ยาคุมห้ามกินกับยาอะไร กินกับยาพาราฯ หรืออาหารเสริมจะมีผลข้างเคียงไหม

           ยาคุมห้ามกินกับยาอะไร สาว ๆ ที่เลือกคุมกำเนิดด้วยยา ควรต้องเช็กให้รู้ชัดกันหน่อยว่าเรากินยาคุมร่วมกับยาอื่นได้ไหม โดยเฉพาะอาหารเสริม คอลลาเจน กลูตาไธโอน เป็นต้น
ยาคุมกำเนิด

           ยาคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดด้วยตัวยาที่มีฮอร์โมนชนิดที่ช่วยยับยั้งการตกไข่ ทำให้ไข่ไม่ตกมาผสมกับเชื้ออสุจิจนเกิดการปฏิสนธิได้ และคนที่กินยาคุมกำเนิดกันอยู่แล้วคงพอทราบกันดีว่า ถ้าอยากให้ยาคุมออกฤทธิ์ได้ดีก็ควรกินยาคุมให้ตรงเวลา เพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายมีความสม่ำเสมอ ทว่านอกจากการกินยาคุมให้ตรงเวลาและให้ถูกวิธีแล้ว ยังมีข้อควรระวังเมื่อกินยาคุมร่วมกับยาอื่นด้วย ซึ่งวันนี้เราจะพามาดูกันว่าไม่ควรกินยาคุมกับยาอะไรบ้าง เพราะอาจเสริมผลข้างเคียงของยาคุม หรือลดประสิทธิภาพของตัวยาคุมกำเนิดได้

ยาคุมห้ามกินกับยาอะไร

ยาคุมกำเนิด

กลุ่มยาที่ไม่ควรกินร่วมกับยาคุม เพราะลดการดูดซึม หรือกำจัดยาคุมกำเนิด

  • ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin), ยากลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracyclines) เช่น เตตราไซคลิน (Tetracyclines), ด็อกซีไซคลิน (Doxycyclin), ออกซีเตตราไซคลิน (Oxytetracycline), ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillins) เช่น แอมพิซิลลิน (Ampicillin), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) 

  • ยากันชัก (Epilepsy, Phenytoin, Phenobarb, Primidone) 

  • ยาต้านเชื้อราใช้รักษาโรคติดเชื้อหรืออาการคัน (Griseofulvin, Ketoconazole, Itraconazole)

  • ยาแก้ปวดชนิดแอสไพริน, เฟนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone), อะมิโดไพริน (Amidopyrine)

  • ยาไมเกรน Dihydroergotamine

  • ยารักษาภูมิแพ้ 

  • ยาจิตเวช เช่น ยาที่ใช้ควบคุมอารมณ์ (Stabilizers) หรือยาต้านอาการซึมเศร้า (Meprobamate, chlordiazepoxide)

  • ยาต้านเนื้องอก Cyclophosphamide

  • ยารักษาวัณโรคไรแฟมพิน (Rifampin)

  • ยาต้านเชื้อ HIV ชนิด Darunavir, Efavirenz, Lopinavir/ritonavir, Nevirapine 

กลุ่มยาที่ไม่ควรกินร่วมกัน เพราะอาจเพิ่มผลข้างเคียงของยาได้

ยาคุมกำเนิด

  • ยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอล ที่อาจทำให้อาการแพ้ยาคุม ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เพิ่มขึ้นได้

  • ยาคลายเครียด (Diazepam, Alprazolam, Nitrazepam, Chlordiazepoxide) อาจเสริมฤทธิ์กดประสาท ทำให้นอนหลับนานขึ้น หรือมีอาการมึนงงมากขึ้นกว่าปกติ

  • ยาแก้หอบหืด (Theophylline) อาจเพิ่มโอกาสทำให้ใจสั่น

  • ยารักษาโรคลมหลับ โมดาฟินิล (Modafinil)

  • มอร์ฟีน อาจทำให้ฤทธิ์บรรเทาปวดลดลง

  • สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St John's Wort) ที่นิยมใช้ต้านเศร้า คลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ ที่อาจลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนได้

กินยาคุมร่วมกับอาหารเสริมได้ไหม

กินยาคุมกับกลูตาไธโอน

          ยาคุมกำเนิดอาจเสริมฤทธิ์การดูดซึมกลูตาไธโอน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงผลข้างเคียงอย่างการมองเห็นสีผิดปกติไป และกลูตายังอาจลดการดูดซึมยาคุมกำเนิดได้ด้วย

กินยาคุมกับวิตามินซี

          วิตามินซีจะช่วยดูดซึมยาคุมกำเนิดมากขึ้น ทำให้อาจเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น คือ คลื่นไส้ อาเจียน

กินยาคุมกับคอลลาเจน

           ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่ปัจจุบันยังถือว่าการกินยาคุมกำเนิดร่วมกับคอลลาเจนไม่ได้ส่งผลกระทบใดต่อกัน

กินยาคุมกับน้ำมันปลา

           มีข้อมูลว่า ยาคุมกำเนิดบางชนิดอาจไปลดประสิทธิภาพการทำงานของน้ำมันปลาที่ช่วยในเรื่องการลดไขมันไตรกลีเซอไรด์

ข้อควรระวัง
ในการใช้ยาคุมกำเนิดร่วมกับยาอื่น

ยาคุมกำเนิด

         หากจำเป็นต้องกินยาคุมกำเนิดร่วมกับยาอื่น อาจต้องปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • เว้นระยะห่างระหว่างยาชนิดอื่นกับยาคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 ชั่วโมง โดยควรกินยาคุมกำเนิดตรงตามเวลาเดิมที่เคยกินมาตลอด

  • ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่ใช้ยาอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มยาฆ่าเชื้อ หรือควรเพิ่มการคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยตลอดการใช้ยาไปจนถึง 7 วัน หลังหยุดใช้ยาอื่น

  • ไม่ควรเพิ่มขนาดยาคุมกำเนิด หรือเปลี่ยนไปใช้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนสูงขึ้น  

  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอว่ากำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง รวมถึงยาคุมกำเนิดด้วย

          ถ้าอยากให้ยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้อย่างเต็มที่ ควรกินยาคุมกำเนิดอย่างถูกวิธี หรือหากจะกินยาอื่นร่วมด้วยก็ต้องปรึกษาเภสัชกรก่อนทุกครั้งด้วยนะคะ หรือหากจะให้ชัวร์ ๆ ก็สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันท้องไม่พร้อมและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไปด้วยในตัว

บทความที่เกี่ยวข้องกับยาคุมกำเนิด

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (1), (2), คมชัดลึก (1), (2), เฟซบุ๊ก ผู้หญิงไม่ยอมแพ้- Never Surrender, webmd.com (1), (2), hellopharmacist.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาคุมห้ามกินกับยาอะไร กินกับยาพาราฯ หรืออาหารเสริมจะมีผลข้างเคียงไหม อัปเดตล่าสุด 3 ตุลาคม 2566 เวลา 15:30:43 83,144 อ่าน
TOP
x close