในการสังเกตอาการและการดูแลสุขภาพต่อไป สำหรับใครที่เป็นโรคคอพอกก็ไม่ต้องกังวลใด ๆ เพราะตราบใดที่เรายังดูแลตัวเอง ไปพบแพทย์สม่ำเสมอ เชื่อแน่ว่าจะหายได้ในไม่ช้า

บทความที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคคอพอก เกิดจากอะไร อาการแบบไหนเสี่ยง ! อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2564 เวลา 15:33:07 51,899 อ่าน
TOP
x close