แซนวิช จานด่วนที่อาจไม่ปลอดภัย (Modernmom)
โดย: ผศ.นสพ.ดร.ศุภชัย เนื้อนวลสุวรรณ
ภาควิชาสัตว์แพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ กระทั่งวันหยุดยาว บางครอบครัวที่พอจะมีเวลาว่างสักเล็กน้อย ก็อาจจะมีการตระเตรียมอาหารหรือของว่างเองไปกินระหว่างเดินทาง เพื่อจะได้ไม่ต้องลุ้นว่าจะต้องผจญหรือสุ่มเสี่ยงกับอาหารนอกบ้านมากเกินไป ทั้งเรื่องสุขอนามัยหรือความสะอาดของร้านอาหาร แต่ใช่ว่าการเตรียมอาหาร เช่น อาหารจานด่วนทำเสร็จรวดเร็วนั้นก็อันตรายได้เช่นกัน
จานด่วนเชื้อโรคมาด่วน
อาหารจานด่วนหรือฟาสฟู้ดที่ได้รับความนิยมกันมาก รวมถึงการตระเตรียมก็ไม่ยุ่งยากมากนัก ก็เพียงแค่จัดหาส่วนประกอบอาหารที่พร้อมบริโภคอยู่แล้วนำมารวมกัน เช่น แซนวิชหรือแฮมเบอร์เกอร์
หลายท่านก็คงจะเริ่มเห็นภาพนะครับแล้วว่า แซนวิชนั้นทำง่ายมาก เพียงแต่ซื้อวัตถุดิบอาหารสำเร็จรูปนำมารวมกัน เช่น ขนมปัง ประกบรวมกับ ไส้แซนวิช ซึ่งอาจจะเป็น แฮม ปูอัด หมูหยอง เบคอน ทูน่า หรือไส้อื่นใดเท่าที่จะจัดหาได้ และเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้ครบด้วยการเพิ่มผักสลัดเข้าไป จากนั้นก็เชื่อมขนมปังกับไส้ ด้วยกาวที่ทานได้และมีรสชาติอร่อย เช่น Salad Cream Sandwich Spread หรือ มายองเนส เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็คงใช้เวลาไม่นานมากนัก
แม้ว่าวัตถุดิบอาหารทุกชนิดที่ประกอบเป็นแซนวิชจะมีความสะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภคเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นประเด็นที่หมอซุปต้องเน้นย้ำ คือ ความสะอาดของสองมือที่พ่อบ้านหรือแม่บ้านใช้ในการหยิบจับวัตถุดิบอาหารเหล่านี้เองที่อาจจะนำมาซึ่งอันตรายต่อสมาชิกในบ้าน
ทั้งนี้เนื่องจากบนผิวหนังของเราทุกคนนี้เองมีเชื้อโรคเกาะติดอยู่ตลอดเวลา โดยที่เชื้อโรคนี้มักจะพบแฝงตัวอยู่มากตามซอกหลืบเร้นลับต่าง ๆ ของร่างกายที่อาจจะไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอหรือเพียงพอ หากขาดความระมัดระวังในเรื่องความสะอาด ก็มีโอกาสมากทีเดียวที่ระหว่างการเตรียมอาหาร มือที่ไม่ได้ล้างสะอาดเพียงพอ หรือบังเอิญล้วงแคะแกะเกา ก็ไปประกอบอาหารให้สมาชิกในบ้านเท่ากับเป็นความหวังดีแต่ประสงค์ร้าย ไปแปะเชื้อโรคไว้ที่แซนวิช
จานด่วน กินไม่ด่วน ชวนเชื้อโรค
หากว่าแซนวิชที่ตระเตรียมเสร็จแล้วถูกสมาชิกในบ้านเปิบภายในเวลาไม่นานนัก ก็มักจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แต่หากบังเอิญว่าแซนวิชที่เตรียมไว้ข้ามคืนโดยทิ้งไว้นอกตู้เย็น หรือทิ้งไว้จนกระทั่งบ่ายหรือเย็นก่อนที่จะถูกทานเข้าไป ปัญหาก็จะเกิดขึ้น เนื่องจากเชื้อโรคจะมีเวลาในการเพิ่มจำนวนและสร้างสารพิษสะสมไว้ในแซนวิชเพียงพอที่จะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โดยอาการหลัก ๆ ของสารพิษ คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หนาวสั่น ความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่ได้รับเข้าไป
เปิบปลอดภัย...สไตล์หมอซุป
ล้างมือให้สะอาด (โดยอย่าลืมร้องเพลง ช้าง ให้จบก่อนด้วยครับ)
ทุกครั้งก่อนการหยิบจับวัตถุดิบอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีแผลที่มือหรือนิ้ว หรือเลวร้ายขนาดฝีหนองด้วย ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังก็ให้บังเอิญเป็นเชื้อโรคในกลุ่มเดียวกับเชื้อโรคอาหารเป็นพิษนี้เองด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการตระเตรีมอาหารเป็นอย่างยิ่ง
แต่หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงมือเพื่อไม่ให้เชื้อโรคปนเปื้อนลงไปในอาหาร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่มีแผลที่มือหรือนิ้วเท่านั้นที่จะสวมถุงมือได้นะครับ แต่ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังเช่นเดิม คือ พยายามไม่ให้ถุงมือไปสัมผัสกับผิวหนังนั่นเอง
หลังจากเตรียมแซนวิชแล้ว ควรจะเก็บแซนวิชในตู้เย็นหรือเก็บในที่เย็นตลอดเวลาก่อนถึงเวลาทานจริง เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจจะบังเอิญปนเปื้อนไม่ให้เพิ่มจำนวนและสร้างสารพิษออกมา
เพียงง่าย ๆ เท่านี้ "จานด่วน...จากใจ" ก็จะทำให้สมาชิกในบ้าน "อิ่มด่วน" และ คนเตรียมอาหารก็ได้ "อิ่มใจ" ไปในเวลาเดียวกันครับ
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก