โรคพิษสุราเรื้อรัง ต้นเหตุสุขภาพพัง หนักถึงตาย !

          ติดเหล้าหนักจนเข้าข่ายพิษสุราเรื้อรัง ลองสังเกตจากอาการพิษสุราเรื้อรังก็ได้ว่าอยู่ชนิดไหน ระดับไหนแล้ว และจะบำบัดโรคพิษสุราเรื้อรังยังไงดี

โรคพิษสุราเรื้อรัง

          โรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นโรคที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวันจากพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อ้างว่าดื่มเพื่อคลายเครียด หรือดื่มเพราะต้องเข้าสังคม แต่บางคนมีพฤติกรรมติดเหล้าหนัก ต้องดื่มทุกวัน ต้องมีติดตู้เย็น ติดบ้านไว้ แล้วอาการแบบไหนจะถึงขั้นโรคพิษสุราเรื้อรัง เราลองมาทำความรู้จักโรคพิษสุราเรื้อรังคืออะไร มีกี่ชนิด กี่ระยะ พร้อมวิธีบำบัดโรคพิษสุราเรื้อรังกันค่ะ


โรคพิษสุราเรื้อรัง คืออะไร

          โรคพิษสุราเรื้อรัง หมายถึง โรคชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อระบบประสาท และสุขภาพโดยรวมของร่างกาย โดยมีผลมาจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ แอลกอฮอล์จะส่งผลต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์ประสาทและสมอง ทำให้ร่างกายมีความต้องการแอลกอฮอล์มากขึ้น ๆ จนขาดแอลกอฮอล์ไม่ได้

โรคพิษสุราเรื้อรัง

โรคพิษสุราเรื้อรัง สาเหตุมาจากอะไร


          พฤติกรรมดื่มเหล้า ดื่มแอลกอฮอล์เป็นพฤติกรรมที่หลายคนทำกันบ่อย ๆ ซึ่งบางคนก็ไม่ได้ติดเหล้า ไม่ได้ดื่มก็ไม่มีอาการทุรนทุรายอะไร แต่สำหรับบางคนที่ดื่มเหล้าถี่มาก ๆ ต้องดื่มทุกวัน เรียกได้ว่ามีอาการติดเหล้าอย่างหนัก เหมือนไม่สามารถควบคุมการดื่มของตัวเองได้ นั่นอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม กลุ่มเพื่อนนักดื่มที่ชักชวนกันดื่มบ่อย ๆ ปัญหาทางสังคม ครอบครัว และเศรษฐกิจ รวมไปถึงพฤติกรรมส่วนตัวที่ชอบดื่มเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่งผลให้ร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์สมองมีความต้องการดื่มแอลกอฮอล์อยู่เรื่อย ๆ และหากวันไหนไม่ได้ดื่มก็จะรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว นับเป็นจุดเริ่มต้นของโรคพิษสุราเรื้อรัง

โรคพิษสุราเรื้อรัง อาการเป็นอย่างไร


     อาการโรคพิษสุราเรื้อรัง สามารถสังเกตได้ตามนี้

          1. มีความอยากดื่มสุรามากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดื่มทุกวัน

          2. มีพฤติกรรมพกสุราติดตัว หรือแอบไว้ที่ทำงาน ในบ้าน หรือแม้กระทั่งในรถ

          3. วันไหนไม่ได้ดื่มสุราจะมีอาการไม่สบายตัว เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น เหงื่อออกมาก กระวนกระวาย และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อได้ดื่มสุราหรือยานอนหลับ

          4. คอเข็งมากขึ้น ทนต่อฤทธิ์สุราได้มากขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวคือ ดื่มในปริมาณเท่าเดิม แต่มึนเมาไม่เท่าเดิม ส่งผลให้มีความต้องการดื่มสุราในขนาดที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ไปโดยปริยาย

          5. หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย โดยเฉพาะหากมีใครพูดถึงพฤติกรรมติดเหล้าของตน

          6. การทำงานของสมองจะถดถอยลง โดยเฉพาะในเรื่องความจำ

          7. หน้าตาหมองคล้ำ มีจ้ำเขียวช้ำตามร่างกาย

          8. เสียงแหบแห้ง มือสั่น

          9. ในบางรายอาจมีอาการกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังร่วมด้วย

          10. ไม่รู้ตัวว่าตนเองติดสุรา และมักจะปฏิเสธว่าตัวเองมีพฤติกรรมติดสุราอยู่เสมอ

          11. เคยพยายามเลิกเหล้าเท่าไรก็ไม่สำเร็จ

พิษสุราเรื้อรัง


โรคพิษสุราเรื้อรัง มีกี่ระยะ


          ชนิดโรคพิษสุราเรื้อรังแบ่งได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่

1. ระยะแรกเริ่ม

          ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มเข้าหาแลกอฮอล์มากขึ้น จน เครียด เศร้า ก็ดื่มเหล้าได้ทุกโอกาส และมีความรู้สึกอยากดื่มแอลกอฮอล์บ่อยขึ้น กระทั่งเริ่มมีอาการดื้อแอลกอฮอล์ คือ ต้องดื่มมากขึ้นเพื่อให้รู้สึกมึนเมา

2. ระยะกลาง

          ติดเหล้าหนักจนเสียงานเสียการ เสียเงินไปกับการดื่มแอลกอฮอล์อย่างที่ตัวเองก็ควบคุมไม่ได้ และมักจะมีพฤติกรรมฉุนเฉียวหรืออารมณ์แปรปรวนบ่อย ๆ

โรคพิษสุราเรื้อรัง

3. ระยะรุนแรง

          เป็นอาการระยะสุดท้ายของโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการมือสั่น ตัวสั่น หงุดหงิด กระวนกระวาย เมื่อไม่ได้ดื่มเหล้า บางคนมีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย

ผลเสียของการดื่มสุราจนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง


          โทษของเหล้าที่มีผลต่อร่างกายอาจจำแนกข้อเสียของการดื่มเหล้าได้ดังต่อไปนี้

1. ผลต่อระบบสมองและประสาท

          เมื่อร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณสะสม ระบบประสาทส่วนปลายจะเกิดอาการอักเสบ ก่อให้เกิดอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า บ่อย ๆ นอกจากนี้พิษสุรายังส่งผลต่อสมองทำให้ระบบควบคุมการทำงานผิดปกติ ความจำแย่ลง ความคิดเลอะเลือน ส่งผลให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไป

พิษสุราเรื้อรัง

2. ผลต่อระบบทางเดินอาหารและตับ

          พิษของสุราจะทำให้เยื่อบุกระเพาะถูกทำลาย เกิดเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ส่วนผลต่อตับ เมื่อดื่มสุรามาก ๆ แอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งน้ำย่อยออกมามาก ส่งผลให้ตับอ่อนอักเสบได้ นอกจากนี้เมื่อร่างกายมีปริมาณแอลกอฮอล์สะสมมากตับจะบวม มีไขมันไปแทรกตามเซลล์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และมีแนวโน้วสูงที่จะเป็นโรคตับแข็ง

3. ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

          คนที่ดื่มสุรามาก ๆ หัวใจจะเต้นไม่ปกติ มีอาการหัวใจเต้นเร็ว ทั้งนี้การดื่มสุรามาก ๆ ยังส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามินบี 1 ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ปกติได้ด้วย

4. ผลต่อระบบเลือด

          พิษของแอลกอฮอล์จะส่งผลให้เม็ดเลือดแดงเสีย ทำให้มีอาการเลือดจาง ขาดสารโฟลิก ในขณะเดียวกันเม็ดเลือดขาวก็จะผลิตน้อยลง ความต้านทานต่ำลง มีอาการตกเลือดได้ง่าย

5. ผลต่อระบบขับถ่ายและอวัยวะสืบพันธุ์

          ในคนที่ดื่มสุราเรื้อรังจะมีความต้องการทางเพศลดลง ขนาดลูกอัณฑะก็จะเล็กลง ส่วนผู้หญิงการดื่มสุราจะเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร หรือการคลอดบุตรก่อนกำหนด รวมไปถึงอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติไปด้วย

6. เสี่ยงโรคมะเร็ง

          การดื่มสุราในปริมาณที่มากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งตับอ่อนได้มาก

การวินิจฉัยโรคพิษสุราเรื้อรัง


          โรคพิษสุราเรื้อรังค่อนข้างวินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถตรวจหาโรคได้จากการตรวจเลือดหรือหัตถการใด ๆ แต่ต้องอาศัยการซักประวัติผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งหากผู้ป่วยรู้ตัวและยอมรับว่าป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง เมื่อมาพบแพทย์ก็จะได้ตอบคำถาม ดังนี้

          * ปริมาณที่ดื่มเหล้า

          * ความถี่ในการดื่ม

          * ดื่มทันทีหลังตื่นอนหรือไม่

          * เคยพยายามจะอดสุราหรือไม่

          * โกรธเมื่อมีคนมาวิจารณ์หรือพูดถึงพฤติกรรมการติดสุราของเราหรือไม่

          * รู้สึกผิดหลังจากดื่มเหล้าไหม

          * มีอาการลงแดงเมื่อขาดสุราหรือไม่

โรคพิษสุราเรื้อรัง

วิธีบำบัดโรคพิษสุราเรื้อรัง


          โรคพิษสุราเรื้อรังรักษาได้ด้วยยาในกลุ่มคลายเครียด ยาคลายวิตกกังวล โดยเฉพาะในเคสที่มีอาการไม่รุนแรงมาก เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร กระวนกระวาย ยาทางจิตเวชจะช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้ ร่วมกับการได้รับวิตามินบีเพื่อเสริมการทำงานของระบบประสาทและสมอง

          ส่วนในเคสที่มีอาการทางกายรุนแรง เช่น ชัก คลั่ง หรือปวดท้องมาก แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุของอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น และหากพบโรคอันเป็นผลพวงจากโรคพิษสุรา ก็จะต้องทำการรักษาโรคนั้น ๆ ร่วมกับการบำบัดอาการติดสุราของผู้ป่วยด้วย

โรคพิษสุราเรื้อรัง

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ดังนั้นจึงต้องอาศัยคนในครอบครัวหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดให้เป็นคนแนะนำให้เขามาพบแพทย์เพื่อทำการบำบัดรักษาอาการติดสุราอย่างหนักนะคะ


บทความที่เกี่ยวกับการดื่มเหล้า
          - 13 ดาราเลิกเหล้า เปลี่ยนสายเมาเป็นสายเฮลธ์ตี้
          - 10 ความเสี่ยงสาว ๆ ดื่ม เหล้า-เบียร์ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำหน้าแก่ !
          - สัญญาณเตือนสุราเป็นพิษ อาการอย่างนี้เสี่ยงไปห้องดับจิต ต้องระวัง
          - มาดูข้อดีของการเลิกเหล้า-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมวิธีฟื้นฟูตับให้แข็งแรง
          - อาการของโรคตับ สังเกตอย่างไรว่าเป็นโรคตับแข็ง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคพิษสุราเรื้อรัง ต้นเหตุสุขภาพพัง หนักถึงตาย ! อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2564 เวลา 09:20:58 44,798 อ่าน
TOP
x close