12 โรคที่เกิดจากการขาดสารอาหาร กินน้อยเกินไป อันตรายกว่าที่คิด !

          ขาดสารอาหาร ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะเสี่ยงป่วยได้ตั้งหลายโรค ใครชอบเลือกกิน งานนี้ต้องระวัง !
ขาดสารอาหาร

          ในปัจจุบันนี้ คนเรากินอาหารกันยากขึ้น บางคนก็เลือกกิน บางคนก็กินน้อย อย่างเช่น เด็ก ๆ ที่คอยเขี่ยผักออกจากจานอาหาร หรือกลุ่มคนที่อยากลดน้ำหนัก แต่เลือกที่จะลดแบบไม่ถูกวิธี โดยใช้การอดอาหารหรือกินน้อย ๆ แทน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก เพราะสามารถทำให้ร่างกายขาดสารอาหารต่าง ๆ ได้ ยังไม่รวมถึงคนในชนบทหรือคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีทางเลือกในการรับประทานอาหารมากนัก คนกลุ่มนี้ก็เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เสี่ยงต่อโรคขาดสารอาหารเช่นกันค่ะ และอาจนำมาซึ่งโรคภัยเหล่านี้

ภาวะทุพโภชนาการ


          ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าภาวะทุพโภชนาการ ก็คือการได้รับปริมาณสารอาหารที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะกินอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ได้ค่ะ อย่างกรณีกินมากเกินไปมักพบในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เพราะมีโอกาสเลือกกินอาหารได้มากมาย ซึ่งการกินไม่ยั้งนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและไขมันในเลือดสูงได้อย่างง่าย ๆ

          ส่วนกรณีขาดสารอาหารมักเกิดในกลุ่มคนชนบทมากกว่า โดยเฉพาะเด็ก ๆ หรือคนในเมืองที่มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ไม่สู้ดีนัก มีฐานะยากลำบากหาอาหารบางประเภทกินได้ยาก ก็มีโอกาสได้รับสารอาหารไม่พอเพียง ซึ่งอาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ภูมิต้านทานต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย และเป็นโรคต่าง ๆ ตามชนิดของสารอาหารที่ขาดค่ะ

          วิธีรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะทุพโภชนาการก็คือ หากทราบว่าขาดสารอาหารอะไรก็ต้องกินอาหารประเภทนั้นให้มากขึ้น หรือหากมีอาการรุนแรงต้องไปพบแพทย์ แพทย์ก็อาจให้สารอาหารชนิดนั้นทางหลอดเลือดดำ พร้อมกับรักษาแบบประคับประคองอาการป่วยที่เป็นไปด้วย

ขาดสารอาหาร

โรคท้องผูก 

          ทุกคนน่าจะรู้ดีว่าอาการท้องผูกเกิดจากร่างกายไม่ได้รับไฟเบอร์จากผักและผลไม้ ดังนั้นการขาดไฟเบอร์ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีอาการท้องผูก ถ่ายยาก ถ่ายออกมาเป็นก้อนแข็ง หรือเป็นก้อนที่เล็กลงได้ ทว่าในกลุ่มคนที่ลดน้ำหนัก ลดแป้งด้วย อาจจะเจออาการท้องผูกเนื่องจากการรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดี เช่น โฮลวีท โฮลเกรน ไม่เพียงพอด้วยเหมือนกัน

          ดังนั้นหากไม่อยากท้องผูกก็ต้องหาอาหารที่มีไฟเบอร์หรือกากใย และแป้งชนิดดีที่มีไฟเบอร์ เช่น ข้าวโอ๊ต โฮลเกรน โฮลวีท ข้าวกล้อง ถั่ว ถั่วดำ ลูกพรุน ฟักทอง มะละกอ มะขาม เม็ดแมงลัก ข้าวโพด แอปเปิล ฝรั่ง สับปะรด หรือขี้เหล็กมากินให้มาก ๆ นะคะ อ้อ แล้วก็อย่าลืมดื่มน้ำให้เยอะ ๆ ด้วย เพราะน้ำช่วยให้อุจจาระของเราอ่อนตัวลง จึงถ่ายออกมาได้ง่ายขึ้น หรือจะลองรักษาด้วยวิธีข้างล่างนี้ก็ได้ค่ะ

          - ท้องผูก อาการยอดฮิต ต้องพิชิตด้วยการเปลี่ยนนิสัย !
          - บอกลาอาการท้องผูก ด้วย 10 วิธีง่าย ๆ ช่วยให้ถ่ายได้ทุกเช้า
          - 14 สุดยอดผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง แถมจัดเต็มแก้ท้องผูก สูตรนี้เริดแน่
          - 14 ของกินเล่นไฟเบอร์สูง แก้ท้องผูกก็เวิร์ก

ขาดสารอาหาร

โรคเหน็บชา

          โรคนี้เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 ค่ะ ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยส่งกระแสความรู้สึกของเส้นประสาททุกส่วนในร่างกาย หากเรากินอาหารที่มีวิตามินบี 1 น้อยเกินไป อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้เลยก็คือจะมีอาการเจ็บหรือชาที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยมากจะเป็นที่บริเวณปลายนิ้วมือปลายเท้าและขา อาจรู้สึกแปล๊บ ๆ ร่วมด้วย

          แต่ที่น่ากลัวคือ หากขาดวิตามินบี 1 มาก ๆ และเป็นเวลานาน ร่างกายจะดึงเอาวิตามินที่สะสมไว้ในร่างกายออกมาใช้ ซึ่งจะหมดไปภายใน 1 เดือน ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น เริ่มจากอ่อนเพลีย เป็นตะคริวง่าย หอบเหนื่อย แขนขาไม่มีแรง จนถึงขนาดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และถึงขั้นหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้เลย

          - 13 สัญญาณว่าคุณกำลังขาดวิตามินบี 1 รู้ให้ทัน ป้องกันการเสียชีวิต

          ดังนั้นแล้ว เราควรกินวิตามินบี 1 ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย คือ ประมาณ 1 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย และ 0.9 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง ซึ่งหาได้จากธัญพืช ไข่แดง ตับ ข้าวซ้อมมือหรือข้าวที่ไม่ขัดขาว และเนื้อหมู เนื่องจากหมูก็กินรำข้าวเป็นหลัก ซึ่งรำข้าวมีวิตามินบี 1 อยู่มาก เนื้อหมูจึงมีวิตามินบี 1 ไปด้วยนั่นเอง

โรคปากนกกระจอก

          สาเหตุหนึ่งของการเป็นโรคปากนกกระจอกมาจากการขาดวิตามินบี 2 ที่พบได้มากในเนื้อสัตว์ ตับ ผักใบเขียว และนม โดยเฉพาะนมแม่ โดยที่โรคปากนกกระจอกจะมีอาการเป็นแผลหรือรอยแตกที่มุมปาก ริมฝีปากเจ่อบวม ลิ้นมีสีแดงและเจ็บมาก หรือมีแผลอยู่ในปาก ซึ่งในบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด และเบื่ออาหารร่วมด้วยค่ะ ซึ่งแม้โรคนี้จะไม่ได้เป็นอันตรายอะไรมาก แต่ก็สร้างความรำคาญให้คนที่เป็นสุด ๆ

          อย่างไรก็ตาม โรคนี้รักษาให้หายได้ไม่ยาก โดยหากสาเหตุของโรคเกิดจากการขาดวิตามินบี 2 ก็เพียงแค่กินอาหารที่มีวิตามินบี 2 เยอะ ๆ หรือกินวิตามินบีรวมที่เป็นเม็ด ๆ ก็ได้ แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อเริม เชื้อแบคทีเรีย หรือแพ้อะไรบางอย่าง ก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการนะคะ  

ขาดสารอาหาร

โรคลักปิดลักเปิด

          โรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟันที่ทุกคนคุ้นหู มีสาเหตุหลักมาจากการขาดวิตามินซี ส่งผลให้เหงือกบวม เหงือกยุ่ย ตัวซีด และมีเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย และอย่าพึ่งชะล่าใจคิดว่าอาการแค่นี้ไม่เป็นอันตรายนะคะ เพราะหากไม่รีบรักษาให้หายอาจมีอาการเหงือกเน่า จนทำให้ฟันหลุดร่วงลงมาได้ ดังนั้นถ้าพบว่าตัวมีอาการคล้ายจะเป็นโรคลักปิดลักเปิด ขอแนะนำรีบป้องกันหรือรักษาอาการเบื้องต้นด้วยการกินอาหารที่มีวิตามินซีสูง ๆ อย่างผักและผลไม้ เช่น ส้ม มะขามป้อม มะนาว ฝรั่ง ซึ่งถ้ากินได้ในทุกมื้อก็จะดีมาก เพราะวิตามินซีจากอาหารที่กินไปจะได้ไปบำรุงร่างกายในส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย

          - 10 ผลไม้ให้วิตามินซีสูงปรี๊ด สกัดหวัด เสริมภูมิคุ้มกัน

ขาดสารอาหาร

โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตา

          หลาย ๆ คนอาจไม่ค่อยรู้จักโรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตามากนัก เพราะโรคนี้ไม่ค่อยพบในสมัยนี้สักเท่าไร เนื่องจากส่วนมากจะเกิดกับครอบครัวในชนบทหรือครอบครัวที่มีฐานะยากจน แถบ ๆ ภาคอีสาน ที่ให้เด็กกินนมข้นหรือกล้วยบดเป็นหลัก ทำให้ขาดวิตามินเอและสารอาหารอื่น ๆ แต่ในปัจจุบันหลาย ๆ ครอบครัวต่าง ๆ ก็มีความรู้เกี่ยวกับอาหารมากขึ้นแล้ว
 
          โดยโรคนี้จะมีอาการจอตาเสื่อม ทำให้ตาฟางเวลามองตอนกลางคืน ตาแห้ง ต่อมน้ำตาไม่ทำงาน เมื่อมีอาการหนักขึ้น ตาขาวจะเป็นสีเทาเข้ม กระจกตาจะฝ้า มีอาการอักเสบได้ง่าย จนทำให้ตาบอดได้ แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาและป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการกินวิตามินเอ ทั้งจากอาหารหรือในรูปแบบวิตามินเสริมให้มีปริมาณเพียงพอตามที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน คือ 5,000 ไอยูสำหรับผู้ชาย และ 4,000 ไอยูสำหรับผู้หญิง เพราะโรคนี้มีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินเอ และวิตามินเอเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อประสาทตา ดังนั้นถ้าร่างกายได้รับวิตามินเอในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะช่วยบรรเทาและป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ได้ค่ะ
 
โรคโลหิตจาง

          โรคโลหิตจาง อาการป่วยของคนขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากมีธาตุเหล็กในร่างกายไม่เพียงพอที่จะสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิง เพราะต้องเสียเลือดเป็นประจำทุกเดือน หรือต้องขาดธาตุเหล็กมากหลังคลอดลูก โดยจะมีอาการไม่มีแรง เหนื่อย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นแรง และมีผิวซีด ซึ่งต้องเข้าพบหมอเพื่อการรักษาต่อไป

          แต่หากใครที่อยากป้องกันโรคนี้ไว้ก่อน ก็ทำได้โดยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก อย่าง เนื้อสัตว์ เครื่องใน อาหารทะเล ไข่ ผักใบเขียว แต่ต้องระวังอย่าให้มากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อตับและหัวใจได้ โดยผู้ชายควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 10 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้หญิงควรได้รับมากกว่าหน่อยประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับปริมาณธาตุเหล็กมากกว่าคนทั่วไปคือ 40 มิลลิกรัม และเมื่อคลอดลูกแล้ว แต่ยังอยู่ในภาวะให้นมบุตรควรลดลงมาเหลือที่ 15 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ

          - อาหารบำรุงเลือด กินอย่างนี้สิป้องกันภาวะโรคโลหิตจาง

โรคคอพอก

          โรคคอพอกหรือที่เรารู้จักกันในชื่อโรคไทรอยด์ต่ำเป็นโรคที่มีสาเหตุจากการขาดสารไอโอดีน ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ง่วงซึม มีการเผาผลาญอาหารลดลง และมีก้อนที่บริเวณคอ หากพบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวควรเข้าพบแพทย์ เพื่อหาทางรักษา แต่ถ้ายังไม่เป็นก็สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารที่มีไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอคือ 150-200 ไมโครกรัมต่อวัน โดยอาหารที่มีไอโอดีนสูง คือ อาหารทุกชนิดที่มาจากทะเล หรือหากเป็นไทรอยด์อยู่แล้ว แนะนำให้เช็กว่าคนเป็นโรคไทรอยด์ ประเภทไฮโปไทรอยด์ ควรกินหรือไม่กินอะไรเพื่อไม่ให้กระตุ้นอาการของโรคได้จากลิงก์นี้เลยค่ะ

            - โรคไทรอยด์-ไทรอยด์เป็นพิษ ห้ามกินอะไร เลี่ยงไว้เพื่อความปลอดภัย 
 
โรคเอ๋อหรือเครทินิซึม (cretinism)

          โรคปัญญาอ่อนอย่างถาวรหรือโรคเอ๋อ เป็นโรคที่เป็นตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ขาดไอโอดีน ทำให้ตัวอ่อนในครรภ์เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้ ซึ่งฮอร์โมนนี้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสมอง จึงทำให้ลูกที่คลอดออกมาพิการ มีอาการหูหนวก เป็นใบ้ มีสติปัญญาต่ำ หรือบางรายที่รุนแรงมากอาจทำให้ลูกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม คือ ประมาณวันละ 250 ไมโครกรัม ซึ่งหาได้จากอาหารทะเลทุกชนิด หรือหากไม่สามารถกินอาหารทะเลได้บ่อยครั้ง อาจซื้อเกลือเสริมไอโอดีนมากินก็ได้เหมือนกันค่ะ โดยกินเกลือเสริมไอโอดีนเพียงวันละประมาณ 1 ช้อนชา (5 กรัม) ก็จะได้รับไอโอดีนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันแล้ว

ขาดสารอาหาร

โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ


          นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่พบมากในแถบภาคเหนือ ภาคอีสาน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ชาย โดยจะมีอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะแล้วแสบ หรือปวดท้องน้อย เนื่องจากขาดโพแทสเซียม แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส เพราะสารอาหารที่กล่าวไปสามารถลดการก่อตัวของผลึกออกซาเลตที่เป็นสาเหตุหนึ่งของนิ่วได้ ดังนั้นหากอยากป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จึงควรกินอาหารมีโพแทสเซียม แมกนีเซียม และฟอสฟอรัสเยอะ ๆ เช่น ลูกพรุน ไข่ ปลา นม เห็ด สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ เครื่องใน ถั่ว เมล็ดพืช ผักใบเขียว และผลไม้ ส่วนในเด็กทารกก็จะเป็นจะต้องได้รับนมแม่ในปริมาณมาก ๆ ค่ะ

โรคกระดูกอ่อน

          แน่นอนว่าสิ่งที่จำเป็นสำหรับกระดูกก็คือแคลเซียมและฟอสฟอรัส ดังนั้นคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าโรคกระดูกอ่อนจะเกิดจากการขาดสารอาหารชนิดใด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ขาดแคลเซียมหรือฟอสฟอรัสเท่านั้นที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้ เพราะพบว่าผู้ที่มีอาการขาดวิตามินดีที่ส่วนมากได้รับจากแสงแดด ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคนี้ด้วย เนื่องจากวิตามินดี เป็นสารอาหารที่ช่วยดูดซึมแคลเซียม ดังนั้นหากขาดทั้งสองสารอาหารนี้ไปจึงทำให้กระดูกไม่แข็งแรง จนมีอาการกระดูกอ่อนได้

          โดยอาการกระดูกอ่อนทำให้ทรงของกระดูกเปลี่ยนไป เช่น ขาโก่ง เข่าชนติดกัน หรือกระดูกซี่โครงแอ่น อีกทั้งยังมีอาการอ่อนเพลียและกล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งถ้าเป็นโรคนี้แล้วต้องพบแพทย์เพื่อหาทางรักษา แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันได้โดยการกินอาหารที่มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินดีเยอะ ๆ ส่วนมากจะพบได้ใน นม งา ถั่ว เต้าหู้ ไข่แดง เครื่องใน ปลา และผักใบเขียวค่ะ

ขาดสารอาหาร

โรคสมองเสื่อม

          USDA Human Nutrition Research Center ที่บอสตัน พบว่า ผู้ที่กินอาหารที่มีวิตามินบีสูงจะมีความจำที่ดี เพราะวิตามินบีเป็นสารอาหารที่ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างปกติ ดังนั้นผู้ที่ขาดวิตามินบี เซลล์สมองอาจทำงานได้ไม่เหมือนเดิม จนเป็นสาเหตุที่ทำให้สมองเสื่อมได้ แล้วยิ่งถ้าผู้ป่วยคนนั้นติดเหล้าด้วยละก็ สมองก็จะยิ่งถูกทำลาย จนส่งผลให้เซลล์สมองเสียหาย ฉะนั้นทางที่ดีเราควรกินอาหารที่มีวิตามินบี ทั้งวิตามินบี 1 บี 6 และบี 12 ให้มาก ๆ เช่น ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช ถั่ว งา เนื้อสัตว์ ผัก ปลา และนม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมลงได้ค่ะ
 
          เห็นไหมคะว่าการที่เราขาดสารอาหารสามารถทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้มากมายขนาดนี้ ดังนั้น เราควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรง และลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ จากการขาดสารอาหารเหล่านี้ลงไปด้วย

(อ่านเพิ่มเติม อาหาร 5 หมู่ มีประโยชน์อย่างไร)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 โรคที่เกิดจากการขาดสารอาหาร กินน้อยเกินไป อันตรายกว่าที่คิด ! อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 11:49:47 159,509 อ่าน
TOP
x close