เลือดจาง ป่วยโลหิตจางห้ามกินอะไร หรือควรกินอาหารบำรุงเลือดชนิดไหนดี

           เลือดจาง หรือภาวะโลหิตจาง เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบของสุขภาพที่ป่วยแล้วควรดูแลตัวเองให้ดี โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่คนเป็นโลหิตจางห้ามกิน หรืออาหารควรกินเพื่อช่วยบำรุงเลือด ที่วันนี้เราอยากชวนมาเช็กลิสต์กัน
โลหิตจาง อาการ

           โลหิตจาง ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Anemia เป็นภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงลดลง ส่งผลให้มีอาการซีด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย เป็นลมหมดสติบ่อยครั้ง หรือหากอาการโลหิตจางรุนแรงก็เสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้เลย สาเหตุที่พบบ่อยมาจากการขาดธาตุเหล็ก อย่างไรก็ตาม หากป่วยด้วยโรคโลหิตจางแล้ว เราก็สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ซึ่งกระปุกดอทคอมก็มีข้อมูลโลหิตจางห้ามกินอะไร หรือเลือดจางต้องกินอะไรบำรุงมาฝาก

โลหิตจางห้ามกินอะไรบ้าง

           ในกรณีมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อาหารบางอย่างอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้ป่วยโรคโลหิตจางได้ จึงควรเลี่ยงหรืองดการรับประทานในบางช่วงเวลา เช่น

ชา กาแฟ

กาแฟ

           เครื่องดื่มเหล่านี้มีสารแทนนินและคาเฟอีนที่จะไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยได้รับธาตุเหล็กจากอาหารลดน้อยลงได้ ดังนั้น ทางที่ดีอย่าดื่มชา กาแฟ หลังจากรับประทานอาหารธาตุเหล็กสูง เช่น ผักใบเขียว เครื่องใน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นคนติดการดื่มกาแฟก็สามารถดื่มชา กาแฟ ใน 2-3 ชั่วโมง หลังจากมื้ออาหารได้นะคะ

ผลิตภัณฑ์จากนม

นม

           ทั้งนม โยเกิร์ต ชีส และผลิตภัณฑ์จากนมที่ยังมีแคลเซียมในนมหลงเหลืออยู่ ไม่ควรกินพร้อมกันกับอาหารบำรุงเลือด หรือยาบำรุงเลือด เพราะแคลเซียมในนมทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ลดลง

เต้าหู้ นมถั่วเหลือง

นมถั่วเหลือง

           แม้นมถั่วเหลืองจะไม่มีแคลเซียมจากนมวัวมาผสม ทว่าผู้ป่วยโรคโลหิตจางก็ควรต้องระวัง เพราะไฟเตทในนมถั่วเหลืองและเต้าหู้ก็เป็นสารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งหากร่างกายได้ธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาการโลหิตจางก็อาจกำเริบได้

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

           เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโทษต่อสุขภาพมากมาย คนที่แข็งแรงดีกินแล้วยังเสี่ยงอาการป่วยไข้ ดังนั้น คนที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการป่วยเรื้อรังบางอย่างอยู่ก็ยิ่งควรห่างเหล้า เบียร์ ไวน์ สาเก โซจู ไว้ให้ไกล
           อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีภาวะโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยควรระมัดระวังการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง อย่างตับสัตว์ เลือด ผักขี้เหล็ก ผักคะน้า รวมไปถึงช็อกโกแลต เพราะอาจทำให้เกิดการดูดซึมและสะสมของธาตุเหล็กในร่างกายเยอะเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลว โรคตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น

โลหิตจางควรกินอะไรบ้าง

           อาหารบำรุงเลือดเพราะมีธาตุเหล็กสูง คือ อาหารที่ผู้ป่วยโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กควรรับประทาน โดยอาหารธาตุเหล็กสูงมีดังนี้

เนื้อสัตว์

เนื้อสัตว์

           ไม่ว่าจะเนื้อแดงจากหมู วัว แกะ ก็ล้วนอุดมไปด้วยโปรตีนและธาตุเหล็กที่จะช่วยบำรุงเลือดให้ผู้ป่วยโลหิตจางได้

เครื่องในสัตว์

ตับหมู

           ผู้ป่วยโรคโลหิตจางสามารถเลือกรับประทานเครื่องในสัตว์ได้ทั้งตับหมู ตับไก่ เลือดหมู เลือดไก่ ซึ่งเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยสารอาหารมีประโยชน์ เช่น โปรตีน วิตามิน ทองแดง ซีลีเนียม แต่หากมีภาวะไขมันในเลือดสูงก็ไม่ควรรับประทาน

อาหารทะเล

อาหารทะเล

           นอกจากเนื้อหมู เนื้อไก่แล้ว บรรดาอาหารทะเลอย่างปลาทูน่า กุ้ง หอยแครง หอยแมลงภู่ ก็จัดเป็นอาหารบำรุงเลือดเพราะมีธาตุเหล็กสูงเช่นกัน

ไข่แดง

ไข่

           คนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพที่ต้องควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด หรือเป็นวัยเด็ก วัยเรียน สามารถรับประทานไข่แดงเป็นประจำ เพื่อช่วยเติมธาตุเหล็กให้ร่างกายได้เลย ทว่าคนที่ต้องคุมไขมันในเลือด หรือมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังใด ๆ แนะนำให้สลับกินไข่แดงกับอาหารธาตุเหล็กสูงชนิดอื่น ๆ วนเวียนกันไปนะคะ

ผักใบเขียว

ผักใบเขียว

          ผักใบเขียวมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน และส่วนมากจะมีธาตุเหล็กอยู่พอสมควร โดยผักใบเขียวที่เราอยากแนะนำก็จะเป็นคะน้า ตำลึง ใบยอ บรอกโคลี ผักโขม ปวยเล้ง เป็นต้น และถ้าจะให้ดีควรรับประทานผักใบเขียวร่วมกับผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากผักต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
 

15 ผักที่มีธาตุเหล็กสูง เป็นผักบำรุงเลือด เพื่อสุขภาพ

ถั่ว

ถั่ว

           พืชตระกูลถั่วอย่างถั่วพิสตาชิโอ หรือมะม่วงหิมพานต์ ก็อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก และยังมีไขมันดี มีโปรตีนที่ช่วยให้อิ่มอยู่ท้อง ดังนั้นก็สามารถรับประทานเป็นของว่างระหว่างวันได้เลย

เมล็ดธัญพืช

เมล็ดธัญพืช

           หรืออยากจะเติมธาตุเหล็กให้ร่างกายด้วยการรับประทานเมล็ดพืชอย่างเมล็ดฟักทองหรือเมล็ดทานตะวันที่ก็มีธาตุเหล็กอยู่พอสมควรก็ได้เช่นกัน
           หากมีภาวะซีดจากโลหิตจาง แนะนำให้เลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และควรพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารดังกล่าวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโรคอื่น ๆ นะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจาง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลือดจาง ป่วยโลหิตจางห้ามกินอะไร หรือควรกินอาหารบำรุงเลือดชนิดไหนดี อัปเดตล่าสุด 17 มกราคม 2567 เวลา 17:24:47 70,238 อ่าน
TOP
x close