วัคซีนที่ควรฉีด
สำหรับช่วงอายุ 18-64 ปี
1. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
ปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีไว้เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดสายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีเชื้อไวรัสย่อย ๆ ออกไปอีก ดังนั้น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในตอนนี้จึงมีให้ฉีดอยู่ 2 ตัวด้วยกัน ได้แก่
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และเชื้อไวรัสชนิดสายพันธุ์ B 1 สายพันธุ์
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และเชื้อไวรัสชนิดสายพันธุ์ B 2 สายพันธุ์
ควรฉีดเมื่อไร : แนะนำให้ฉีดช่วงก่อนเข้าฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในทุก ๆ ปี และวัคซีนก็จะอัปเกรดตัวเองให้มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปีนั้น ๆ ได้
2. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ (Tdap)
เป็นวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ หรือเรียกย่อ ๆ ว่า Tdap (Tetanus-diphtheria-acellular pertussis)
ควรฉีดเมื่อไร : หากตอนเด็ก ๆ เคยฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (Td) มาแล้ว ในวัยผู้ใหญ่แนะนำให้ฉีด Tdap กระตุ้นซ้ำ 1 ครั้ง หลังจากนั้นควรฉีด Tdap หรือ Td เพื่อกระตุ้นภูมิทุก ๆ 10 ปี3. วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
เป็นวัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน โดยเป็นวัคซีนพื้นฐานที่มีบริการในทุกโรงพยาบาล
ควรฉีดเมื่อไร : ในผู้ที่อายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ หากเคยเป็นหัด หัดเยอรมัน หรือคางทูมแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันธรรมชาติอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับเข็มกระตุ้นก็ได้ หรือควรตรวจเลือดเพื่อหาภูมิก่อนฉีด4. วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
ในคนที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ควรได้รับวัคซีนตัวนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรค โดยจะฉีดทั้งหมด 2 เข็ม แต่หากเคยป่วยด้วยโรคนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีด เพราะจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้ตลอดชีวิต หรือหากไม่แน่ใจก็สามารถตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันโรคอีสุกอีใสได้
ควรฉีดเมื่อไร : หากยังไม่เคยป่วยและไม่เคยฉีดมาก่อน สามารถฉีดเข็มที่ 1 ได้เลย และฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์5. วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV
เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus ที่มีสายพันธุ์ย่อย ๆ เยอะมาก และเป็นไวรัสก่อโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ มะเร็งทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยปัจจุบันจะมีวัคซีน HPV อยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์, วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ และวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ทั้งนี้ วัคซีน HPV เป็นวัคซีนทางเลือกที่มีราคาค่อนข้างสูง หากใครมีกำลังทรัพย์ก็แนะนำให้ฉีดเพื่อช่วยในการป้องกันโรคนะคะ
ควรฉีดเมื่อไร : เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ควรฉีดเข็มแรกตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยฉีดได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ - 26 ปี และฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากแข็มแรก 1-2 เดือน จากนั้นอีกประมาณ 6 เดือนจึงฉีดเข็มที่ 3 เป็นเข็มสุดท้าย แต่หากเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ แต่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน6. วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A Vaccine)
ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นตัวการก่อโรคตับอักเสบและมะเร็งตับ แต่เราป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งในไทยก็ยังเป็นวัคซีนทางเลือกนะคะ คือพิจารณาเป็นรายบุคคลที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ประกอบอาหาร สถานเลี้ยงเด็ก ผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง กลุ่มชายรักชาย ผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เป็นต้น
ควรฉีดเมื่อไร : แนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันก่อน ถ้ามีภูมิแล้วก็ไม่ต้องฉีด หรือจะเลือกฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มอีกเข็มก็ได้ แต่ถ้ายังไม่มีภูมิเลยสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 1 ก่อนได้ โดยวัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้ภายในระยะ 2-4 สัปดาห์ หลังจากได้เข็มแรก และหากกระตุ้นอีก 1 เข็ม ในอีก 6-12 เดือนต่อมา จะมีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอในระดับที่สูง ซึ่งน่าจะช่วยป้องกันโรคได้อย่างน้อย 16-25 ปี7. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine)
ไวรัสตับอักเสบบี เป็นไวรัสที่ก่อโรคตับอักเสบเฉียบพลัน ตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็ง มะเร็งตับ แต่ก่อนจะฉีดแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีก่อน
ควรฉีดเมื่อไร : ฉีดได้ในผู้ใหญ่ที่ยังไม่ติดเชื้อและยังไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยฉีดได้ทันที โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่ต้องรับเลือดบ่อย ๆ คู่สมรสของผู้ที่เป็นพาหะ บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติการตรวจเลือดผู้ป่วย เป็นต้น โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 1-2 เดือน และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 6 เดือนวัคซีนที่ควรฉีด
สำหรับผู้สูงอายุ 65 ขึ้นไป
1. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
2. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน สำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ (Tdap) เข็มกระตุ้น
3. วัคซีนหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
4. วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
5. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
6. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
7. วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส
บทความที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย (1), (2), สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการรุณย์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (1), (2), (3)