โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ไหม แล้วคำนิยามของโรคประจำถิ่นคืออะไร ลองมาทำความรู้จักกัน
หลังจากโควิดโอมิครอนที่ดูเหมือนจะมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ได้กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในหลายประเทศ ก็ทำให้มีการพูดถึงแนวโน้มที่โควิด 19 จะเปลี่ยนจากโรคระบาดใหญ่ กลายเป็นโรคประจำถิ่น หลายคนที่ติดตามข่าวจึงอาจสงสัยว่าโรคประจำถิ่นคืออะไร แล้วโรคระบาดที่ปั่นป่วนคนทั่วโลกมานานนับปีอย่างโควิด 19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้หรือไม่ เอาเป็นว่าวันนี้เรามาไขข้อสงสัยไปพร้อมกันเลยดีกว่า

โรคประจำถิ่น ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Endemic คือโรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะในพื้นที่นั้น ๆ มีการแพร่กระจายและสามารถคาดเดาการติดเชื้อได้ อัตราป่วยคงที่ ซึ่งโรคระบาดเองก็แบ่งได้ตามระดับด้วยเช่นกัน โดยมี 4 ระดับ ดังนี้
1. โรคประจำถิ่น (Endemic)
2. การระบาด (Outbreak)
3. โรคระบาด (Epidemic)
4. การระบาดครั้งใหญ่ การระบาดทั่วโลก (Pandemic)

สำหรับข้อสงสัยนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยออกมาชี้แจงไว้แล้วว่า การที่โรคระบาดอย่างโควิด 19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ ต้องเข้าเกณฑ์ 3 ข้อด้วยกัน คือ
-
เชื้อก่อโรคลดความรุนแรงลง โดยสอดคล้องกับสถานการณ์โควิดโอมิครอนในปัจจุบันที่แม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 อยู่ที่ประมาณ 1 ราย ต่อผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย หรือไม่ถึง 1%
2. ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งจากการได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อน
3. ในประเทศมีระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมหรือชะลอการระบาดของโรคได้อย่างดี
ทั้งนี้ ภาครัฐและประชาชนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในเรื่องชะลอการระบาดของโรค และเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน จึงจะเข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ และอาจนำพาโรค COVID-19 ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ในอนาคต
กับการเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด 19
แม้หลายประเทศเตรียมยกให้โควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ทว่าทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงไม่เห็นด้วยนัก พร้อมอธิบายว่าคงเร็วเกินไปหากจะสรุปเองว่าโควิด 19 ไม่ต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะอาจทำให้มาตรการป้องกันโรคหย่อนยานลงไปโดยไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถคาดการณ์อัตราการกระจายของโรคได้ และถึงแม้ว่าทุกฝ่ายจะประเมินว่าในที่สุดโควิด 19 ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ยังไม่ใช่เวลานี้
ขณะที่ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินของ WHO ระบุว่า คำว่าโรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่าดี แค่หมายความว่าจะคงอยู่ตลอดไป ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ เร่งฉีดวัคซีนในประชากรโลกให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้เกิดโรคน้อยและไม่ให้มีใครต้องเสียชีวิต นั่นจึงจะหมายถึงการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่
บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 และการฉีดวัคซีนโควิด
- เทียบ 8 สูตรวัคซีนโควิด 19 ฉีดแบบไหนมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนสูงสุด
- วัคซีนเข็ม 3 ฉีดได้เมื่อไหร่ ควรเลือกฉีดสูตรไหน ยี่ห้ออะไร เป็นบูสเตอร์โดส
- วัคซีนไฟเซอร์เด็ก 5-11 ขวบ มีประสิทธิภาพแค่ไหน ผลข้างเคียงเป็นยังไง ผู้ปกครองควรรู้ !
- เช็กอาการหลังฉีดวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ผลข้างเคียงมีอะไรบ้างที่ควรระวัง
- อาการหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แบบไหนไม่รุนแรง-แบบไหนต้องระวังใน 30 วัน
- อาการหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca แบบไหนต้องเฝ้าระวังใน 4-30 วัน
- โอมิครอนอาการต่างจากเดลตาอย่างไร เช็ก 8 อาการที่พบได้ วัคซีนป้องกันได้แค่ไหน ?
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูล COVID19 (1), (2), เฟซบุ๊ก โฆษกกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข, รัฐบาลไทย, TNN, กรุงเทพธุรกิจ