5 เวลาไม่ควรอาบน้ำ เพราะส่งผลเสียต่อร่างกาย พร้อมเช็กวิธีอาบน้ำที่ดีต่อใจ

          5 เวลาไม่ควรอาบน้ำ มีตอนไหนบ้าง อาบน้ำหลังกินข้าวควรเว้นกี่นาที อาจเป็นข้อมูลที่หลายคนยังไม่ทราบดี และเชื่อไหมว่าถ้าอาบน้ำไม่ถูกเวลา อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คิด
อาบน้ำตอนไหนดี

          ไม่ควรอาบน้ำตอนไหน หรือ อาบน้ำตอนไหนดี เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนอยากรู้ แม้จะมองว่าการอาบน้ำคือกิจวัตรประจำวันที่แสนจะปกติ อยากจะอาบน้ำตอนไหนก็ได้ทั้งนั้น ทว่าจริง ๆ แล้วก็มีช่วงเวลาไม่ควรอาบน้ำที่อยากบอกให้รู้ไว้ เอาเป็นว่าลองมาดูกันว่ามีช่วงไหนบ้าง

5 เวลาไม่ควรอาบน้ำ 
ช่วงไหนควรเลี่ยงบ้าง

          การอาบน้ำในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ในทางใดทางหนึ่ง เช่น 

1. เมื่อมีไข้สูง

มีไข้สูง

          หากมีไข้สูง รู้สึกปวดศีรษะ ไม่สบาย ไม่แนะนำให้อาบน้ำหรือสระผมในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เสี่ยงต่อการอ่อนเพลีย วิงเวียน หรือลื่นล้มในห้องน้ำได้ อีกทั้งการอาบน้ำจะทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน ไข้อาจกลับมาสูงอีก ดังนั้น ควรจะทำความสะอาดร่างกายด้วยการเช็ดตัวไปก่อน จนกว่าอาการไข้จะหายไปและร่างกายฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว

2. หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ

อาบน้ำหลังกินข้าว

          แม้จะไม่ใช่ข้อห้ามจริงจัง แต่เหตุผลที่เราไม่ควรอาบน้ำอุ่นหลังกินข้าวอิ่ม โดยเฉพาะหากเป็นอาหารมื้อใหญ่ที่จัดหนักจัดเต็มมาจนอิ่มแปล้ เพราะเมื่อร่างกายกำลังย่อยอาหาร กระบวนการทำงานนี้จะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยจากการเผาผลาญพลังงาน ดังนั้น หากอาบน้ำอุ่นหลังกินข้าวทันที เส้นเลือดตามผิวหนังจะยิ่งขยายตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ผิวหนังมากกว่าระบบย่อยอาหาร อาจส่งผลให้การย่อยอาหารทำได้ไม่เต็มที่ ก่อให้เกิดอาการท้องอืดได้ในบางคน 
          อย่างไรก็ตาม หลายคนแทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยกับเรื่องนี้ เพื่อความแน่ใจจึงควรสังเกตตัวเองดูว่าการอาบน้ำอุ่นหลังกินข้าวทันที ทำให้เรามีอาการไม่สบายท้องบ้างหรือไม่ ถ้ามีผลก็ควรเลี่ยง โดยแนะนำให้รอสักประมาณ 20 นาที - 1 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทานเข้าไปด้วยว่าย่อยง่ายหรือยาก) แล้วค่อยไปอาบน้ำ แต่ถ้าต้องการอาบน้ำจริง ๆ อาจใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องแทนน้ำอุ่นค่ะ

3. หลังออกกำลังกายทันที

ออกกำลังกาย

          ช่วงนี้ร่างกายจะเหน็ดเหนื่อย แถมเหงื่อยังออกเยอะมากจากการระบายความร้อนออกมา หากอาบน้ำทันทีจะทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน ความดันโลหิตก็อาจแปรปรวนตามไปด้วย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นลม วิงเวียน เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจไม่พอ จึงควรพักให้ร่างกายเย็นลงก่อนสัก 20-30 นาที ค่อยอาบน้ำ

4. หลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เมา

          แอลกอฮอล์จะไปขยายหลอดเลือด ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น และการดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้เกิดอาการมึนเมา เสี่ยงต่อการเดินเซ หกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุในระหว่างอาบน้ำได้ จึงควรให้สร่างเมาหรือรอให้ฟื้นตัวดีก่อนค่อยไปอาบน้ำค่ะ

5. เมื่อมีแผลผ่าตัด แผลที่ห้ามโดนน้ำ หรือหลังสักผิวหนัง

แผล

          สำหรับคนที่มีบาดแผลที่แพทย์สั่งห้ามไม่ให้แผลโดนน้ำ หรือคนที่ผ่านการสักผิวหนังมา ควรอาบน้ำด้วยความระมัดระวัง หรือหากทำได้ก็เช็ดตัวในระหว่างที่รักษาแผลไปก่อน เพราะหากแผลโดนน้ำย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อลุกลามได้นั่นเอง

 วิธีอาบน้ำที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อใจ

  • อาบน้ำในอุณหภูมิ 27-37 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมกับผิวพรรณของเรา และยังช่วยให้ผิวขับของเสียที่คั่งค้างออกมาได้มากขึ้น ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เพิ่มความรู้สึกสบายตัว ลดความอ่อนล้าและตึงเครียด
  • หากอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน ไม่ควรให้เกิน 42 องศาเซลเซียส เพราะการอาบน้ำร้อนจัดมาก ๆ เป็นเวลานานเกิน 15 นาที เสี่ยงต่ออาการหน้ามืด เป็นลม ทำให้ผิวแห้งมาก และความร้อนยังไปทำลายเซลล์ผิวหนังด้วย
  • ควรใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวพรรณ หลีกเลี่ยงสบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือสารเคมีระงับกลิ่นกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายเป็นทุนเดิม
  • เวลาที่เหมาะสมต่อการอาบน้ำคือประมาณ 5-10 นาที หากนานกว่านี้อาจทำให้ผิวแห้งเหี่ยวได้
  • หลังอาบน้ำเสร็จควรรีบเช็ดตัวให้แห้งด้วยผ้าสะอาด และทามอยส์เจอไรเซอร์บำรุงผิวทุกครั้ง
          เพื่อสุขอนามัยและสุขภาพที่ดีควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเวลาที่ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างที่เตือนไปข้างต้น และเหนือสิ่งอื่นใด การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการรักษาสุขอนามัยเช่นกัน 

บทความที่เกี่ยวข้องกับการอาบน้ำ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 เวลาไม่ควรอาบน้ำ เพราะส่งผลเสียต่อร่างกาย พร้อมเช็กวิธีอาบน้ำที่ดีต่อใจ อัปเดตล่าสุด 17 พฤษภาคม 2567 เวลา 10:18:37 69,721 อ่าน
TOP
x close