ใช้ชีวิตอย่างไร ให้หัวใจแข็งแรง


โรคหัวใจ

ใช้ชีวิตอย่างไร ให้หัวใจแข็งแรง (Lisa)

          อาจกล่าวได้ว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์ตายมากยิ่งกว่าโรคอื่นใดในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น การเสียชีวิตของผู้ป่วยบางรายก็เป็นไปอย่างชนิดปุบปับ โดยที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน ทั้งที่จริง ๆ แล้วโรคพวกนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ หากเรารู้จักดูแลรักษาตัวเอง

          ต่อไปนี้คือเคล็ดลับง่าย 10 ประการ ที่จะช่วยทำให้หัวใจของเราได้รับแต่สิ่งดี ๆ อันจะส่งผลให้หัวใจแข็งแรงขึ้น

1.รับประทานอาหารให้ถูกส่วน

          อาหารเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานซึ่งเราสามารถควบคุมตัวเองได้ การบริโภคอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ นม เนย หรือไขมันจากสัตว์มากและบ่อยเกินไป จะส่งผลโดยตรงต่อระดับคอเลสเตอรอลที่พอกพูนสะสมอยู่ในเส้นเลือด ซึ่งหากปริมาณการสะสมมีมากเกินไป คอเลสเตอรอลดังกล่าวก็จะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือด และหากเส้นเลือดนั้นเป็นเส้นที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจโดยตรง ก็อาจทำให้หัวใจได้รับสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดไม่เพียงพอ อันอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้โดยง่าย

          ประเภทของอาหารที่จะช่วยป้องกันหัวใจของเราจากอาการป่วยดังกล่าว ได้แก่ ปลา และถั่วชนิดต่าง ๆ อีกทั้งควรเลือกใช้น้ำมันพืชจากถั่วเหลือง เมล็ดดอกทานตะวัน หรือน้ำมันโอลีฟประกอบอาหาร เพราะอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว และมีโอเมก้า 3 ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการเกาะตัวของคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด

2.ลืมเรื่องไดเอตไปซะบ้าง

          ถึงแม้ว่าความอ้วนจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ แต่จากการศึกษาวิจัยกลับพบว่า ผู้ที่ลดน้ำหนักอย่างบ้าคลั่งป่วยเป็นโรคหัวใจ มากยิ่งกว่าผู้ที่ไม่เคยคิดจะลดน้ำหนักเลยถึง 2 เท่า ยิ่งไปกว่านั้นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจจะยิ่งเพิ่มมากกว่านี้ หากบุคคลดังกล่าวพยายามลดน้ำหนักอย่างผิด ๆ เช่น ทำให้ตัวเองเครียดและอาเจียนออกมาทุกครั้ง หลังที่รับประทานอาหารเข้าไป ซึ่งส่งผลให้กลไกการทำงานของระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกายผิดปกติ ที่สำคัญที่สุดและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้อย่างกะทันหันก็คือ ระบบการเต้นของหัวใจจะอ่อนแอลงอย่างมาก อันเป็นผลเนื่องมาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดสารอาหารที่จำเป็นหลายชนิด เช่น โปรตีน แคลเซียม วิตามินดี และบี 12

3.กินผักสดผลไม้เป็นประจำ

          ผักสด ผลไม้เป็นแหล่งของวิตามิน และเกลือแร่หลากหลายชนิดที่จำเป็นต่อการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันอุดตันในเลือดได้โดยตรงอีกด้วย

          เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจึงควรเลิกเสียที นิสัยที่ชอบเขี่ยผักทิ้งออกจากจาน และหมางเมินผลไม้ เพราะพฤติกรรมเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการทำร้ายหัวใจกัน

เซ็กซ์

4.กิจกรรมร่วมรักอย่ามองข้าม

          ในขณะที่เราตื่นเต้นมาก ๆ ฮอร์โมนความเครียดจำนวนมากมายในร่างกายของเรา จะถูกสั่งให้หลั่งออกมา ซึ่งจะส่งผลให้หัวใจเต้นแรงและเร็วโดยไม่จำเป็น

          แต่ในทางตรงกันข้ามการร่วมรักหรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ดี จะช่วยให้เซลล์กล้ามเนื้อสามารถจัดการกับฮอร์โมนความเครียดเหล่านั้นได้ ผลดีที่ได้รับก็คือเราจะรู้สึกจิตใจสงบผ่อนคลาย และหัวใจเต้นช้าลง

5.ปิดการติดต่อสื่อสารทุกรูปแบบ

          หากเครื่องมือสื่อสารทั้งหลายแหล่ที่คุณมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ แฟกซ์ หรืออีเมล์ ทำให้ชีวิตของคุณหาความสงบสุขไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้น นำมาแต่ข่าวสารข้อมูลที่สร้างความเครียด อันเป็นพิษภัยต่อหัวใจอยู่เสมอ อย่ากระนั้นเลย ลองตัดขาดการติดต่อออกไปซะบ้าง แล้วคุณจะรู้สึกว่าชีวิตขึ้น

6.พักสายตาสักนิดในยามบ่าย

          ข้อดีของการนอนหลับยามบ่าย นอกจากจะช่วยเติมพลังให้กับสมองที่อ่อนล้าแล้ว  ยังสามารถทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจดีขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้จากงานวิจัยยืนยันว่า เพียงแค่เราได้งีบหลับพักสัก 30 นาที ในตอนบ่าย ๆ ร่างกายของเราจะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้น เหมือนกับได้นอนหลับพักผ่อนสัก 2 ชั่วโมงในตอนกลางคืนเลยทีเดียว

7.ลด ละ เลิกจากการสูบบุหรี่

          เนื่องจากนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษตัวสำคัญในบุหรี่ ออกฤทธิ์ทำลายระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ประกอบกับคาร์บอนมอนอกไซด์ก๊าซพิษที่อยู่ในควันบุหรี่ จะเข้าไปแย่งที่ของออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนน้อยลง อีกทั้งสารพิษบางตัวที่อยู่ในควันบุหรี่ยังทำลายการดูดซึมวิตามินบี 1, วิตามินซี และกรดอะมิโน ซึ่งจะส่งผลให้หัวใจอ่อนแอและก่อให้เกิดโรคหัวใจตามมา

          จากหลักฐานการวิจัยพบว่าคนสูบบุหรี่ที่มีอายุระหว่าง 35-45 ปี มีอันตราการตายด้วยโรคหัวใจสูงกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 3-4 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าทารกที่เกิดจากหญิงที่สูบบุหรี่จัด มักจะมีระบบการหายใจล้มเหลวอย่างเฉียบพลันในขณะแรกเกิด หรือที่เรียกว่า ทารกหลับตาย อย่างไรก็ดี หากทารกรอดชีวิตมาได้ก็จะมีสุขภาพไม่แข็งแรง มักเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินหายใจ และอาจมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้า

8.บริจาคโลหิต ดีต่อตัวเองและผู้อื่น

          การบริจาคโลหิต ไม่เพียงผู้ให้ได้บุญกุศลที่สามารถต่อชีวิตให้กับบุคคลอื่นได้เท่านั้น แต่การบริจาคโลหิตยังส่งผลดีต่อร่างกาย และหัวใจของผู้บริจาคเองอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากการลดลงของระดับเม็ดเลือด จะช่วยกระตุ้นให้ระบบการเผาผลาญสารอาหารดีขึ้น และสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

หัวเราะ

9.หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส

          นักวิชาการค้นพบว่าการหัวเราะ แม้เพียงแค่ 1 นาที ก็สามารถส่งผลให้หัวใจแข็งแรงขึ้นได้เท่ากับการออกกำลังกาย ด้วยการวิ่งจ็อกกิ้ง 12 นาที

10.ดื่มไวน์แดงแรงฤทธิ์

          มีงานศึกษาวิจัยมากมายหลายชิ้นที่ยืนยันว่า ไวน์แดงสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจลงได้มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เพราะไวน์แดงมีสารจากพืชธรรมชาติ ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดจับตัวเกาะตามผนังหลอดเลือด แต่อย่างไรก็ดีไวน์เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ฉะนั้นการดื่มไวน์ในปริมาณมากเกินไป จึงอาจกลับกลายเป็นการทำลายสุขภาพเสียมากกว่า


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใช้ชีวิตอย่างไร ให้หัวใจแข็งแรง อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2556 เวลา 09:10:43 5,221 อ่าน
TOP
x close