7 ข้อเท็จจริงที่ควรรู้เรื่องโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ก่อนทำ Ice Bucket



โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส โรคร้ายกาจที่รักษาหายขาดไม่ได้
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS กับข้อเท็จจริงที่ควรรู้


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส คือโรคที่ยังไม่สามารถรักษาหายได้ ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจกันมากขึ้นจากการที่เกิดภารกิจ #IceBucketChallenge มาดูข้อเท็จจริงที่คุณไม่ควรละเลยของโรคนี้กันเถอะค่ะ

          ยังคงเป็นกระแสฮอตฮิตกันอย่างต่อเนื่องกับภารกิจ #IceBucketChallenge ที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความอันตรายของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง เมื่อผู้คนมากมายต่างหันกลับมาให้ความสนใจกับโรคนี้และสนับสนุนเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้กันมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่าคนมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักโรคนี้มากพอ วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอนำข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส จากเว็บไซต์ Reader\'s Digest มาเล่าสู่กันฟัง มาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ

1. สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย

          แม้ว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50-70 ปีขึ้นไป (โดยเฉลี่ย 55 ปี) แต่โรคนี้ก็สามารถเกิดขึ้นกับคนในช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไปได้เช่นกัน นอกจากนี้สมาคมช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงยังเปิดเผยอีกว่าโรคนี้ยังเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 20% และ 93% ของผู้ป่วยเป็นคนผิวขาว

2. การตรวจวินิจฉัยเป็นไปได้ยาก

          อาการตะคริว กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เป็นสัญญาณเริ่มแรกของการเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง นอกจากนี้ยังรวมถึงอาการกล้ามเนื้อของแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแอลง พูดไม่ชัดหรือเสียงขึ้นจมูก และกลืนลำบากขึ้น ซึ่งจะมีอาการใดแสดงออกมาบ้างนั้นขึ้นอยู่กับว่าเซลล์ประสาทส่วนไหนของร่างกายเสียหาย
 
          อย่างไรก็ตามโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอสนั้นไม่สามารถวินิจฉัยได้โดยตรง ทำได้แค่เพียงตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพื่อหาความเป็นไปได้เท่านั้น ซึ่งอาจรวมการตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นไฟฟ้า วิธีนี้จะใช้เพื่อศึกษาการนำไฟฟ้าของกระแสประสาทซึ่งจะช่วยทดสอบความสามารถของประสาทในการส่งสัญญาณ แต่ความผิดปกติที่พบจากการตรวจวินิจฉัยนี้อาจแค่เพียงแสดงให้เห็นความเสียหายของประสาทส่วนปลายหรือโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้ออื่น ๆ มากกว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS

3. ทุก ๆ 90 นาที จะมีคนถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

          ในแต่ละปี ชาวสหรัฐฯ ประมาณ 5,600 คนจะถูกวินิจฉัยพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยทุก ๆ 90 นาทีจะตรวจพบอาการของโรค 1 คน และ ทุก ๆ 90 นาทีจะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งโรคนี้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงถึงคนละ 200,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปีในการรักษา

4. โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไม่มีผลกระทบสติปัญญาและประสาทสัมผัสของผู้ป่วย

          แม้ว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอสจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่กลับไม่ส่งผลใด ๆ ต่อประสาทสัมผัสต่าง ๆ อย่างเช่น การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น หรือแม้แต่การสัมผัส แถมยังไม่ส่งผลใด ๆ ต่อสภาวะจิตใจหรือสติปัญญาอีกด้วย ดังนั้นแม้ผู้ป่วยไม่สามารถพูดหรือเคลื่อนไหวได้แต่พวกเขาก็ยังจะสามารถใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ด้วยการใช้ระบบจับความเคลื่อนไหวของตา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถสามารถพูดได้ผ่านการพิมพ์คำลงในคอมพิวเตอร์และประมวลผลออกมาเป็นเสียง หรือสามารถที่จะเล่นเปียโนได้โดยที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนใดเลย

5. เป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาหาย

          องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้รับรองการรักษาเพื่อช่วยยืดอายุของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส ครั้งแรกในปี 1995 แต่ถึงอย่างไรก็ตามในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาทางรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงชะลอการอาการของโรคเอาไว้ โดยการปิดกั้นการกระจายของกลูตาเมตซึ่งเป็นสารประกอบที่เชื่อกันว่าได้เข้าไปทำลายเซลล์ประสาท

          แต่ทว่าแม้แต่ยาที่ดีที่สุดก็สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น แต่ก็มีการศึกษาว่าการรับประทานผลไม้ที่มีสีสดและผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า แคโรทีนอยด์ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงหรือชะลออาการของโรคนี้ได้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการวิจัยอีกมากมายที่กำลังศึกษาเพื่อหาปัจจัยที่เกิดความเสี่ยงและการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่จะช่วยชะลออาการของโรคหรือรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรค


โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS

6. อาการบาดเจ็บทางสมองคือปัจจัยเสี่ยงของโรค

          มีการศึกษาชิ้นหนึ่งได้นำสมองของนักฟุตบอลอาชีพที่เสียชีวิตไปแล้ว และมีประวัติได้รับความกระทบกระเทือนที่สมองซ้ำ ๆ ระหว่างแข่งขัน จำนวน 12 คน มาเปรียบเทียบกับสมองของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส จำนวน 12 คนเช่นกัน แล้วพบว่ามีความผิดปกติที่สมองและไขสันหลังเหมือนกันทั้งสองกลุ่ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความผิดปกติของโปรตีนที่พบในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่สมองและผู้ที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอสอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บของนักกีฬาที่เกิดขึ้นจากการปะทะ เช่น ชกมวย ฟุตบอล ฮอกกี้

          ซึ่งได้มีการอธิบายว่าอาการบาดเจ็บที่ศีรษะเพียงครั้งเดียวก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความเสื่อมถอยของระบบประสาทได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมบางอย่างในร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้การศึกษาอื่น ๆ ยังเผยให้เห็นว่า นักกีฬาฟุตบอลที่มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะหลาย ๆ ครั้ง และทหารมีความเสียงที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส มากกว่าคนทั่วไปถึง 11 เท่า

7. เป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต

          โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส เป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ประสาทในสมองและเส้นประสาทไขสันหลังเสื่อมลง เป็นผลทำให้ระบบประสาทของผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจนกระทั่งติดเชื้อร้ายแรง หัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว เส้นเลือดอุดตัน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ส่วนมากจะเสียชีวิตภายใน 3 - 5 ปี ขณะที่มีผู้ป่วยราวร้อยละ 20 มีชีวิตอยู่ได้ 5 ปีขึ้นไป และมีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้มากกว่า 10 ปี

          เมื่อทราบกันอย่างนี้แล้ว หลาย ๆ คนที่กำลังตัดสินใจที่จะร่วมภารกิจ #IceBucketChallenge แต่ยังไม่รู้จักโรคชนิดนี้ดีพอก็คงจะพอเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้กันแล้วนะคะ แล้วก็อย่าลืมนึกถึงจุดประสงค์ของกิจกรรมด้วยนะ เวลาที่เล่นเราจะได้รู้สึกสนุกและรู้สึกเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยด้วยยังไงล่ะ






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 ข้อเท็จจริงที่ควรรู้เรื่องโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS ก่อนทำ Ice Bucket อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2557 เวลา 09:33:35 14,176 อ่าน
TOP
x close