ปวดหลังด้านซ้าย ไม่ใช่แค่นั่งผิดท่า เช็กอาการแล้วอย่านิ่งเฉย !


          ปวดหลังด้านซ้าย อย่าคิดว่าไม่เป็นไร อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ ซึ่งสามารถส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้

ปวดหลังข้างซ้าย

          ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินคนรอบข้างบ่นกันถึงอาการปวดท้องข้างซ้ายกันอยู่บ่อย ๆ แต่อาการปวดหลังด้านซ้ายเราอาจไม่ค่อยได้ยินกัน และก็เชื่อแน่ว่าทุกคนต้องเคยมีอาการปวดหลัง และมักคิดว่าไม่น่าเป็นอะไรมาก แค่นอนพักก็หาย ซึ่งถ้าใครที่นอนพักแล้วหาย อาการปวดหลังนั้นก็อาจเกิดจากการล้าของกล้ามเนื้อ ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรง แต่ถ้าใครที่ปวดหลังมานานแล้ว มีอาการเรื้อรัง ทำอย่างไรก็ไม่หาย ก็คงต้องเริ่มคิดแล้วว่าตัวเองกำลังเป็นอะไรกันแน่ โดยเฉพาะคนที่มีอาการปวดหลังด้านซ้าย วันนี้เราเลยมีสาเหตุของอาการปวดหลังด้านซ้ายมาให้อ่านกัน ซึ่งถ้าอ่านแล้วอาจจะเลิกคิดว่าอาการปวดหลังเป็นเรื่องธรรมดาก็ได้

          ปวดหลังด้านซ้าย คืออาการปวดที่ฝั่งซ้ายตั้งแต่บริเวณคอไปถึงก้นกบ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่คนปกติมักคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก อาจแค่เมื่อย หรือนั่งผิดท่า นอนพักก็คงจะหาย แต่จริง ๆ แล้วอาการปวดหลังในบริเวณข้างซ้ายมีที่มาที่ไป ที่อันตรายมากกว่าที่คิด ดังนี้


ปวดหลังด้านซ้าย

ปวดหลังด้านซ้ายบน

          การปวดหลังด้านซ้ายบน คือ อาการปวดตั้งแต่บริเวณคอจนถึงกระดูกซี่โครงในฝั่งซ้าย ทั้งคอ หัวไหล่ กระดูกสะบัก บริเวณด้านหลังของอกและกระดูกซี่โครงทั้งหมด รวมถึงช่วงกลางหลังด้วย โดยอาการปวดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

- ปวดจากกล้ามเนื้อและกระดูก

          สาเหตุของการปวดหลังข้างซ้ายด้านบน มักมาจากกล้ามเนื้อและกระดูกค่ะ เนื่องจากการขยับร่างกายต่าง ๆ ของเราส่งผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูกเต็ม ๆ ทั้งการนั่งผิดท่า การเคลื่อนไหวผิดท่า และการยกของหนัก เพราะฉะนั้นถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ก็น่าจะเลี่ยงอาการปวดหลังด้านบนซ้ายได้เยอะทีเดียวค่ะ แต่นอกจากการขยับร่างกายที่ไม่ถูกต้องแล้ว อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง กระดูกเสื่อม หรือกล้ามเนื้อฉีกขาดก็มีส่วนทำให้ปวดหลังช่วงบนได้เหมือนกันนะคะ
    
- มีอาการบาดเจ็บ

          การที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอย่างซี่โครง โครงกระดูก กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ เอ็น เนื้อเยื่ออ่อนบริเวณคอ หัวไหล่ ข้อต่อ และบริเวณกลางหลัง มีอาการบาดเจ็บ แตกหัก ร้าว เป็นแผล หรือถูกตัดทิ้ง ไม่ว่าจะเพราะอุบัติเหตุหรือกีฬา ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หลังของเราปวดได้นะคะ เพราะฉะนั้นควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณกำลังได้รับบาดเจ็บที่อวัยวะส่วนใดในร่างกายหรือเปล่า
            
- เส้นประสาทผิดปกติ

          อาการปวดหลังอาจเกิดได้จากเส้นประสาทที่ผิดปกติ เช่น เส้นประสาทถูกกดทับโดยกระดูกสันหลัง ที่จะทำให้มีอาการชา อ่อนแรง และเจ็บปวดได้ หรือในบางครั้งอาการปวดหลังก็อาจมาจากการที่เส้นประสาทได้รับเชื้อไวรัสจากโรคงูสวัด ทำให้มีอาการปวดหลังแปล๊บ ๆ ได้ด้วย

- สาเหตุอื่น ๆ

          นอกจากสาเหตุข้างบนแล้ว บางครั้งเนื้องอกหรือมะเร็งที่อวัยวะบริเวณหลังด้านซ้าย โรคหัวใจ แผลในกระเพาะอาหาร ระบบทางเดินอาหารที่ผิดปกติ อาการไอ หรือมีไข้ ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้เหมือนกันนะคะ ดังนั้นหากปวดหลังจึงควรพิจารณาดูให้ดีว่าตัวเองมีโรคเหล่านี้หรือเปล่า เพื่อจะได้หาทางรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ปวดหลังด้านซ้ายล่าง

          การปวดหลังด้านซ้ายล่าง คือ อาการปวดบริเวณกระดูกซี่โครงซ้ายยาวไปถึงสะโพก ในบางครั้งอาจลามไปถึงขาเลยด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังด้านซ้ายล่างก็อย่างเช่น..

ปวดหลังด้านซ้าย

- ท่าที่ผิดปกติ


          แน่นอนว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้พนักงานออฟฟิศปวดหลังช่วงล่าง คือการนั่งผิดท่า ยิ่งคนที่ต้องนั่งทำงานทั้งวัน แล้วโต๊ะ-เก้าอี้ไม่เหมาะสมกับสรีระ ทำให้ต้องอยู่ในอิริยาบถที่ผิดท่าตลอดทั้งวัน จึงส่งผลระยะยาวต่อกล้ามเนื้อบริเวณหลังช่วงล่าง เอว และสะโพก จนปวดหลังเรื้อรังได้นั่นเองค่ะ

          - ยืน-นั่งผิดท่า พาปวดหลัง ชีวิตพัง มาดูวิธีออกกำลังปรับบุคลิกให้ดีขึ้นกันเถอะ !

ปวดหลังข้างซ้าย

- ความเสื่อมตามอายุ


          อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมักแปรสภาพไปตามอายุ ถ้ายิ่งมีอายุมากเท่าไหร่ อวัยวะก็สามารถเสื่อมและผุพังลงได้มากตาม โดยเฉพาะบริเวณกระดูกอ่อนที่โปรตีนและน้ำในกระดูกจะลดลง ทำให้กระดูกบางลง แตกหักได้ง่าย จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้สูงอายุจะมีอาการปวดหลัง เนื่องจากข้อต่อ กล้ามเนื้อ หรืออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็เสื่อมสภาพลง ทำให้กระดูกอาจผุ หัก หรือเคลื่อนที่ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ปวดหลัง

- กล้ามเนื้อฉีกขาด

          การก้ม เงย ยกของหนัก การใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ หรือการออกกำลังกายหนัก ๆ โดยไม่อบอุ่นร่างกายก่อน สามารถทำให้กล้ามเนื้อส่วนล่างฉีกขาดได้ และเมื่อกล้ามเนื้อฉีกขาดก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เราปวดหลังนั่นเองค่ะ
    

ปวดหลังข้างซ้าย

- ตั้งครรภ์


          คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มักมีอาการปวดหลังช่วงล่างร่วมด้วยเสมอ เพราะว่าท้องช่วงล่างเป็นบริเวณที่รองรับลูกน้อยในครรภ์ อีกทั้งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจะไปกดทับกระดูกสันหลังช่วงบั้นเอว ซึ่งโดยปกติแล้วอาการปวดหลังของคุณแม่ตั้งครรภ์มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และมีอาการปวดสะโพก และขาร่วมด้วย แต่ถ้าเกิดคุณแม่มีอาการปวดหลังเรื้อรังเมื่อไหร่ควรรีบพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพราะอาจเกิดจากความผิดปกติของครรภ์ได้

- โรคอ้วน

          โรคอ้วน ความอ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกินก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เราปวดหลังด้านล่างได้นะคะ เพราะคนอ้วนจะมีน้ำหนักส่วนเกินมาก ทำให้น้ำหนักที่เกินมานั้นไปกดทับกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลัง จนปวดหลังได้ ซึ่งถ้าเป็นนาน ๆ หรือมีอาการเรื้อรัง อาจทำให้ปวดร้าวลงขาจนอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้เลยด้วย

งูสวัด
 
- โรคงูสวัด

          โรคงูสวัดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการปวดแสบร้อนที่ผิวหนัง และมีตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นเรียงกันเป็นแนวยาวตามเส้นประสาทของร่างกาย ขณะเดียวกันไวรัสงูสวัดก็ยังทำให้ปวดหลังได้ เพราะเชื้อลุกลามไปตามประสาทไขสันหลัง ทำให้เส้นประสาทอักเสบและมีอาการปวดหลังตามมา
    
          - งูสวัด อาการโรคผิวหนังจากเชื้อไวรัสที่ร่างกายอ่อนแอปั๊บ ต้องระวังเลย  

- ลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร

          อาการปวดหลังช่วงล่างอาจมีสาเหตุมาจากระบบย่อยอาหาร หรือลำไส้ใหญ่อักเสบได้ด้วย เพราะลำไส้ใหญ่อยู่บริเวณท้องช่วงล่าง พอติดเชื้อแบคทีเรียเข้าไป จึงมีอาการอักเสบซึ่งสามารถส่งผลกระทบในบริเวณรอบ ๆ ก็คือช่วงท้องน้อยและหลังช่วงล่าง ซึ่งวิธีสังเกตอาการลำไส้ใหญ่อักเสบนอกจากปวดหลังก็คือ จะมีอาการท้องร่วง คลื่นไส้ และเป็นไข้ร่วมด้วยค่ะ
    
นิ่วในไต

- โรคไต นิ่วในไต หรือปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ

          นิ่วหรือก้อนแข็งที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะและไต ก็อาจทำปวดท้องได้ เนื่องจากก้อนนิ่วจะเคลื่อนตัวไปรอบ ๆ ทำให้เกิดการอักเสบจนปวดหลัง นอกจากนี้ยังทำให้ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะแล้วเจ็บ ปัสสาวะบ่อย และมีกลิ่นเหม็นอีกด้วย
    
          - นิ่วในไต อาการไหนบอกชัด รู้จักปัจจัยเสี่ยงป่วย
    
- ปัญหาที่ระบบสืบพันธุ์

          ปัญหาระบบสืบพันธุ์ทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ค่ะ โดยในผู้หญิง อาการปวดหลังช่วงล่างด้านซ้ายอาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติที่รังไข่ข้างซ้าย มดลูก หรือปีกมดลูกติดเชื้อได้ ส่วนในผู้ชายก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการติดเชื้อหรือเป็นเนื้องอกที่บริเวณอัณฑะ
    
- โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
       
          โรคนี้มีอาการคล้ายกันกับโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนค่ะ โดยจะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง ที่บริเวณเอว แล้วจะมีอาการปวดมากขึ้นในเวลายืน เดิน หรือแอ่นหลัง และมีอาการปวดขาร่วมด้วย โดยสาเหตุของโรคนี้มาจากการเสื่อมสภาพของโพรงกระดูก ข้อต่อ เอ็น ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปเบียดกับเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวดนั่นเอง
    
- โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด

          กระดูกสันหลังถือเป็นแกนกลางของร่างกายและหลังของเรา จึงเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่เมื่อกระดูกสันหลังอักเสบจนยึดติดกัน ก็จะทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าลง หรือถ้าในกรณีที่รุนแรงมาก อาจเคลื่อนไหวไม่ได้ โดยผู้ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดจะมีอาการหลังงอ หน้ายื่น เวลามองด้านข้างต้องหันทั้งตัว ทำให้ปวดหลังได้ 
    
ปวดหลังข้างซ้าย

- หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท / กระดูกสันหลังร้าวลงขา

          หมอนรองกระดูกที่เสื่อมอาจเคลื่อนที่ไปทับเส้นประสาท จนเกิดเป็นอาการปวดหลังช่วงล่างและบริเวณสะโพกได้ และถ้าหมอนรองกระดูกไปทับเส้นประสาทไซอาติกที่อยู่บริเวณเอวก็จะทำให้มีอาการปวดและชาที่หลังและขา ซึ่งถ้าใครที่มีอาการรุนแรงหน่อย อาจเดินไม่ได้เลยทีเดียวค่ะ
   
          - ปวดหลังเรื้อรังร้าวลงขา สัญญาณโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

- เนื้องอก

          โดยส่วนมากแล้วถ้าเนื้องอกมีขนาดเล็กมักจะไม่ค่อยแสดงอาการอะไร แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะบริเวณนั้นได้ เช่น หากเป็นเนื้องอกมดลูกหรือเนื้องอกบริเวณอวัยวะช่วงท้อง ก็อาจทำให้ปวดท้องหรือปวดหลังได้เหมือนกัน ดังนั้นถ้าใครมีอาการปวดหลัง ปวดท้อง และตกเลือด หรือมีปัญหาทางเดินปัสสาวะอักเสบควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะถือว่าไม่ใช่อาการปวดหลังธรรมดาแล้วล่ะ
 
ปวดหลังข้างซ้าย

การรักษาและป้องกันอาการปวดหลังด้านซ้าย
    
          การรักษาอาการปวดหลังด้านซ้ายทั้งบนและล่างจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ปวด เพราะฉะนั้นจึงต้องตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดก่อนค่ะ และถ้าพบว่าปวดเนื่องจากอาการบาดเจ็บ ร้าว หรือกล้ามเนื้อฉีก ก็จะรักษาด้วยหลักการปฐมพยาบาล RICE ที่หมายถึง หยุดพัก (Rest)  ประคบน้ำแข็ง (Ice) รัดหรือพันแผล (Compression) และยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าหัวใจ (Elevation) สำหรับบางคน แพทย์อาจให้งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ หรือให้ยาแก้อักเสบด้วยค่ะ ส่วนผู้ป่วยที่ปวดหลังเนื่องมาจากการติดเชื้อ หรือสาเหตุรุนแรงอื่น ๆ ก็จะได้รับการรักษาตามความเหมาะสมค่ะ
    
          และแน่นอนว่าอาการปวดหลังก็มีวิธีการป้องกันเช่นเดียวกันค่ะ แม้จะไม่ใช่วิธีโดยตรงแต่ก็ช่วยลดอาการปวดหลังได้นั่นก็คือ การออกกำลังกาย แนะนำว่าให้ออกกำลังกายสักวันละประมาณ 30 นาที เน้นบริเวณหน้าท้อง หลัง และกล้ามเนื้อ ที่สำคัญคือต้องออกกำลังกายให้ถูกวิธีด้วยนะคะ หากมีเวลาก็ควรไปว่ายน้ำบ้าง หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน นั่งให้ถูกท่า หลังตรง หรือจะใช้หมอนใบเล็ก ๆ มารองไว้บริเวณหลังช่วงล่างเวลานั่งทำงานหรือขับรถด้วยก็ได้ค่ะ

          เห็นแล้วใช่ไหมคะ ว่าอาการปวดหลังข้างซ้ายทั้งบนและล่างสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุมากมาย และบางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาด้วย ดังนั้นถ้านอนพักหรือกินยาแล้วไม่หาย ก็ควรรีบไปหาหมอเพื่อตรวจให้แน่ใจ เพราะถ้าเกิดเป็นอะไรขึ้นมาแล้วได้รับการรักษาช้า อาจส่งผลที่รุนแรงได้นะคะ

          สำหรับใครที่ยังไม่มีอาการปวดหรือไม่ได้ปวดแบบรุนแรงแนะนำให้ออกกำลังกาย โยคะ หรือยืดเหยียดร่างกายเพื่อป้องกันอาการปวดหลังตามนี้เลย


          - 10 ท่าโยคะแก้ปวดหลัง ยืดเหยียดทุกวัน อาการปวดหายไว !

          - 4 ท่านอนแก้ปวดหลัง ไม่อยากหลังพังรีบเปลี่ยนท่านอนด่วน !

          - 6 ท่ายืดเหยียดแก้ปวดหลังส่วนล่าง พนักงานออฟฟิศนั่งนาน ๆ ต้องลอง !

          ส่วนถ้าใครมีอาการปวดหลังข้างขวา ลองมาเช็กสาเหตุที่ทำให้ปวดทีนี่ค่ะ

          - ปวดหลังข้างขวา บอกอาการป่วยได้แค่ไหน รู้ไว้อาจไม่ใช่แค่ปวดเมื่อย !


ขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์
epainassist 
doctorshealthpress  
spine-health 
enkimd       
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดหลังด้านซ้าย ไม่ใช่แค่นั่งผิดท่า เช็กอาการแล้วอย่านิ่งเฉย ! อัปเดตล่าสุด 12 กันยายน 2566 เวลา 15:43:34 1,019,919 อ่าน
TOP
x close