นอนท่าไหนไม่ให้ไอ สำหรับคนที่มักมีอาการไอเวลานอนราบ จนทำให้นอนไม่ค่อยหลับ ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น มาลองเปลี่ยนท่านอนกันเถอะ
วิธีแก้ไอมีอยู่หลายทางเลือกด้วยกัน อย่างท่านอนก็ช่วยบรรเทาอาการได้ ดังนั้น คนที่มีปัญหานอนไม่หลับเพราะไอตอนกลางคืนเป็นประจำ ลองมาปรับท่านอนลดอาการไอตามนี้ดู พร้อมรู้สาเหตุที่ทำให้ไอตอนกลางคืนไปด้วยเลย
ไอตอนกลางคืน เกิดจากอะไร
มีหลายเหตุผลที่ทำให้เราไอตอนกลางคืน โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่
- สิ่งแวดล้อมในห้องนอนไม่เหมาะสม เช่น อากาศแห้ง อากาศเย็นเกินไป ฝุ่นเยอะ หรือในห้องมีสารเคมี ควันบุหรี่ตกค้าง รวมไปถึงขนสัตว์เลี้ยงก็อาจกระตุ้นอาการคันคอและอาการไอได้
- อาการป่วย โดยเฉพาะไข้หวัด หรือโรคทางเดินระบบหายใจที่ทำให้มีเสมหะ มีน้ำมูกไหลลงคอ ซึ่งกระตุ้นอาการไอเวลานอน
- โรคบางโรค เช่น โรคภูมิแพ้, โรคหอบหืด, กรดไหลย้อน, ไซนัสอักเสบ, โรคปอดอักเสบ รวมไปถึงโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ จนไอตอนกลางคืน
- ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิต ที่อาจทำให้เกิดอาการไอแห้ง โดยเฉพาะคนที่กินยาตัวนี้หลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน
ท่านอนลดอาการไอ
นอนท่าไหนได้บ้าง
ถ้ามีอาการไอแบบนี้ นอนท่าไหนดี ตามมาดู
ไอแห้ง
แนะนำให้นอนตะแคงซ้ายหรือขวาก็ได้ ท่านี้จะช่วยเคลียร์สิ่งระคายเคืองในคอ บรรเทาอาการไอให้นอนหลับสบาย และจะดีมากหากนอนตะแคงแบบงอเข่าเล็กน้อย พร้อมกับหนุนหมอนระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้สะโพกอยู่ในระนาบเดียวกันกับกระดูกสันหลัง ซึ่งจะช่วยแก้ปวดหลังได้ด้วย
ไอมีเสมหะ
การนอนราบแบบปกติจะทำให้น้ำมูกสะสมในลำคอ กระตุ้นให้เกิดอาการไอได้ ดังนั้น แนะนำให้นอนยกหัวสูง เพื่อป้องกันเสมหะไหลลงคอ โดยอาจยกหัวเตียงขึ้น (ถ้าทำได้) หรือวางหมอนซ้อนกัน 2 ใบ หรือใช้หมอนรองคอก็ได้ แต่หากรู้สึกว่าหัวสูงเกินไปก็ปรับระดับลงมา เอาที่นอนแล้วรู้สึกสบาย ไม่ปวดคอ
เคล็ดลับนอนหลับสบาย
อาการไอไม่กวนใจ
สำหรับคนที่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพ แต่มักจะไอตอนนอน ลองปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ดู
- จัดห้องนอนให้โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก
- ทำความสะอาดห้องนอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน เป็นประจำ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นและเชื้อโรค
- ปรับอุณหภูมิห้องนอนให้เหมาะสม ไม่เย็นจนเกินไป โดยหากเปิดแอร์ควรตั้งอุณหภูมิอยู่ราว ๆ 25-28 องศาเซลเซียส
- หลีกเลี่ยงการนอนจ่อพัดลม แอร์ หรือเปิดพัดลมจ่อที่ตัวตรง ๆ
- ห่มผ้าให้คลุมบริเวณหน้าอกทุกครั้งที่ล้มตัวลงนอน
- หากรู้สึกระคายคอ ให้จิบน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องก่อนนอน
- เพิ่มความชื้นในอากาศด้วยการนำภาชนะใส่น้ำมาวางใต้เครื่องปรับอากาศ หรือใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศก็ได้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการรับสารระคายเคืองจากแหล่งอื่น ๆ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ก็ควรหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี จะได้ลดโอกาสเจ็บป่วย ลดความเสี่ยงติดเชื้อใด ๆ และหากปรับท่านอนแล้วอาการไอยังไม่ดีขึ้น หรือยังไอต่อเนื่องนานกว่า 3 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ หายใจลำบาก อาเจียน เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาให้ตรงจุด