อดอาหารได้มากสุดกี่วัน ร่างกายอดข้าว-ขาดน้ำได้นานแค่ไหนถึงเป็นอันตรายต่อชีวิต

           อดอาหารได้มากสุดกี่วัน แล้วร่างกายของเราจะเป็นอย่างไรเมื่ออดข้าว อดน้ำ ไม่กินอะไรเลยนานหลายวัน ทำไมถึงทำให้เสียชีวิตได้ ?
อดอาหารได้มากสุดกี่วัน

           ร่างกายของเราจำเป็นต้องได้รับสารอาหาร เพื่อให้มีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการหายใจ การเคลื่อนไหว การคิด รวมทั้งใช้ในกระบวนการทำงานของระบบต่าง ๆ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ทว่าหากเราอดอาหารเป็นเวลานานย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเคยสงสัยไหมว่า เราสามารถอดอาหารได้นานแค่ไหนถึงจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ? มาทำความเข้าใจประเด็นนี้กัน

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออดอาหาร

อดอาหาร fasting

          โดยปกติเมื่อเรากินอาหารเข้าไป อาหารจะถูกย่อยและเปลี่ยนเป็นกลูโคสเพื่อดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนที่เหลือจากการย่อยจะถูกเก็บไว้ในตับและกล้ามเนื้อ เรียกว่า ไกลโคเจน หากวันใดเราขาดสารอาหาร น้ำตาลในเลือดลดลง ตับก็จะเปลี่ยนไกลโคเจนให้เป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานสำรองให้กับร่างกาย อย่างไรก็ตาม เมื่อไกลโคเจนถูกดึงออกมาใช้จนหมดแล้ว ร่างกายก็จะไปสลายไขมันและกรดอะมิโนออกมาใช้เป็นพลังงานทดแทน

เราอดอาหารได้นานแค่ไหน

อดอาหารได้นานแค่ไหน

          ร่างกายของคนทั่วไปจะทนต่อภาวะการขาดสารอาหารได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์ หรือประมาณ 30-60 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย ในที่นี้หมายถึงเฉพาะการอดอาหารเพียงอย่างเดียว ไม่รวมถึงการขาดน้ำ เพราะหากขาดน้ำร่างกายอาจจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ 

           ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก หมอเวร เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาการอดอาหารในแต่ละชั่วโมงไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

หลังจากอดอาหาร 12 ชั่วโมง

          ใน 3-4 ชั่วโมงแรก ร่างกายจะดึงพลังงานจากอาหารมื้อล่าสุดที่กินเพื่อเอามาใช้งานก่อน หลังจากนั้นถ้าพลังงานตรงนี้หมดจะไปดึงพลังงานส่วนไกลโคเจนมาใช้แทน หมายถึงดึงพลังงานจากคาร์บที่อยู่ในกระแสเลือดมาใช้ ตอนนี้ยังถือว่าสบาย ๆ

หลังจากอดอาหาร 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน

          พอครบ 24 ชั่วโมงร่างกายจะเริ่มโหย เพลียนิดหน่อย ท้องจะเริ่มร้อง ระดับโซเดียมในเลือดสูงขึ้น ความดันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย พอไกลโคเจนในเลือดหมดแล้ว ร่างกายจะดึงพลังงานมาใช้ก็คือกลูโคสหรือน้ำตาลส่วนที่เล็กที่สุดในร่างกายนั่นเอง หลัก ๆ จะดึงกลูโคสไปใช้งานกับสมองก่อน เพราะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด

หลังจากอดอาหาร 36 ชั่วโมง

           ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง เพราะไม่มีสารอาหารประเภทคาร์บหรือไขมันตกถึงท้อง ถ้ากลูโคสหมด ร่างกายจะดึงโปรตีนมาใช้ต่อ หรือถ้าไม่พอก็จะเริ่มดึงไขมันที่สะสมใต้ผิวหนังมาใช้แทน ผิวหนังจะเริ่มซีดลง ลิ้นแห้งและอาจมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณลิ้น เริ่มมีกลิ่นปากที่รุนแรงขึ้น เพราะของเสียจากการเผาไขมันจำพวกคีโตนทำให้มีกลิ่นที่รุนแรง

หลังจากอดอาหาร 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน

           เมื่อครบ 2 วัน ดวงตาจะเริ่มอ่อนแรง อาจมีอาการแทรก เช่น ปวดหัว หรือรู้สึกไม่มีแรง ร่างกายจะขุดไขมันสะสมมาใช้อย่างจริงจัง ปกติไขมันสำรองของคนทั่วไปจะสามารถนำมาเผาผลาญเป็นพลังงานต่อไปได้อีกอย่างน้อย 60-80 ชั่วโมง ใครที่มีน้ำหนักตัวเยอะหรือมีไขมันสะสมเยอะก็จะอยู่ได้นานขึ้น

หลังจากอดอาหาร 60 ชั่วโมง

           เมื่อเข้าวันที่สาม ความหิวเราจะลดลง ตอนนี้ร่างกายจะเริ่มดึงทั้งไขมันและดึงกล้ามเนื้อมาเผาผลาญพลังงานอย่างเต็มที่ เป็นจังหวะที่ร่างกายเราจะเริ่มปรับตัวได้แล้ว ถ้ายังมีน้ำกินอยู่จะรู้สึกตัวเบา และค่อนข้างแอ็คทีฟเป็นพิเศษได้อีกหลายวัน ถือเป็นกลไกธรรมชาติเหมือนสั่งให้เราห้ามตาย และพยายามลุกออกไปหาอาหารมาเติมลงกระเพาะให้ได้

หลังจากอดอาหาร 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน

          จะรู้สึกตัวเบา ๆ โหวง ๆ อาจจะมีวูบ ๆ บ้างเวลาลุกเร็ว ๆ เพราะน้ำตาลในเลือดเราลดลงอย่างฮวบฮาบ รวมถึงดึงไขมันและกล้ามเนื้อมาเป็นพลังงานแทน

หลังจากอดอาหาร 90 ชั่วโมง

          ตรงนี้เริ่มน่าเป็นห่วงเล็กน้อย เพราะปกติแล้วเราจะกินคาร์โบไฮเดรตจากอาหารต่าง ๆ แต่พอเราขาดคาร์บจากการกิน ร่างกายเราเลยไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมันในเส้นเลือด ทำให้เลือดในร่างกายเริ่มค่อย ๆ เสียไปเรื่อย ๆ ทีละน้อย ๆ ส่วนการดำรงชีพก็ยังคงดึงชั้นไขมันมาใช้ได้อยู่เหมือนเดิม

หลังจากอดอาหาร 168 ชั่วโมง หรือ 1 สัปดาห์

          จุดวิกฤตคือประมาณ 7-10 วัน ร่างกายที่เคยกระปรี้กระเปร่าจะเริ่มหมดเรี่ยวแรงไม่สามารถขยับไปไหนได้แล้ว อวัยวะภายใน ตับ ไต เริ่มพังทีละส่วน เนื่องจากเลือดเป็นพิษ ถ้าเลือดเป็นพิษถึงระดับ 30% ของเลือดในร่างกายทั้งหมด ก็จะเป็นจุดที่อันตรายที่สุด เพราะทำให้มีสารพิษวิ่งเข้าสู่สมองได้ นับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของจริง

อดอาหารทำให้เสียชีวิตได้อย่างไร

อดข้าวกี่วันตาย

          อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เมื่อเราอดอาหาร ร่างกายจะดึงพลังงานจากส่วนอื่นโดยการสลายไขมัน สลายกล้ามเนื้อออกมาใช้ทดแทน กระทั่งหากไม่สามารถดึงส่วนใดออกมาใช้ได้แล้ว ร่างกายก็จะเริ่มอ่อนเพลีย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดลดลง สมองตื้อ คิดอะไรไม่ออก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ความแข็งแรงของร่างกายก็ลดลงไปด้วย เพราะร่างกายดึงเอาสารอาหารในกล้ามเนื้อออกมาใช้เป็นพลังงานหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ

          นอกจากนี้การขาดสารอาหารยังส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่ดี จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น สุดท้ายคืออวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น ตับ ไต หัวใจ เข้าสู่ภาวะการทำงานล้มเหลว ยิ่งคนที่ขาดน้ำร่วมด้วยจะมีปัญหาปัสสาวะไม่ออก ทำให้ของเสียคั่งค้างสะสมในร่างกายมากขึ้น เกิดภาวะไตวาย ความดันลดลง จนถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้

           อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ขาดอาหารไปหลายวันแล้วจะกลับมารับประทานอีกครั้ง ก็ไม่ควรรับประทานอาหารหนัก ๆ เข้าไปทันที เพราะอาจเกิดภาวะ Refeeding syndrome ที่ร่างกายได้รับสารอาหารและดึงพลังงานไปใช้พร้อมกัน แร่ธาตุต่าง ๆ จะเข้าสู่เซลล์ทั้งหมดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกลือแร่เกิดความไม่สมดุลจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่อดอาหารมาหลายวันจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย

บทความที่เกี่ยวข้องกับการอดอาหาร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อดอาหารได้มากสุดกี่วัน ร่างกายอดข้าว-ขาดน้ำได้นานแค่ไหนถึงเป็นอันตรายต่อชีวิต อัปเดตล่าสุด 15 พฤษภาคม 2567 เวลา 17:46:42 26,710 อ่าน
TOP
x close