7 ผลไม้น้ำตาลสูง มีอะไรบ้างที่คนป่วยเบาหวาน หรือกำลังควบคุมน้ำตาลควรระวัง
ผลไม้น้ำตาลสูง หวานอร่อยลิ้นก็จริง แต่รับประทานมากเกินไปย่อมส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด แล้วมีผลไม้ชนิดไหนที่ต้องระวังบ้างนะ ?
สำหรับคนป่วยเบาหวาน หรือคนทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร แค่อยากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือกำลังลดน้ำหนัก คงพยายามเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูงทั้งหลาย และไม่ลืมเลี่ยงผลไม้น้ำตาลสูงบางชนิดด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่า ทุเรียน ลำไย มีน้ำตาลสูงที่สุดในบรรดาผลไม้ทั้งหมด แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ?
วันนี้นำข้อมูลงานวิจัยปริมาณน้ำตาลในผลไม้ไทย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาเผยให้ทราบกัน โดยเป็นการศึกษากับผลไม้ไทย 82 ตัวอย่าง เทียบกันต่อน้ำหนักส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัมเท่ากัน ลองมาดูว่า 7 อันดับแรกของผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงมีอะไรบ้าง
ผลไม้น้ำตาลสูง มีอะไรบ้าง
1. มะขามหวาน
มะขามหวาน เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ไฟเบอร์ก็จัดเต็ม ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น แต่คนที่ป่วยเบาหวานหรือกำลังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควรต้องเลี่ยงไว้ก่อนดีกว่า เพราะมะขามหวานครองแชมป์ผลไม้ที่มีน้ำตาลมากที่สุดจากงานวิจัยครั้งนี้ โดยมีน้ำตาลสูงถึง 58.28 กรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัมเลยทีเดียว
10 ประโยชน์ของมะขามด้านสุขภาพ ความดีที่หลายคนมองข้ามไป
2. อินทผลัม
อีกหนึ่งผลไม้ที่มีรสหวานจากธรรมชาติ กินแล้วช่วยให้ร่างกายสดชื่นทันที แม้จะมีคุณค่าทางอาหารจากวิตามินและแร่ธาตุค่อนข้างสูง แต่ปริมาณน้ำตาลก็สูงมิใช่น้อย เพราะในน้ำหนัก 100 กรัมที่รับประทานได้ มีน้ำตาลถึง 55.30 กรัม หรือคิดเป็นปริมาณน้ำตาลถึง 13.83 ช้อนชา หากอยากรับประทานจริง ๆ ก็ไม่ควรเกินวันละ 4 ผล ซึ่งในอินทผลัม 1 ผล (7.5 กรัม) จะให้น้ำตาลอยู่ราว ๆ 1 ช้อนชา
อินทผลัมกินแล้วอ้วนไหม เลือกกินแบบสดหรือแห้งได้ประโยชน์มากกว่า
3. พุทราจีนแห้ง
พุทราจีนแห้ง เป็นผลไม้ที่นิยมนำมาปรุงยาจีนหลายขนาน ด้วยสรรพคุณเด่น ๆ ที่กินแล้วช่วยฟื้นฟูกำลัง เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง อีกทั้งมีสารไลโคปีนและแอนโทไซยานินที่ดีต่อดวงตาและผิวพรรณ ทว่าปริมาณน้ำตาลก็สูงถึง 51.35 กรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม หรือประมาณ 12.84 ช้อนชา เนื่องจากในกระบวนการอบแห้ง น้ำส่วนใหญ่จะระเหยไป ทำให้ความเข้มข้นของน้ำตาลสูงขึ้น ฉะนั้นผู้ที่ควบคุมปริมาณน้ำตาลควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรเกินวันละ 10 ผล
4. กล้วยน้ำว้า
ในบรรดากล้วยแต่ละชนิด กล้วยน้ำว้ามีน้ำตาลสูงที่สุด คือ 23.67 กรัม (เมื่อเทียบต่อน้ำหนัก 100 กรัม) และยังมีน้ำตาลฟรักโทส รวมทั้งน้ำตาลกลูโคสมากกว่ากล้วยชนิดอื่น ทำให้มีรสชาติหวานอร่อย ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้เราใช้ได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับคนป่วยเบาหวานหรือคนที่กำลังลดน้ำหนักควรรับประทานอย่างพอเหมาะ เช่น ไม่เกินวันละ 1 ผล ซึ่งจะให้น้ำตาลอยู่ราว ๆ 11 กรัม หรือเกือบ ๆ 3 ช้อนชา
กล้วยน้ำว้า สรรพคุณไม่ธรรมดา เป็นผลไม้มีฤทธิ์เป็นยาที่ควรกินให้ได้ทุกวัน
5. กล้วยไข่
รองจากกล้วยน้ำว้าก็คือ กล้วยไข่ ที่พกน้ำตาลมา 21.83 กรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม หากรับประทาน 1 ผลเล็ก จะได้น้ำตาลราว ๆ 2 ช้อนชา พลังงาน 44 กิโลแคลอรี ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่สูงจนเกินไป พร้อมรับประโยชน์จากวิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี เบต้าแคโรทีน โพแทสเซียม แมกนีเซียม รวม ๆ แล้วช่วยเรื่องบำรุงสายตา ป้องกันโรคต้อกระจก บำรุงระบบประสาท ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย แนะนำให้เลือกผลที่สุกกำลังดี และหลีกเลี่ยงผลที่สุกจนงอม เพราะยิ่งงอมเท่าไร น้ำตาลก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น
6. กล้วยหอม
ตามมาติด ๆ กับกล้วยหอม ในน้ำหนัก 100 กรัม มีน้ำตาลซ่อนอยู่ 20.61 กรัม ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำตาลซูโครส อย่างไรก็ตาม แม้ดูเผิน ๆ จะมีน้ำตาลน้อยกว่ากล้วยน้ำว้ากับกล้วยหอม แต่ถ้าเทียบในปริมาณ 1 ผล กล้วยหอมยังให้น้ำตาลสูงกว่ากล้วยอีก 2 ชนิดเกือบ ๆ เท่าตัว (1 ผล น้ำหนัก 108 กรัม ให้น้ำตาล 5.56 ช้อนชา) ดังนั้น สำหรับคนทั่วไป กินครั้งละครึ่งผล หรือไม่เกินวันละผล ก็เพียงพอ
8 ประโยชน์ของกล้วยหอม ลองแล้วจะรัก
7. ลิ้นจี่ กะโหลก
ลิ้นจี่ ผลไม้เนื้อหวานฉ่ำน้ำ นอกจากช่วยดับกระหายคลายร้อนได้แล้ว ก็ยังอุดมไปด้วยสารอาหารและวิตามินที่มีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย ลดอาการร้อนใน บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ แก้ท้องเสีย ทั้งนี้ ลิ้นจี่ สายพันธุ์กะโหลก ในปริมาณ 100 กรัม จะให้น้ำตาล 18.65 กรัม ถ้าไม่อยากรับประทานมากเพราะกลัวส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด อาจรับประทาน 1-2 ผล ซึ่งจะให้น้ำตาลประมาณ 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชากว่า ๆ
อย่างไรก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่าข้อมูลงานวิจัยข้างต้นเป็นการเปรียบเทียบเฉพาะส่วนของผลไม้ที่รับประทานได้ 100 กรัมเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงผลไม้บางชนิดเราอาจรับประทานเพียงเล็กน้อย ไม่ถึง 100 กรัม หรือบางชนิดกินเพียงครึ่งผล หรือ 1 ผลก็เกิน 100 กรัมแล้ว สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จึงควรเปรียบเทียบเพื่อหาปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทานนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้องกับผลไม้