ถอนฟัน ถอนฟันคุด อันตรายไหม ทำให้เสียชีวิตได้จริงหรือ ?

          ถอนฟันทำให้เสียชีวิตได้จริงไหม อะไรคือปัจจัยเสี่ยง และคนกลุ่มไหนต้องระวังในการถอนฟันบ้าง
ถอนฟันคุด

          คงเคยได้ยินข่าวกันมาบ้างกับเหตุการณ์ที่คนไข้เสียชีวิตภายหลังไปถอนฟัน หรือถอนฟันคุด มาก่อนหน้านี้ ทำให้หลายคนแปลกใจและสงสัยว่า การถอนฟันที่เป็นการทันตกรรมหรือทำฟันพื้นฐานที่ดูไม่น่าจะเป็นอันตราย จะทำให้คนเสียชีวิตได้อย่างไร หรือมีเหตุปัจจัยอื่นกันแน่

ถอนฟัน มีโอกาสเสี่ยงตายแค่ไหน

ทำฟัน

          ต้องบอกว่าการถอนฟันแล้วทำให้ถึงแก่ชีวิตนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ก็มีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก และมักไม่ได้เกิดจากการถอนฟันโดยตรง แต่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น คนไข้มีการติดเชื้อที่บริเวณช่องปากและฟันมาเป็นเวลานานแล้ว หรือติดเชื้อจากการถอนฟัน หรือคนไข้มีโรคประจำตัวบางอย่าง รวมทั้งกรณีการแพ้ยาชาหรือยาแพ้สลบในระหว่างการทำทันตกรรม ซึ่งในเคสที่เสียชีวิตจากการดมยาสลบในขณะถอนฟันมีเพียง 1 ใน 100,000-200,000 รายทั่วโลก

ภาวะแทรกซ้อนของการถอนฟันมีอะไรบ้าง

     อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการถอนฟันอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต เช่น

  • รู้สึกเจ็บปวดหรือบวมหลังถอนฟัน บรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
  • เลือดออกมากเกินไป ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้คนไข้กัดผ้าก๊อซไว้แน่น ๆ อย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง หลังถอนฟัน
  • การติดเชื้อ ทำให้บริเวณที่ถอนฟันมีอาการบวมและปวด หรือมีหนอง เป็นไข้
  • เส้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณที่ถอนฟันอาจเสียหาย ทำให้เกิดอาการเสียวหรือชาริมฝีปาก
  • ฟันอาจหลุดเข้าโพรงอากาศบริเวณไซนัส 
  • กระดูกเบ้าฟันอักเสบจากการผ่าฟันคุด เพราะก้อนเลือดในแผลหลุดออกจากเบ้าฟันที่ถอน
  • เบ้าตาแห้ง เกิดขึ้นในกรณีที่ก้อนเลือดเข้าไปอุดตัน

ปัจจัยเสี่ยงในการถอนฟันมีอะไรบ้าง

ถอนฟัน

     อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าโอกาสที่คนจะเสียชีวิตจากการถอนฟันมีไม่สูงมาก แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในกรณีดังต่อไปนี้

  • คนไข้เป็นผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงกว่าคนวัยหนุ่มสาว เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่า
  • เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง หอบหืด โรคภูมิแพ้ ฯลฯ
  • เป็นผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดแข็งตัวช้า เลือดไหลไม่หยุด หรือรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้เคมีบำบัดหรือฉายรังสี ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการถอนฟัน
  • การถอนฟันหลายซี่ในคราวเดียว
  • การแพ้ยา แพ้ยาสลบ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการถอนฟัน

วิธีลดความเสี่ยงในการถอนฟัน

     เราสามารถป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตจากการถอนฟันได้ ดังนี้

  • เตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปถอนฟัน โดยควรนอนหลับให้เพียงพอ หากมีอาการป่วยควรเลื่อนนัดออกไปก่อน
  • แจ้งให้ทันตแพทย์ทราบถึงภาวะโรคประจำตัว ยาที่รับประทานอยู่ และอาการแพ้ยาของตัวเอง เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้ประเมินความเสี่ยงในการถอนฟัน รวมทั้งแนะนำข้อปฏิบัติที่เหมาะสม
  • เลือกใช้บริการในโรงพยาบาลหรือคลินิกที่สะอาด ปลอดเชื้อ มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ได้มาตรฐาน มีทันตแพทย์ที่มีประสบการณ์
  • ตรวจสอบว่าสถานพยาบาลที่ใช้บริการมีการขึ้นทะเบียนกระทรวงสาธารณสุขอย่างถูกต้อง มีเลขที่ใบอนุญาตประกอบกิจการ 11 หลัก
          โดยส่วนใหญ่การถอนฟันมีความปลอดภัยสูง ดังนั้น จากข่าวที่เกิดขึ้นก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกจนเกินไป แต่หากใครมีความวิตกกังวลเพราะมีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาอะไรอยู่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวและทันตแพทย์ก่อนทำทันตกรรม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพฟัน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถอนฟัน ถอนฟันคุด อันตรายไหม ทำให้เสียชีวิตได้จริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10:57:33 42,572 อ่าน
TOP
x close