ผื่นบอกโรค เป็นผื่นคันตามผิวหนังอย่าไว้ใจ ต้องสงสัยได้หลายโรค !


          เป็นผื่นคันตามผิวหนัง บางคนมีผื่นขึ้นตามตัวแต่ไม่คัน หรือเป็นผื่นคันแล้วมีไข้ร่วมด้วย มาเช็กกันค่ะว่าผื่นคันตามตัวเกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วบอกโรคที่ซ่อนอยู่ได้กี่โรคกันนะ

          ผื่นคันที่ขึ้นตามแขน ตามขา ยิ่งในพื้นที่ที่อับชื้นมาก ๆ อย่างข้อพับ ขาหนีบ หรือบางคนมีผื่นขึ้นตามหน้าและลำคอ ร่วมกับเหมือนจะมีไข้นิด ๆ บ้างก็มีผื่นเป็นปื้นแดงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดความกังวลใจว่าผดผื่นที่ขึ้นตามเนื้อตัวเกิดจากอะไรกันหว่า เป็นโรคผิวหนังอะไรหรือเปล่า งั้นก็ลองมาเช็กเลยค่ะว่า ผื่นบอกโรคอะไรได้บ้าง

ผื่นโควิด 19


          อาการโควิด 19 ที่พบได้บ่อยคือ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส แต่เมื่อมีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) พบผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ หรือแสดงอาการน้อยมาก แต่จะมีตุ่มหรือผื่นแดงขึ้นที่เท้า โดยลักษณะผื่นที่ปรากฏ คือ

          - มีผื่นแดงลักษณะคล้ายตาข่ายหรือเส้นใยเล็ก ๆ
          - มีจุดเลือดออก
          - มีผื่นบวมแดงคล้ายโรคลมพิษ
          - บางรายอาจมีลักษณะกลุ่มของตุ่มน้ำคล้ายโรคอีสุกอีใส

          หากใครมีตุ่มหรือผื่นขึ้นแบบฉับพลัน ร่วมกับอาการมีไข้ ไอ จาม และระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ หรือตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโควิด ควรไปตรวจหาเชื้อ เพราะหากป่วยขึ้นมาจริง ๆ จะต้องกักตัวเองและรักษาตัวตามขั้นตอนค่ะ หรือลองเช็กอาการอื่น ๆ ได้ตามข้อมูลต่อไปนี้

  

ไข้เลือดออก


          ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดหนักมากในหน้าฝน และเป็นโรคติดต่อที่ควรระวังให้ดีด้วยนะคะ ซึ่งผื่นที่บ่งชี้ว่าเกิดจากโรคไข้เลือดออกจะสามารถสังเกตได้ว่ามีความคล้ายผื่นคันจากยุงกัด แต่ผื่นนี้มักจะกระจายอยู่ทั่วตัว และจะสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นไข้เลือดออกผู้ป่วยจะมีไข้สูง แต่ไม่มีอาการไอหรือน้ำมูกไหล และจุดเลือดออกของโรคไข้เลือดออกจะไม่รู้สึกสากมือเหมือนโรคหัด และเวลากดดึงผิวหนังให้ตึงผื่นก็จะไม่จางหายไปเหมือนผื่นที่ถูกยุงกัดทั่วไป ซึ่งถ้ามีอาการตามนี้ร่วมกับมีไข้สูงตลอดเวลา ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน

โรคหัด


          สำหรับคนที่มีอาการไข้มาสักระยะ ร่วมกับอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หน้าแดง ตาแดง ไม่สู้แสง แล้วอีก 3-4 วัน จึงสังเกตเห็นผื่นสีน้ำตาลแดงนูนเล็กน้อยขึ้นตามตัว โดยผื่นจะเริ่มขึ้นที่ศีรษะก่อนจะลามมาตามใบหน้า และต่อมาก็มีผื่นขึ้นที่แขนและขา ลามไปทั่วตัวตามลำดับ โดยผื่นเหล่านี้อาจมีอาการคันเล็กน้อย จับแล้วจะรู้สึกสากมือ นอกจากนี้ หากมีจุดสีขาว ๆ เหลือง ๆ เล็กขนาดเม็ดงาที่กระพุ้งแก้มใกล้ฟันกรามล่าง ให้สงสัยถึงโรคหัดไว้ก่อนเลยค่ะ เพราะอาการนี่เป๊ะเลย ซึ่งโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ตามอาการ

โรคผิวหนัง

โรคหัดเยอรมัน


          โรคหัดกับหัดเยอรมันไม่ใช่โรคเดียวกันนะคะ แต่ต่างกันทั้งสายพันธุ์ไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการ รวมไปถึงลักษณะของผื่นที่ขึ้นตามตัวด้วย ซึ่งผื่นของหัดเยอรมันจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีชมพู จะเริ่มเป็นผื่นขึ้นบนใบหน้าก่อน จากนั้นจึงลามไปยังลำตัวและแขน ซึ่งอาการผื่นขึ้นตามตัวจะเกิดหลังจากมีไข้ต่ำ ๆ มาแล้ว 2-3 วัน ร่วมกับมีอาการปวดหัว คลำพบก้อนที่หลังหูและท้ายทอย ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ตาแดง ปวดตามข้อ ที่สำคัญผื่นของโรคหัดเยอรมันจะเกิดน้อยกว่าและหายเร็วกว่าผื่นของโรคหัดด้วย โดยอาจจะเป็นเพราะว่าเชื้อที่ทำให้เป็นโรคหัดเยอรมัน (Rubella) เป็นเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงน้อยกว่าเชื้อไวรัสอันเป็นสาเหตุของโรคหัดนั่นเอง ส่วนการรักษาโรคหัดเยอรมันโดยมากจะเป็นการรักษาตามอาการและรอให้ตัวโรคหายเอง เพระโรคนี้อาการไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

          อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโรคหัดหรือโรคหัดเยอรมัน ก็จัดเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งตามพื้นผิวและนำไปป้ายถูกที่เนื้อเยื่ออ่อนตามปาก จมูก ตา และบางส่วนติดต่อได้ผ่านทางการไอ จาม ดังนั้นนอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันแล้ว อีกแนวทางป้องกันโรคที่ทำได้ง่าย ๆ ก็คือการหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และพยายามอย่าใช้มือล้วง แคะ แกะ เกา อวัยวะบนใบหน้า
 

อีสุกอีใส


โรคผิวหนัง

          หากผื่นที่ขึ้นตามตัวมีลักษณะเป็นตุ่มนูนใส มีอาการคัน มีไข้ร่วมด้วย และพอเริ่มมีไข้ก็จะมีตุ่มนูนใสลามไปทั่วตัว โดยผื่นคันที่เกิดในช่วงแรกเริ่มแห้งและตกสะเก็ด ส่วนผื่นคันที่ขึ้นใหม่เป็นผื่นปื้นแดง หรือตุ่มใส บ่งชี้ได้ว่าผื่นคันดังกล่าวอาจเกิดจากโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีต้นเหตุมาจากไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) หรือ Human herpes virus type 3 และโรคอีสุกอิใสก็เป็นโรคติดต่อด้วยนะคะ โดยจะติดต่อผ่านการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรง หรือการไอ จาม รดกัน ก็ติดโรคได้เช่นกัน

          ทว่าโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรงเท่าไร และสามารถหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนั้นผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสจึงควรพักผ่อน และดื่มน้ำมาก ๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ไม่ควรใช้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ จนทำให้ถึงตายได้ นอกจากนี้ก็ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด พร้อมกับควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกา ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อด้วย

งูสวัด


โรคผิวหนัง

          งูสวัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส โดยอาการของงูสวัดจะเริ่มด้วยอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ และอาจมีไข้ร่วมด้วยหลังจากที่ปวดแสบร้อนได้ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มเป็นผื่นแดง ต่อมาผื่นแดงก็จะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ (รูปร่างคล้ายหยดน้ำกลิ้งบนใบบัว) เรียงกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นแนวยาว ๆ ตามเส้นประสาทของร่างกายเป็นหย่อม ๆ เช่น ตามความยาวของแขน หรือตามความยาวของขา หรือรอบเอว รอบหลัง หรือศีรษะ เป็นต้น ซึ่งตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ ของงูสวัดนี้จะแตกออกเป็นแผล ต่อมาก็จะตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์

โรคสะเก็ดเงิน


โรคผิวหนัง

          หลายคนไม่รู้ว่าผื่นเล็ก ๆ ที่ขึ้นตามผิวหนังบริเวณศอก เข่า แขน ขา ศีรษะ เป็นผื่นจากโรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย โดยผื่นของโรคสะเก็ดเงินจะมีลักษณะเป็นผื่นสีแดงมีขอบชัด บนผื่นจะมีขุยสีขาว คล้ายมีสะเก็ดสีขาวเหมือนเงินปกคลุมอยู่ จึงเรียกโรคนี้ว่าโรคสะเก็ดเงินนั่นเอง

          แต่ทั้งนี้โรคสะเก็ดเงินมีหลายชนิดนะคะ โดยแบ่งได้ตามลักษณะของผื่น ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดของโรคสะเก็ดเงินฉบับครบถ้วนทั้งสาเหตุของโรค อาการชี้ชัด ลักษณะของผื่น รวมไปถึงวิธีรักษาและการป้องกันโรคสะเก็ดเงินได้จากบทความด้านล่างนี้เลย

          - โรคสะเก็ดเงิน ผื่นเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย ที่หลายคนไม่รู้ว่าแค่เครียดก็เป็นได้


โรคผิวหนัง

          ในกรณีที่เป็นผื่นนูนแดงขึ้นเป็นวง หรือเป็นผื่นนูนแดงรูปร่างต่าง ๆ บนผิวหนัง โดยเป็นผื่นที่ขึ้นอย่างเฉียบพลัน เมื่อเกาแล้วก็จะคันมาก และหลังจากเกาจะยิ่งเห็นผื่นแดงได้ชัดเจน ลักษณะนี้อาจเป็นผื่นที่เกิดจากโรคลมพิษได้นะคะ ยิ่งหากผื่นเหล่านี้เกิดหลังจากการรับประทานอาหาร เช่น อาหารทะเล อาหารหมักดอง หรือสารที่ผสมในอาหาร เช่น ผงชูรส สารกันบูด สีผสมอาหาร หรือผื่นเกิดหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ หลังได้รับยาบางชนิด เช่น เซรุ่ม หรือหลังโดนพิษจากแมลง สัตว์ กัดต่อย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ขนสัตว์บางชนิด นุ่น หรือสารเคมีต่าง ๆ โดยที่มีอาการผื่นขึ้นเพียง 3-4 ชั่วโมง และหลังจากนั้นผื่นคันก็จะหายไปเอง และอาจเกิดผื่นขึ้นอีกเมื่อเจอสารกระตุ้นดังกล่าว

โรคเซ็บเดิร์ม


โรคผิวหนัง

          โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) หรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน  สังเกตอาการได้จากผื่นแดง มีสะเก็ดเล็ก ๆ เป็นขุยลอกเป็นมัน โดยมักจะพบผื่นในบริเวณที่มีต่อมไขมันอย่างตามบริเวณระหว่างคิ้ว, ซอกจมูก, รูหู, หลังใบหู, ศีรษะ, ไรผม, คอ, หน้าอกช่วงบน, หลังช่วงบน, รักแร้ หรือบริเวณขาหนีบก็พบได้ โดยผื่นเหล่านี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และมักพบว่าเป็นมากขึ้นในบางช่วง เช่น ในช่วงที่อากาศหนาว หรือช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เช่น เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือช่วงที่เจ็บป่วย

          อย่างไรก็ตาม โรคเซ็บเดิร์มจะมีอาการอักเสบของหนังศีรษะร่วมด้วย ถ้าเผลอไปแกะหรือเกาอาจมีน้ำเหลืองเยิ้ม หรือถ้าทิ้งไว้นาน ๆ ไม่รักษา สะเก็ดจะหนามากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงและเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ด้วย

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง


          ผื่นที่ขึ้นจะมีอาการคัน ยิ่งสัมผัสโดนผื่นจะยิ่งคันคะเยอ โดยโรคนี้มักจะเกิดกับคนที่มีผิวแห้งหรือผิวแห้งมาก และอาการผื่นคันจะเป็นเรื้อรัง ซึ่งผื่นคันมักจะเกิดบริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น แขนและขาทั้ง 2 ข้าง หรือถ้าหากเป็นมากก็อาจจะลามไปทั่วร่างกายได้

          ทั้งนี้หากมีอาการแพ้แบบเฉียบพลันก็จะมีรอยเห่อแดง และคัน อาจมีตุ่มน้ำใส ๆ เล็ก ๆ มีน้ำเหลืองซึมเยิ้มออกมาจากผิวตุ่มเหล่านั้น รวมทั้งอาจมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังร่วมด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นแบบเรื้อรังเป็นปื้นนูน ผิวหนังเป็นขุยแห้งหรือตกสะเก็ดซึ่งเกิดจากการเกาด้วย

โรคภูมิแพ้อาหาร


          โรคภูมิแพ้อาหารเป็นโรคที่พบเห็นได้บ่อย ซึ่งมีอาการหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้องบิด มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ริมฝีปาก ลิ้นและช่องปากบวม หายใจลำบาก บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดอาการช็อก ทั้งนี้อาการสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันหรือเกิดหลังจากรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปแล้วหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน ส่วนอาหารที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ก็ได้แก่ ไข่ นมวัว อาหารทะเล สารเคมีในอาหาร อาทิ สีผสมอาหาร สารกันบูด ผงชูรส และโปรตีนบางชนิด อย่างโปรตีนกลูเตน เป็นต้น

โรคแพ้เหงื่อตัวเอง


โรคผิวหนัง

          ถ้าสังเกตเห็นว่าผื่นคันมีลักษณะคล้ายสิวผด และในบางรายอาจมีปื้นแดง ๆ บนผิวหนังร่วมด้วย รวมทั้งอาการผื่นคันมักจะเกิดขึ้นหลังมีเหงื่อออก อาจเดาได้ว่าคุณเป็นโรคแพ้เหงื่อตัวเอง ซึ่งผื่นคันจากโรคแพ้เหงื่อตัวเองจะเกิดเฉพาะเวลาที่เหงื่อออก โดยเฉพาะหากผื่นคันของคุณมักจะเกิดในบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ข้อพับ ขาหนีบ ลำคอ รอบดวงตา และบริเวณใบหน้า เป็นต้น ทว่าโรคนี้อาการไม่น่าห่วงเท่าไรค่ะ เพราะผื่นคันจะหายไปได้เองหลังจากอาบน้ำชำระร่างกายจนสะอาดแล้ว ยกเว้นใครมีอาการแพ้เหงื่อรุนแรงมาก ตุ่มคันคล้ายสิวมีอาการอักเสบ เคสนี้ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อค้นหาสาเหตุของความผิดปกติโดยด่วน

โรคแพ้จากการสัมผัส (Contact dermatitis)


โรคผิวหนัง

         ชื่อโรคก็บอกชัด ๆ ว่าแพ้จากการสัมผัส ซึ่งก็หมายความว่า ผื่นคันหรืออาจเป็นผื่นชนิดไม่คัน จะเกิดขึ้นหลังจากการสัมผัสสิ่งของ สาร หรือตัวกระตุ้นชนิดต่าง ๆ ทว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคนเสมอไป แต่จะเป็นเฉพาะคนที่ขาดภูมิต้านทานสารกระตุ้นชนิดนั้น ๆ จึงก่อให้เเกิดอาการผื่นแพ้ขึ้นมาได้ โดยจุดสังเกตถึงโรคนี้ก็จะเห็นได้ว่า ผื่นแพ้จะขึ้นเฉพาะบริเวณผิวที่สัมผัสกับสารกระตุ้น ไม่ได้เกิดทั่วทั้งตัวเหมือนโรคลมพิษ เช่น หากแพ้น้ำยาล้างจาน ผื่นก็จะขึ้นที่มือ แพ้น้ำยาซักชุดชั้นใน ผื่นอาจจะขึ้นตามหน้าขา หว่างขา หน้าอก หรือบางคนแพ้สี แขนไปโดนสี ผื่นก็จะขึ้นที่แขน หากแพ้สายนาฬิกาที่สวมใส่ ผื่นก็ขึ้นตรงข้อมือ เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี การเกิดโรคแพ้จากการสัมผัสอาจมีอาการภายในครั้งแรกที่โดนสารกระตุ้น ยกตัวอย่างเช่น ผิวสัมผัสโดนยางไม้ โดนกรดบางชนิด หรือโดนด่างบางชนิด ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผิวถูกก่อกวนและทำร้ายโดยตรง อาการแพ้จึงเกิดขึ้นในทันที

          ทว่าอีกกรณีอาการผื่นแพ้อาจเกิดขึ้นหลังจากผิวสัมผัสโดนสารนั้น ๆ มาเป็นเวลานาน โดยครั้งแรกที่โดนสารจะเรียกว่าระยะฟักตัวของเชื้อ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าระยะผื่นแพ้แสดงตัวจะเกิดในครั้งถัดไปที่โดนสาร หรืออาจจะฟักตัวนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปีก็ได้ เช่น เคยใช้น้ำยาซักผ้าชนิดนี้มาตลอด แต่แล้ววันหนึ่งเกิดมีอาการแพ้ เป็นผื่นคัน มีตุ่มใสขึ้นตามง่ามนิ้ว เป็นต้น ซึ่งการรักษาหรือป้องโรคแพ้จากการสัมผัส แนะนำให้หลีกเลี่ยงสารกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือหากอาการผื่นแพ้เป็นหนักมาก มีหนอง คันมาก เป็นแผลเรื้อรัง แนะนำให้ไปรักษากับแพทย์เฉพาะทางจะดีที่สุดค่ะ

โรค SLE หรือโรคพุ่มพวง


          โรค SLE หรือโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือที่เราคุ้นกันในชื่อโรคพุ่มพวง อาการของผู้ป่วยโรคนี้ก็มักจะมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า สันจมูก โหนกแก้มทั้งสองข้าง ในลักษณะคล้ายรูปผีเสื้อ ร่วมกับเป็นผื่นคันบริเวณผิวที่ถูกแสงแดด หรือมีผื่นขึ้นเป็นวงตามใบหน้า เป็นต้น ซึ่งนอกจากผื่นคันจะบอกโรค SLE ได้แล้ว อาการต้องสงสัยของโรคพุ่มพวง หรือ SLE ที่เราจะสังเกตตัวเองได้ก็มีอีกหลายจุด ตามนี้เลยค่ะ

          - 5 อาการบ่งบอกสัญญาณโรคพุ่มพวง หรือ SLE
 

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ


          โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามเชื้อก่อโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาผิวหนัง ซึ่งก็คือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส โดยการติดเชื้อเหล่านี้ที่ผิวหนังก็อาจก่อให้เกิดผื่นคัน บาดแผล หรือความผิดปกติของผิวหนังทั้งในชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ได้  โดยอาการของโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อที่มีผื่นคันแสดงอาการด้วย ก็มีดังต่อไปนี้ค่ะ

- แผลพุพอง

          ชื่อดูไม่น่าจะมีผื่นคันใด ๆ แต่ทราบไหมคะว่า ผื่นแดงเล็ก ๆ มีอาการคัน ที่เกิดขึ้นบนผิวหนังของเราโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแผลพุพองที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียก็ได้ โดยผื่นแดงคันจุดเล็ก ๆ จะเริ่มขึ้นตามใบหน้า รอบ ๆ จมูกก่อน ตามด้วยมีผื่นขึ้นที่แขนและขา และหากเราแกะ เกา ผื่นคันเหล่านั้นก็จะกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส เมื่อแตกออกพื้นแผลจะเป็นสีแดง มีน้ำเหลืองไหล พอแห้งก็จะตกเป็นสะเก็ดเหลืองเกาะที่แผล โดยหากไม่รีบรักษาก็อาจเป็นแผลพุพองลุกลามได้ ดังนั้นหากมีผื่นคันและอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังโดยด่วนเลยนะคะ

- รูขุมขนอักเสบ

          ถ้ามีผื่นแดง ไม่มีอาการคัน หรือคันเล็กน้อย ในบริเวณที่มีต่อมขนเยอะ เช่น หนวด เครา รักแร้ โดยไม่มีผื่นแดงขึ้นบริเวณนอกเหนือจากนี้อีก ให้สงสัยว่าเป็นอาการรูขุมขนอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดจากการที่เรารักษาสุขอนามัยไม่ดี หรือเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานต่ำ จึงถูกเชื้อแบคทีเรียเล่นงานเอาได้ แต่ส่วนมากแล้วผื่นแดงจากรูขุมขนอักเสบจะค่อย ๆ หายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาใด ๆ และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายนัก ทว่าหากมีอาการอักเสบมาก ผื่นแดงกลายเป็นตุ่มหนอง และมีไข้ร่วมด้วย แนะนำให้รีบพบแพทย์เลยค่ะ

- ผิวหนังอักเสบ

          สำหรับคนที่ประสบอุบัติเหตุ หรือมีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือมีอาการติดสุราเรื้อรัง แล้วพบผื่นแดงจัดขึ้นตามตัวอย่างรวดเร็ว ผื่นนั้นกดเจ็บ และแสบร้อน ร่วมกับมีอาการไข้ และต่อมน้ำเหลืองโต สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า อาจเป็นผื่นจากอาการผิวหนังอักเสบ ซึ่งควรรีบรักษาหรืออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์โดยเร็วนะคะ เนื่องจากโรคผิวหนังอักเสบเป็นโรคที่เชื้อจะทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการแพร่กระจายของเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย ดังนั้นจึงจัดว่าเป็นผื่นจากโรคที่อันตรายต่อสุขภาพไม่น้อยเลย

- กลากที่ผิวหนัง

โรคผิวหนัง

          กลาก เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา โดยกลากสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนของร่างกาย ทว่าหากเป็นกลากที่ผิวหนังจะแสดงอาการเป็นผื่นแดงเล็ก ๆ แล้วขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ผื่นมีขอบนูนแดง มีขุยสีขาว และมีอาการคันมาก ซึ่งกลากที่ผิวหนังมักจะขึ้นบริเวณลำตัว แขน ขา รักแร้ ขาหนีบ หรือพื้นที่มีเกิดความอับชื้นหมักหมมมาก ๆ ทว่าอาการไม่ถือว่าอันตราย สามารถรักษาได้ด้วยยาทาและยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทาน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ)

- กลากที่หนังศีรษะ

          อย่างที่บอกว่ากลากขึ้นได้ทุกที่ อย่างกลากที่หนังศีรษะเริ่มแรกก็จะมีผื่นขึ้นเป็นวงที่ศีรษะ ร่วมกับมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และเส้นผมหักเพราะถูกเชื้อราทำลาย ส่วนการรักษาก็เหมือนกับการรักษาโรคกลากที่ผิวหนังเลยค่ะ หรือหากไม่อยากพึ่งยา เราก็สามารถรักษาโรคกลากเกลื้อนด้วยวิถีธรรมชาติได้เช่นกัน

          - 10 สมุนไพรรักษากลากเกลื้อน หาง่าย ใช้ดี ไม่ต้องง้อยา !

ส่าไข้


          โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 1-2 ขวบ โดยหากสังเกตเห็นผื่นแดง ๆ เล็ก ๆ ขึ้นตามตัวเด็ก (ลักษณะคล้ายผื่นของโรคหัด) หลังจากไข้หายไปแล้ว 2-3 วัน โดยในช่วงที่มีไข้ก็จะมีไข้สูง กินยาไข้ก็ไม่ลด มีอาการเบื่ออาหาร นอนซึม ให้สันนิษฐานถึงโรคส่าไข้ได้เลยค่ะ แต่ทั้งนี้โรคส่าไข้จะหายได้เองภายใน 3-4 วัน ส่วนผื่นจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 3 วันเช่นกัน

โรคผื่นกุหลาบ (Pityriasis rosea)


โรคผิวหนัง

          โรคผื่นกุหลาบ เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส  Human Herpesvirus 6 (HHV-6) และ HHV-7 โดยอาการจะเป็นไข้นำมาก่อน มีอาการเหนื่อย เมื่อยล้า คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดข้อ และปวดศีรษะ บางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย พอไข้ได้สัก 3-4 วัน หลังจากไข้เริ่มลด ผื่นจะเริ่มขึ้นตามแนวลายเส้นผิวหนัง ลักษณะผื่นจะคล้าย ๆ ผื่นของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 แพทย์จึงอาจจะตรวจหาซิฟิลิสเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคร่วมด้วย

          อย่างไรก็ดี โรคผื่นกุหลาบจะพบได้มากในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าหนาว ที่ทำให้หลาย ๆ คนมีอาการป่วย ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ และมักจะพบโรคนี้ได้บ่อยในกลุ่มอายุ 15-40 ปี และในกลุ่มคนที่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยารักษาสิว ยาแอสไพริน ยารักษาเชื้อรา มีโอกาสเป็นโรคผื่นกุหลาบได้เช่นกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคผื่นกุหลาบก็มีโอกาสเป็นโรครังแค โรคเซ็บเดิร์ม โรคสิว โรคภูมิแพ้ ได้มากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งหากมีความเครียดมาก อาการผื่นกุหลาบก็จะยิ่งลุกลามมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากสังเกตพบว่าผื่นแพ้ที่ขึ้นบนผิวหนังเราคล้าย ๆ กับอาการของโรคนี้ ก็ลองไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อหาแนวทางรักษาดูนะคะ

          นอกจากผื่นจะส่อได้ถึงอาการของโรคข้างต้นแล้ว ผื่นยังอาจบอกได้ถึงความผิดปกติของร่างกายที่เราไม่นับว่าเป็นโรคด้วยนะคะ ตามนี้เลย

ผื่นขึ้นตามร่างกายที่ไม่ใช่โรค


* อาการแพ้ยา

          หากกินยาตัวไหนเข้าไปแล้วเกิดผื่นแดง ๆ คล้ายผื่นลมพิษขึ้นที่ร่างกาย หรือมีตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นทั่วตัว นั่นอาจบ่งบอกได้ว่าคุณมีอาการแพ้ยาที่กินเข้าไปก็ได้ค่ะ เพราะอาการแพ้ชนิดนี้เป็นอาการแพ้ยาที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเมื่อรับประทานยาเข้าไปแล้ว ยาจะเข้าไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ และทำให้เกิดผื่นแพ้ยาขึ้นมาได้ และในบางคนก็มีอาการบวมที่หนังตา และริมฝีปากร่วมด้วย ทว่าอาการแพ้ยาในขั้นนี้ยังถือว่าไม่รุนแรงมากนัก เพียงหยุดรับประทานยาชนิดนั้น ๆ อาการก็จะหายไปได้เอง

* อาการหน้าแดงจัดระหว่างออกกำลังกาย

          ในคนที่ออกกำลังกายแล้วมีอาการหน้าแดงจัด ร่วมกับพบว่ามีผื่นแดงขึ้นบนใบหน้าด้วย นี่ก็จัดว่าเป็นความผิดปกติของร่างกายที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างออกกำลังกายค่ะ โดยอาการหน้าแดงจัดก็เกิดจากเส้นเลือดฝอยบริเวณใบหน้าเกิดการขยายตัว เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เย็นลง โดยเฉพาะกับคนที่มีผิวบอบบาง ก็จะสังเกตเห็นได้ชัดว่าหน้าแดงจัดอยู่นานพอสมควร

          ดังนั้นควรเลือกออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศไม่ร้อนจัด หรือทางที่ดีออกกำลังกายในร่มเลยจะเหมาะกว่า และล้างหน้าด้วยน้ำเย็น เพื่อบรรเทาอาการแดง แต่หากอาการหน้าแดงยังไม่หายภายใน 30 นาทีหลังหยุดออกกำลังกาย อีกทั้งยังมีผื่นแดง หรือความผิดปกติบนผิวหน้าด้วย แนะนำให้คุณปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอาการต่อไป

          เห็นไหมคะว่าผื่นที่ขึ้นตามตัวบางทีก็ไม่ใช่ผื่นจากยุงหรือสัตว์ชนิดไหนกัดต่อย และไม่ใช่ผื่นธรรมดาที่ควรละเลย เพราะผื่นบอกโรคที่ซ่อนอยู่ในร่างกายได้ตั้งหลายโรคแน่ะ

   
หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 4 สิงหาคม 2564


ขอบคุณข้อมูลจาก
Reader’s digest


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผื่นบอกโรค เป็นผื่นคันตามผิวหนังอย่าไว้ใจ ต้องสงสัยได้หลายโรค ! อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2564 เวลา 11:19:01 1,432,719 อ่าน
TOP
x close