กินเจ กินยาได้ไหม หลาย ๆ คนมักมีข้อสงสัยว่ากินเจห้ามกินอะไรบ้าง อย่างคอลลาเจน วิตามินซี อาหารเสริมต่าง ๆ กินไปจะทำให้เจแตกหรือเปล่า เราจะพามาเช็กข้อมูลกัน

เทศกาลกินเจเป็นช่วงที่เราจะได้สร้างบุญกุศลด้วยการงดเว้นเนื้อสัตว์ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และอบายมุขต่าง ๆ ซึ่งนอกจากพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม แล้ว ในส่วนของยา วิตามิน และอาหารเสริมบางชนิด ก็ควรงดเว้นด้วยเช่นกัน เพราะอาจมีส่วนประกอบจากสัตว์ได้ ดังนั้นเพื่อให้การกินเจปีนี้สำเร็จลุล่วงรับบุญกันไปเต็ม ๆ ลองมาเช็กกันเลยว่า กินเจ กินคอลลาเจนได้ไหม แล้วสามารถกินวิตามินหรือยาชนิดต่าง ๆ ได้หรือเปล่า
กินเจกินยาหรือวิตามินได้ไหม
มาดูกันค่ะว่า ยา-วิตามิน-อาหารเสริมแต่ละตัว ถ้าเรากำลังกินเจอยู่จะเจแตกไหม
ยาและวิตามินชนิดแคปซูล

วิตามินหรือยาที่อยู่ในรูปแบบแคปซูลส่วนใหญ่จะไม่เจ เพราะตัวแคปซูลเป็นเจลาตินที่ผลิตมาจากกระดูกสัตว์ แต่ก็จะมีแคปซูลบางชนิดที่ระบุว่าทำมาจากพืช (Plant based) ด้วยนะคะ ดังนั้นหากจำเป็นจะต้องกินวิตามินหรือยาชนิดแคปซูล ลองเช็กส่วนประกอบดูดี ๆ หรือถามเภสัชกรก่อนก็ได้ แต่สำหรับคนที่เคร่งครัดในการถือศีลกินเจจริง ๆ และจำเป็นต้องกินแคปซูลที่ผลิตมาจากสัตว์ อาจใช้วิธีแกะแคปซูลออกแล้วกินเฉพาะยาก็ได้
น้ำมันปลา

น้ำมันปลา หรือ Fish oil ที่หลายคนกินเพื่อบำรุงสมอง บำรุงร่างกาย เป็นน้ำมันที่สกัดมาจากส่วนหนัง เนื้อ หัว และหางของปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ซึ่งแน่นอนว่าไม่เจ 100% ดังนั้นหากไม่ได้จำเป็นต้องกินน้ำมันปลาตามที่แพทย์สั่ง ช่วงกินเจก็ควรงดไปก่อน
โอเมก้า 3

กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่วางจำหน่ายในรูปแบบอาหารเสริม ส่วนใหญ่เป็นโอเมก้า 3 ที่สกัดมาปลาทะเลน้ำลึก ดังนั้นช่วงกินเจก็ควรงดเว้นไปก่อน หรือไปรับกรดไขมันโอเมก้า 3 จากพืช เช่น อะโวคาโด เมล็ดเจีย ถั่วดาวอินคา เป็นต้น
คอลลาเจน

คอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมก็สกัดมาจากสัตว์ เช่น ปลาทะเลน้ำลึก หนังปลา กระดูกปลา หนังสัตว์ เอ็นสัตว์ เป็นต้น และอาจจะมีส่วนผสมอื่น ๆ ที่มาจากสัตว์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะคอลลาเจนในรูปแบบเจลลี่ ดังนั้นถ้าไม่อยากเจแตกก็หลีกเลี่ยงไว้จะดีกว่า
วิตามินซี

วิตามินซีสามารถรับประทานในช่วงกินเจได้ค่ะ และแนะนำว่าควรกิน เพราะวิตามินซีมีส่วนช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก เพียงแต่ต้องเช็กดี ๆ ว่าเป็นวิตามินซีที่ไม่มีส่วนผสมของคอลลาเจน และไม่ใช่วิตามินซีในรูปแบบแคปซูลหรือเจลลี่ ซึ่งส่วนใหญ่มีส่วนประกอบจากสัตว์
วิตามินบีรวม

วิตามินบีรวมสามารถรับประทานได้ และควรรับประทานด้วย โดยเฉพาะวิตามินบี 12 เพราะการงดเว้นเนื้อสัตว์เป็นเวลานานในช่วงกินเจอาจทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12 ได้ แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมเช็กส่วนประกอบอื่น ๆ ในวิตามินบีรวมด้วยนะคะ และควรเลือกรับประทานวิตามินบีรวมชนิดเม็ดยาแทนชนิดแคปซูล
วิตามินดี

วิตามินดีที่อยู่ในรูปแบบอาหารเสริมส่วนใหญ่เป็นวิตามินดีที่ได้มาจากเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากนม ดังนั้นช่วงกินเจอาจต้องงดเว้นไปก่อน แล้วมารับวิตามินดีจากแหล่งธรรมชาติ เช่น เห็ดหอม อัลมอนด์ ซีเรียล เป็นต้น หรืออาจจะออกมารับแสงแดดยามเช้าเพิ่มวิตามินดีด้วยก็ดี
Grape seed

สารสกัดจากเมล็ดองุ่นสามารถรับประทานในช่วงกินเจได้ค่ะ แต่ก็ควรเลือกชนิดเม็ดยาที่ไม่ใช่แคปซูลหรือมาในรูปเจลลี่ใด ๆ รวมถึงอย่าลืมเช็กส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ใส่มาในเกรปซีดด้วย
Zinc หรือสังกะสี

สังกะสี หรือ Zinc ในรูปอาหารเสริม อาจมีส่วนประกอบของสัตว์ได้ เพราะแหล่งที่พบ Zinc ได้มากจะเป็นพวกเนื้อสัตว์ ตับ เครื่องใน อาหารทะเล ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น ดังนั้นเพื่อการกินเจอย่างบริสุทธิ์สบายใจ อาจเลือกรับธาตุสังกะสีจากแหล่งธรรมชาติอย่างข้าวสาลี ข้าวโพด โฮลเกรน หรือถั่วชนิดต่าง ๆ แทน Zinc แบบอาหารเสริมไปก่อน
อย่างไรก็ดี ในคนที่มีโรคประจำตัว หรือต้องรับประทานยาเป็นประจำ ไม่แนะนำให้หยุดยาเองเพราะกลัวเจแตกนะคะ แต่ควรเลือกรักษาสุขภาพไว้ก่อน ด้วยการกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง หรือลองปรึกษาแพทย์ประจำตัว เภสัชกร ว่ามีแนวทางการรับประทานยาอย่างไรให้ยังอยู่ในแนวปฏิบัติของการกินเจได้บ้าง
บทความที่เกี่ยวข้องกับกินเจ
- ข้อห้ามการกินเจ การกินเจที่ถูกต้อง กินเจห้ามกินอะไรบ้าง
- 10 คำถามคาใจเรื่องกินเจ ได้เวลาต้องขอเคลียร์
- ไขข้อข้องใจ กินเจ ดื่มกาแฟได้ไหมนะ ?
- เคลียร์ให้เข้าใจ ! กินเจดื่มน้ำอัดลม เหล้า เบียร์ได้ไหม เครื่องดื่มอะไรต้องระวัง
- คนกินเจรู้ไว้ เมนูเหล่านี้จริง ๆ แล้วเจหรือไม่เจ
- กินเจกินอาหารเหล่านี้ได้ไหม เช็ก 20 อาหารยอดที่หลายคนเข้าใจผิด ทำเจแตก !
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช, เพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล, ncbi.nlm.nih.gov, vitacost.com