ดัชนีความร้อน คืออะไร ทำไมเราถึงรู้สึกร้อนกว่าตัวเลขพยากรณ์อากาศ

           ดัชนีความร้อน คืออะไร สภาพอากาศบอกตัวเลขอุณหภูมิไว้เท่านี้ แต่ทำไมเรากลับรู้สึกว่าความร้อนมีมากกว่านั้นไปอีก เลยต้องมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันหน่อย
สภาพอากาศ

           สภาพอากาศในหน้าร้อนที่ดูเหมือนจะร้อนขึ้นทุกปี ๆ และนอกจากเราจะวัดกันที่ตัวเลขอุณหภูมิวันนี้ตามพยากรณ์อากาศแล้ว ยังมีอีกค่าที่โผล่มาให้เห็นบ่อย ๆ ซึ่งนั่นก็คือ ดัชนีความร้อน ที่ทำให้หลายคนสงสัยว่าคือตัวเลขอะไร เกี่ยวข้องอะไรกับสภาพอากาศในแต่ละวันที่ทำให้เรารู้สึกร้อนมากกว่าตัวเลขบบนเทอร์โมมิเตอร์

ทำไมจึงรู้สึกร้อน
กว่าตัวเลขพยากรณ์อากาศ

อุณหภูมิวันนี้

          แม้ร่างกายจะไม่มีเทอร์โมมิเตอร์ แต่หลายครั้งเราก็รู้สึกได้ว่าอากาศร้อนกว่าอุณหภูมิที่บอกบนเทอร์โมมิเตอร์ไปไกล อย่างถ้าอ่านตัวเลขได้ที่ 38 องศาเซลเซียส แต่ร่างกายดันรู้สึกเหมือนอุณหภูมิตอนนี้น่าจะเกิน 40 องศาเซลเซียสไปแล้ว ซึ่งที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอุณหภูมิของอากาศกับความรู้สึกร้อนที่ผิวหนังสัมผัสได้ เป็นคนละส่วนกัน

          โดยอุณหภูมิเป็นค่าที่แสดงถึงระดับพลังงานจลน์ของอนุภาคสสารต่าง ๆ ทั้งดิน น้ำ อากาศ และสิ่งของ รวมไปถึงร่างกายของมนุษย์เรา ที่หากมีการเคลื่อนไหว การสั่นสะเทือน ก็จะเกิดเป็นพลังงานความร้อนขึ้นมา แต่ความร้อนหรือเย็นที่เรารู้สึกได้ เป็นเรื่องของการการรับรู้ของสมองที่ตีความจากประสาทสัมผัส จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ ซึ่งสิ่งนี้ก็มีชื่อเรียกว่า “ค่าดัชนีความร้อน” นั่นเอง

ดัชนีความร้อน คืออะไร

ดัชนีความร้อน คือ

          ดัชนีความร้อน (Heat Index, HI) คือ อุณหภูมิอากาศและความชื้นที่ร่างกายมนุษย์รู้สึกได้ในขณะนั้น โดยค่าดัชนีความร้อนจะวัดจากอุณหภูมิอากาศที่วัดได้จริง (Air Temperature) มาคำนวณร่วมกับค่าความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ (Relative Humidity) ซึ่งมีผลต่อการระบายความร้อนของร่างกาย กล่าวคือ ยิ่งในบริเวณนั้นมีความชื้นสัมพัทธ์สูงเท่าไร ร่างกายของเราจะยิ่งรู้สึกร้อนมากขึ้น เพราะเหงื่อไม่ระเหยออกมา ให้ลองนึกถึงช่วงก่อนฝนตกที่มีความชื้นสูงมาก เราจะรู้สึกถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าวมากกว่าปกตินั่นเอง

          ตัวอย่างเช่น ถ้าสภาพอากาศวันนี้มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส และค่าความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 60% ค่าดัชนีความร้อนจะอยู่ที่ 51 องศาเซลเซียส หมายถึง แม้ตัวเลขพยากรณ์อากาศมา 37 องศาเซลเซียส แต่เราจะรู้สึกร้อนจริง ๆ เหมือนอุณหภูมิ 51 องศาเซลเซียส

          ในทางกลับกัน ถ้าตัวเลขอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ไม่สูงนัก เช่น อุณหภูมิ 31 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 40% ทำให้ร่างกายของเราระบายความร้อนได้ดี ก็จะรู้สึกร้อนหรือเย็นเท่ากับตัวเลขพยากรณ์อากาศจริง ๆ ที่ 31 องศาเซลเซียส

ตารางค่าดัชนีความร้อน

ตารางดัชนีความร้อน Heat Index

ภาพจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา

           ทั้งนี้ ค่าดัชนีความร้อนมีไว้เพื่อคาดการณ์อุณหภูมิความร้อนที่มนุษย์จะรู้สึกได้ และช่วยประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากอากาศที่ร้อนระอุด้วย

ดัชนีความร้อนเท่าไร
กระทบกับสุขภาพ

ฮีสโตรก

          ผลกระทบต่อร่างกายที่เกิดขึ้นจากดัชนีความร้อน แบ่งออกได้ ดังนี้

  • ดัชนีความร้อน 27-32.9 องศาเซลเซียส : อยู่ในระดับเฝ้าระวัง หากอยู่กลางแจ้งหรือได้รับความร้อนต่อเนื่องอาจเกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผิวไหม้แดด ผดร้อน บวมจากความร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย เสี่ยงเกิดตะคริวจากความร้อนได้และปวดแสบปวดร้อนได้

  • ดัชนีความร้อน 33-41.9 องศาเซลเซียส : อยู่ในระดับเตือนภัย ควรระวังอาการปวดแสบปวดร้อน ร่างกายอ่อนเพลีย โรคเพลียแดด ฮีตสโตรก หากทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน 

  • ดัชนีความร้อน 42-51.9 องศาเซลเซียส : อันตราย อาจเป็นฮีตสโตรกได้หากอยู่กลางแจ้งต่อเนื่อง

  • ดัชนีความร้อนมากกว่า 52 องศาเซลเซียส : อันตรายมาก เสี่ยงเป็นฮีตสโตรกสูงมาก
           หากวันไหนที่รู้สึกว่าอากาศร้อนมาก ๆ ขอให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ใส่เสื้อผ้าสีอ่อนที่ไม่ดูดความร้อน และดื่มน้ำเปล่าเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและลดความเสี่ยงโรคลมแดดหรือฮีตสโตรกนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับอากาศร้อน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดัชนีความร้อน คืออะไร ทำไมเราถึงรู้สึกร้อนกว่าตัวเลขพยากรณ์อากาศ อัปเดตล่าสุด 12 มีนาคม 2567 เวลา 16:29:01 10,095 อ่าน
TOP
x close