น้ำตาเทียม คืออะไร
น้ำตาเทียม
มีประโยชน์อย่างไร
-
ทำให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น ลดอาการระคายเคืองดวงตา แสบตา ตาแห้ง
-
ลดการเสียดสีระหว่างเปลือกตาและกระจกตา ทำให้รู้สึกสบายตาขึ้น
-
ช่วยสร้างชั้นป้องกันบนกระจกตา จึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
-
ช่วยสมานผิวชั้นนอกของลูกตา
-
ช่วยสมานแผลที่ผิวกระจกตา สำหรับผู้ที่ผ่าตัดดวงตาหรือทำเลสิก
-
บรรเทาอาการเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ที่ตา
-
ช่วยให้รู้สึกสบายตาขึ้นขณะใส่คอนแทคเลนส์ และยังช่วยให้ถอดคอนแทคเลนส์ออกง่ายขึ้น
-
ช่วยนำสิ่งแปลกปลอม เช่น ขนตา ฝุ่นผง ออกจากดวงตาได้ง่ายขึ้น
-
ช่วยระบายความดันภายในลูกตา จึงยับยั้งอาการต้อหินไม่ให้รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่
-
ช่วยลดการระคายเคืองและเร่งการฟื้นตัวของดวงตาหลังการผ่าตัด
น้ำตาเทียม
มีส่วนประกอบอะไรบ้าง
น้ำตาเทียมถูกออกแบบมาเพื่อเลียนแบบน้ำตาธรรมชาติ ช่วยหล่อลื่นและปกป้องดวงตาจากความแห้งกร้าน โดยส่วนประกอบหลัก ๆ ที่พบในน้ำตาเทียม ได้แก่
-
สารให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น
-
โซเดียมไฮยาลูโรเนต (Sodium Hyaluronate : HA) ช่วยกักเก็บน้ำ ทำให้ดวงตารู้สึกชุ่มชื้นยาวนาน
-
คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (Carboxymethylcellulose : CMC) ช่วยเพิ่มความหนืดให้กับน้ำตาเทียม ทำให้เคลือบผิวดวงตาได้นานขึ้น ลดการระคายเคืองเมื่อกะพริบตา
-
ไฮดรอกซีเอทิลเซลลูโลส (Hydroxyethyl Cellulose : HEC) ช่วยเพิ่มความหนืดและความชุ่มชื้นให้ดวงตาเช่นเดียวกับคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส
-
-
บัฟเฟอร์ควบคุมสมดุลความเป็นกรดด่างของน้ำตาเทียม เพื่อปรับค่า pH ให้ใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติ
-
สารปรับสภาพตึงตัวให้น้ำตาเทียมสามารถเข้ากับน้ำตาได้ ช่วยให้ดวงตารู้สึกสบายและไม่ระคายเคือง เช่น โซเดียมคลอไรด์ แคลเซียมคลอไรด์
-
สารที่ทำให้คุณสมบัติของน้ำตาเทียมใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัยของดวงตา เช่น โซเดียมคลอไรด์, แคลเซียมคลอไรด์, แมกนีเซียมคลอไรด์ และโพแทสเซียมคลอไรด์
-
สารกันเสีย ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในขวดน้ำตาเทียม ช่วยให้สามารถเก็บน้ำตาเทียมไว้ใช้ได้นานขึ้น
อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบของน้ำตาเทียมแต่ละยี่ห้ออาจแตกต่างกันไป ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนใช้ หรือปรึกษาเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำ
น้ำตาเทียม มีกี่ประเภท
น้ำตาเทียมที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเภท คือ
-
น้ำตาเทียมชนิดสารละลาย : หรือน้ำตาเทียมแบบน้ำ มีลักษณะเป็นของเหลวใส เป็นรูปแบบที่นิยมที่สุด สามารถหยอดได้บ่อยตามความจำเป็นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ซึ่งมีทั้งแบบใส่สารกันเสียและไม่ใส่สารกันเสีย อีกทั้งแบ่งเป็นรายวันและรายเดือน คือ
-
น้ำตาเทียมแบบกระเปาะเล็ก หรือน้ำตาเทียมรายวันที่ต้องใช้ให้หมดภายใน 1 วัน หลังเปิดฝา ส่วนใหญ่จะไม่ใส่สารกันเสีย
-
น้ำตาเทียมแบบขวดหรือแบบหลอด หรือน้ำตาเทียมรายเดือนที่ต้องใช้ให้หมดใน 1 เดือน หลังเปิดฝา
-
-
น้ำตาเทียมชนิดเจล : เป็นน้ำตาเทียมที่มีความหนืดมากกว่าแบบน้ำ จึงช่วยรักษาความชุ่มชื้นได้นานขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งปานกลางถึงรุนแรง
-
น้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้ง : เป็นน้ำตาเทียมที่มีความหนืดมากที่สุด เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งรุนแรง และควรใช้ก่อนนอน เพราะหลังใช้จะมีอาการตาพร่ามัว แต่ไม่ควรใช้ในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์
วิธีเลือกซื้อน้ำตาเทียม
-
เลือกชนิดของน้ำตาเทียมให้เหมาะสม โดยหากมีอาการตาแห้งไม่มากนักก็สามารถเลือกใช้น้ำตาเทียมชนิดสารละลายที่เป็นของเหลวได้ ซึ่งใช้งานได้สะดวกและหยอดได้บ่อยตามต้องการ แต่ถ้ามีอาการตาแห้งปานกลางถึงรุนแรงควรใช้น้ำตาเทียมชนิดเจลหรือขี้ผึ้ง
-
เลือกประเภทของน้ำตาเทียมว่าต้องการใช้แบบรายวันหรือแบบรายเดือน
-
น้ำตาเทียมรายวัน (unit dose) : ส่วนใหญ่ไม่มีสารกันเสีย เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวหนังรอบดวงตาบอบบาง แพ้ง่าย หรือใส่คอนแทคเลนส์ สามารถหยอดได้บ่อยตามต้องการ หลังจากเปิดใช้แล้วควรใช้ให้หมดภายใน 12-24 ชั่วโมง แต่ราคาอาจสูงกว่าชนิดรายเดือน
-
น้ำตาเทียมรายเดือน (multiple dose) : มีส่วนผสมของสารกันเสียในปริมาณน้อย เพื่อยืดอายุการใช้งาน หลังจากเปิดใช้แล้วสามารถใช้ได้นาน 1 เดือน ข้อดีคือ พกพาสะดวก ราคาประหยัดกว่าชนิดรายวัน เหมาะกับคนที่มีอาการตาแห้งเล็กน้อย ไม่ต้องหยอดบ่อย ๆ แต่ข้อเสียคืออาจแพ้ได้ง่าย และหากหยอดบ่อยเกินไป สารกันเสียอาจส่งผลกระทบต่อเซลล์เยื่อบุตา จึงไม่ควรใช้เกิน 4 ครั้งต่อวัน
-
-
กรณีใส่คอนแทคเลนส์ควรเลือกน้ำตาเทียมสําหรับคนใส่คอนแทคเลนส์โดยเฉพาะ หรือถ้าไม่สามารถหาซื้อได้อาจใช้น้ำตาเทียมรายวันที่ไม่มีส่วนผสมของสารกันเสีย เพราะคอนแทคเลนส์อาจดูดซับสารกันเสียและทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้ หรือทำให้คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสี
-
ตรวจสอบส่วนประกอบของน้ำตาเทียมว่ามีสารใดที่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือไม่
-
เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียนยา บริษัทผู้ผลิต วันผลิต วันหมดอายุ บนกล่องผลิตภัณฑ์
-
เปรียบเทียบราคาของน้ำตาเทียมแต่ละยี่ห้อ โดยเลือกให้เหมาะสมกับงบประมาณ ถ้าต้องการประหยัดควรเลือกชนิดรายเดือน
-
หากเพิ่งใช้น้ำตาเทียมครั้งแรก หรือไม่แน่ใจว่าจะเลือกซื้ออย่างไรดี ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา
น้ำตาเทียม ยี่ห้อไหนดี
ปี 2024
1. น้ำตาเทียม VISLUBE
น้ำตาเทียมวิสลูป (Vislube) แบบรายวัน เป็นน้ำตาเทียมที่มีสารโซเดียมไฮยาลูโรเนต 0.18% เป็นส่วนประกอบหลัก มีการปรับค่าความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ให้ได้ 140-160 มิลลิออสโมล/ลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับน้ำตาจริงตามธรรมชาติ จึงช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ดวงตา ใช้บรรเทาอาการตาแห้ง สมานผิวกระจกตา คนใส่คอนแทคเลนส์สามารถใช้ได้ เพราะไม่มีสารกันเสีย
-
ปริมาณ : 0.45 มิลลิลิตร/หลอด
-
ราคาประมาณ : กล่องละ 450 บาท (20 หลอด)
2. น้ำตาเทียม Cellufresh MD Lubricant Eye Drops
น้ำตาเทียมรายเดือนจากเซลลูเฟรช มีส่วนประกอบหลักคือ คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส โซเดียม (Carboxymethylcellulose sodium : CMC) 0.5% ที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งไม่รุนแรง มีส่วนช่วยลดอาการระคายเคืองตาจากแสงแดด ฝุ่นควันต่าง ๆ
-
ปริมาณ : 15 มิลลิลิตร
-
ราคาประมาณ : 180-200 บาท
3. น้ำตาเทียม Natear UD
น้ำตาเทียมแนทเทียร์ ยูดี แบบใช้ครั้งเดียว 1 หลอดมีปริมาณ 0.8 มิลลิลิตร มีสารสำคัญคือ ไฮโปรเมลโลส (Hypromellose) 0.3% สามารถใช้หยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองตาจากฝุ่นละออง รวมทั้งบรรเทาอาการระคายเคืองตาในคนที่ใส่คอนแทคเลนส์
-
ปริมาณ : 0.8 มิลลิลิตร/หลอด
-
ราคาประมาณ : กล่องละ 250-290 บาท (28 หลอด)
4. น้ำตาเทียม SYSTANE ULTRA UD
ซิสเทน อัลตร้า ยูดี น้ำตาเทียมแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่มีสารกันเสีย ใช้สำหรับบรรเทาอาการชั่วคราวจากการแสบตาและระคายเคืองตาที่เกิดจากความแห้งของดวงตา หรือจะใช้หล่อลื่นและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาที่ใส่คอนแทคเลนส์ก็ได้เช่นกัน โดยแบรนด์นี้ใช้โพลิเอทิลีนไกลคอล (Polyethylene glycol) 4 มิลลิกรัม เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำตาเทียม จึงช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น ยึดเกาะกับผิวกระจกตาได้นาน
-
ปริมาณ : 0.5 มิลลิลิตร/หลอด
-
ราคาประมาณ : กล่องละ 400 บาท (28 หลอด)
5. น้ำตาเทียม Alcon Tears Naturale Free (Lubricant Eye Drops)
Tears Naturale Free Lubricant Eye Drops จาก Alcon เป็นน้ำตาเทียมอีกแบรนด์ที่ได้รับความนิยม และหาซื้อไม่ยาก บรรจุมาในขนาด 0.8 มิลลิลิตร กล่องละ 32 ชิ้น ใช้ได้นาน มีส่วนประกอบของไฮโปรเมลโลส (Hypromellose) 0.3% และ Dextran 70 ปริมาณ 0.1% เหมาะกับคนที่มีอาการระคายเคืองตา หรือเพิ่งผ่าตัดตามา ควรใช้ภายใน 12 ชั่วโมง หลังเปิดฝา
-
ปริมาณ : 0.8 มิลลิลิตร/หลอด
-
ราคาประมาณ : กล่องละ 300 บาท (32 หลอด)
6. Bausch & Lomb Renu Multiplus Lubricating & Rewetting Drops
บอช แอนด์ ลอมบ์ รีนิว มัลติพลัส ลูบริเคทติ้ง แอนด์ รีเว็ตติ้ง ดร็อปส์ ผลิตภัณฑ์ดูแลดวงตาที่ให้ความชุ่มชื้นและหล่อลื่นดวงตาในขวดเดียว เหมาะกับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ใสและสีชนิดเนื้อนิ่ม รวมทั้งคอนแทคเลนส์ชนิดเปลี่ยนรายวัน สามารถหยอดตาได้โดยไม่ต้องถอดคอนแทคเลนส์ออก เพื่อช่วยบรรเทาอาการตาแห้งขณะใส่คอนแทคเลนส์
-
ปริมาณ : 8 มิลลิลิตร/ขวด
-
ราคาประมาณ : 120 บาท
7. น้ำตาเทียม Hialid 0.3%
น้ำตาเทียมไฮเอลิด 0.3% แบบรายเดือน จากประเทศญี่ปุ่น มีส่วนประกอบหลักคือ โซเดียมไฮยาลูโรเนต (Sodium Hyaluronate) ที่ช่วยกักเก็บน้ำ ทำให้ดวงตารู้สึกชุ่มชื้น บรรเทาปัญหาอาการเคืองตา คันตา ตาแห้ง รวมทั้งเพิ่มความสบายตาให้คนที่ใส่คอนแทคเลนส์ และสมานแผลกระจกตา เหมาะกับคนที่ใช้สายตาเยอะ ๆ หรือมีอาการแพ้ง่าย ใช้ได้ทุกวัน
-
ปริมาณ : 5 มิลลิลิตร
-
ราคาประมาณ : 250-300 บาท
วิธีใช้น้ำตาเทียมอย่างถูกต้อง
1. ล้างมือให้สะอาดก่อนหยอดน้ำตาเทียมทุกครั้ง
2. หากใส่คอนแทคเลนส์อยู่ให้ถอดก่อนใช้น้ำตาเทียม
3. เงยหน้าขึ้นเล็กน้อย ดึงเปลือกตาล่างลงเบา ๆ เพื่อให้มีช่องว่างสำหรับหยอดน้ำตาเทียม
4. เหลือบมองด้านบน แล้วหยอดน้ำตาเทียมลงบนกระเปาะตาส่วนล่างในปริมาณที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ อย่าให้ปลายขวดสัมผัสขนตาหรือดวงตา
5. กะพริบตาเบา ๆ เพื่อกระจายน้ำตาเทียมให้ทั่วดวงตา
6. หลับตาประมาณ 1-2 นาที เพื่อให้น้ำตาเทียมซึมเข้าสู่ดวงตาได้อย่างเต็มที่
7. รอสัก 10-15 นาทีจึงค่อยใส่คอนแทคเลนส์กลับไป
ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม
-
อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนผสมที่แพ้ และทำความเข้าใจวิธีใช้ ข้อควรระวัง
-
ตรวจสอบวันหมดอายุให้ดีก่อนใช้น้ำตาเทียม หากหมดอายุแล้วให้ทิ้งทันที ห้ามนำมาใช้แม้ยังมีน้ำตาเทียมเหลืออยู่
-
ใช้น้ำตาเทียมตามที่ระบุในเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์
-
หากใช้ครั้งแรกควรใช้ในปริมาณน้อยก่อน เนื่องจากบางคนอาจมีอาการแพ้น้ำตาเทียมหรือสารกันเสียที่อยู่ในน้ำตาเทียม
-
ขณะที่หยอดน้ำตาเทียมให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสปลายขวดกับดวงตาหรือขนตา เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและทำให้ติดเชื้อได้
-
หากต้องใช้น้ำตาเทียมและยาหยอดตาชนิดอื่น ควรเว้นระยะห่างจากกันประมาณ 10 นาที ถ้าไม่แน่ใจว่าสามารถใช้ร่วมกันได้ไหม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
-
กรณีเป็นน้ำตาเทียมแบบรายวัน ต้องใช้ให้หมดภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังจากเปิดฝา ถ้าเป็นน้ำตาเทียมรายเดือน ควรใช้ไม่เกิน 1 เดือน หลังจากเปิดขวดแล้ว
-
ไม่ใช้น้ำตาเทียมร่วมกับคนอื่นเพื่อป้องกันโรคติดต่อ
-
เก็บน้ำตาเทียมไว้ที่อุณหภูมิห้อง (ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส) ไม่อยู่ในบริเวณที่มีแสงแดด อากาศร้อนจนเกินไป และห้ามนำไปแช่แข็ง
-
ถ้าสงสัยว่าผลิตภัณฑ์มีการปนเปื้อน ควรเปลี่ยนหลอดหรือขวดใหม่ทันที
-
หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการระคายเคือง แสบตา น้ำตาไหล หรือมีภาวะตาแห้งมากกว่าเดิม ควรหยุดใช้ทันทีและปรึกษาแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพดวงตา
- วิตามินดูแลสายตายี่ห้อไหนดี เหมาะกับคนตาแห้ง ตาล้า ใช้สายตามากทุกวัน
- อาการตาพร่ามัว สาเหตุเกิดจากอะไร ปัญหาสายตาที่ต้องใส่ใจและควรรู้วิธีแก้
- ปิดไฟ เล่นโทรศัพท์ เสียสายตาไหม ป้องกันยังไงดี ?
- 15 ผักบำรุงสายตา หาง่ายใกล้ตัว ไม่อยากสายตาพร่ามัวต้องรีบกิน !
- 10 วิตามินบำรุงสายตา ตาพร่า ตามัว ดูแลด้วยอาหารใกล้ตัวตามนี้ !
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์, โรงพยาบาลพญาไท, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, โรงพยาบาลนครพิงค์, george.ph, tovpet.com, mart.grab.com, healpharmacyonline.com, alcon.com, bausch.co.th, santen.com