x close

น้ำหนักตัวขึ้นผิดปกติ อ้วนขึ้นเร็วมากอย่าไว้ใจ อาจมีโรคภัยซ่อนอยู่ !

          การที่อ้วนขึ้นเรื่อย ๆ น้ำหนักขึ้นผิดปกติ อาจบ่งชี้ปัญหาสุขภาพบางอย่าง ดังนั้นถ้าน้ำหนักตัวขึ้นเร็ว ต้องรีบเช็ก

          อยู่เฉย ๆ ก็น้ำหนักตัวขึ้นผิดปกติ ตัวบวม ๆ พิกล กังวลกันไหมว่าจะป่วยอยู่หรือเปล่า หากกินอาหารก็เท่าเดิม ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำกิจกรรมและใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ดันอ้วนขึ้นเร็วมาก ลองมาเช็กกันก็ดีนะว่าน้ำหนักขึ้นเท่าไรถึงจะเรียกว่าผิดปกติ แล้วภาวะอ้วนง่ายแบบนี้บอกโรคอะไรได้บ้าง

น้ำหนักขึ้นผิดปกติ

อ้วนขึ้นเร็วมาก น้ำหนักขึ้นเท่าไร ถือว่าผิดปกติ
          ปกติแล้วน้ำหนักตัวสามารถเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ปีละ 1-2 กิโลกรัม แต่หากใครน้ำหนักขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตัวรวม เช่น น้ำหนักขึ้น 3.4-6.8 กิโลกรัม ในคนที่หนัก 68 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 6 เดือน ถือว่าต้องสงสัยและควรไปเช็กสุขภาพให้ไวเลย
น้ำหนักตัวขึ้นผิดปกติ สาเหตุเกิดจากอะไร
          ถ้าเราไม่ได้เปลี่ยนอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ไม่ได้ลดกิจกรรมทางร่างกายใด ๆ แต่น้ำหนักก็ยังขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้ก็ได้

อารมณ์แปรปรวน

น้ำหนักขึ้นผิดปกติ

          ภาวะเครียด กังวล นอนไม่หลับ หรือโรคซึมเศร้า อารมณ์เหล่านี้มีส่วนทำให้ฮอร์โมนเราผิดปกติไป และอาจกระทบกับการหลั่งอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ไม่มีเรี่ยวแรงจะเคลื่อนไหวร่างกายเท่าเดิม มีความอยากกินของหวานเพิ่มความสดชื่น หรือบางคนอาจกินอาหารไขมันสูงแก้เครียด กินมื้อดึกบ่อยขึ้น ซึ่งทำให้อ้วนเร็วได้

เป็นประจำเดือน

          ภาวะบวมน้ำพบได้ในผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้มีอาการท้องอืด ตัวบวม หงุดหงิดง่าย และน้ำหนักตัวขึ้น แต่ก็อาจจะแค่ไม่กี่กิโลกรัม เมื่อฮอร์โมนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อาการบวมน้ำและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาก็จะกลับเป็นปกติเช่นกัน

วัยทอง

          เมื่ออายุเข้าสู่วัย 40-50 ปี ไม่ว่าจะเพศชายหรือเพศหญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเพศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็ส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญของร่างกายด้วย โดยเฉพาะในเพศหญิง ประกอบกับอาการไม่สบายอื่น ๆ เช่น เวียนศีรษะ หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนง่าย และไม่นึกอยากทำอะไร ปัจจัยเหล่านี้ก็ทำให้อ้วนขึ้นได้ และการลดน้ำหนักจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นด้วย

- ดูแลสุขภาพผู้หญิงวัยทอง อายุเท่าไรก็ห่างไกลโรค

โรคที่เกี่ยวกับรังไข่

น้ำหนักขึ้นผิดปกติ

          อาการพุงป่องเหมือนคนอ้วน น้ำหนักขึ้น อาจเป็นโรคที่เกี่ยวกับรังไข่ เช่น เนื้องอกรังไข่ ซีสต์ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome : PCOS) หรืออาจเป็นได้ถึงมะเร็งรังไข่ ซึ่งโรคที่เกี่ยวกับรังไข่ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดท้องน้อย ประจำเดือนผิดปกติ คลำพบก้อนที่หน้าท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ ดังนั้น หากมีอาการท้องป่อง น้ำหนักขึ้นผิดปกติ โดยส่วนอื่น ๆ อย่างขา แขน ใบหน้า ไม่อ้วนตาม ควรไปตรวจร่างกายกับสูตินรีแพทย์จะดีกว่า

- เนื้องอกรังไข่...สาวท้องป่องเช็กอาการให้ไว อาจไม่ใช่แค่อ้วนลงพุง

ไทรอยด์

          โรคไทรอยด์แบบอ้วนขึ้นจะเป็นไฮโปไทรอยด์ หรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ทำให้ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง กระบวนการเผาผลาญของร่างกายก็จะช้า ทำให้อ้วนขึ้นทั้ง ๆ ที่เบื่ออาหาร กินไม่ค่อยได้ อ่อนเพลีย ง่วงนอนบ่อย ท้องผูก หนาวง่าย เป็นต้น

- โรคไทรอยด์ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่อย่ามองข้าม

โรคหัวใจ

น้ำหนักขึ้นผิดปกติ

          ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจล้ม หัวใจโต มักจะมีภาะบวมน้ำด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากน้ำหนักตัวขึ้นผิดปกติ เหนื่อยง่าย ปัสสาวะบ่อย แนะนำให้ไปตรวจสุขภาพจะดีกว่า

โรคไต

น้ำหนักขึ้นผิดปกติ

          ในภาวะที่ไตทำงานได้ไม่ดี การขับถ่ายของเสียของร่างกายมีปัญหาก็สามารถเกิดภาวะบวมน้ำจนดูอ้วนขึ้นผิดปกติได้ ซึ่งจะพบอาการบวมน้ำในผู้ป่วยโรคไตได้บ่อย โดยจะมีอาการบวมที่หนังตา หน้า ท้องป่อง (ท้องมาน) ลามมาที่ขา เท้า มักเป็นมากในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ และกดบุ๋มในจุดที่บวม ร่วมกับอาการปวดหลัง ปวดบั้นเอว เหนื่อยง่าย ซีด เบื่ออาหาร ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด แสบขัด ปัสสาวะเป็นฟอง หรือปัสสาวะบ่อย แต่ปริมาณปัสสาวะน้อยลง

- โรคไต ป่วยแล้วยุ่ง มาเช็กสัญญาณโรคไตก่อนดีกว่า

ภาวะน้ำคั่งในช่องท้อง

          ภาวะนี้พบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการบวมน้ำ การติดเชื้อในมดลูก ภาวะทางเดินอาหารหรือทางเดินปัสสาวะทะลุ เนื้องอกในช่องท้อง หรือโรคปอดที่มีน้ำจากช่องปอดไหลไปคั่งที่ช่องท้อง หรือภาวะน้ำคั่งในเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจ รวมไปถึงความผิดปกติของม้ามที่อาจทำให้พุงป่อง น้ำหนักขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุได้

- ท้องโตเหมือนคนท้อง ต้องระวัง อาจเป็นสัญญาณของ 7 โรคนี้

เบาหวาน

น้ำหนักขึ้นผิดปกติ

          เบาหวานกับน้ำหนักตัวและรอบเอวเป็นสิ่งที่แทบจะมาพร้อม ๆ กัน กล่าวคือ หากอ้วนแล้วโอกาสที่เป็นเบาหวานจะสูงขึ้น โดยเฉพาะความอ้วนที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารแคลอรีสูง อาหารน้ำตาลสูง ไม่ออกกำลังกาย นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งหากเป็นเบาหวานและรับประทานยารักษาเบาหวาน อาจมีน้ำหนักขึ้นจากปกติได้ถ้าใช้ยาเกินความเหมาะสม ดังนั้นควรรักษาเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งดูแลเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกายให้เหมาะสมด้วย

ยาบางชนิด

          หากเริ่มกินยาหรือปรับเปลี่ยนยา เช่น ยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมน ยาต้านเศร้า ยาสมุนไพรบางชนิด รวมไปถึงยาที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้น ยาเหล่านี้อาจมีผลต่อน้ำหนักตัวหรืออาการบวมน้ำได้
น้ำหนักขึ้นผิดปกติ

          หากพบว่าน้ำหนักตัวขึ้นผิดปกติ ลองคุมอาหารและออกกำลังกายให้มากขึ้น รอดูอาการสัก 4-6 สัปดาห์ ถ้าน้ำหนักตัวยังไม่ลด แต่อ้วนขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มมีอาการผิดปกติอื่น ๆ กับร่างกาย แนะนำให้รีบไปตรวจสุขภาพเพื่อความชัวร์จะดีกว่า
          หรือหากใครอยากลดน้ำหนักสู้กับความอ้วน เรามีวิธีลดน้ำหนักมาฝากกันด้วย

- ป่วยไทรอยด์ลดน้ำหนักยังไงดี 7 วิธีนี้สิช่วยให้ผอมอย่างปลอดภัย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำหนักตัวขึ้นผิดปกติ อ้วนขึ้นเร็วมากอย่าไว้ใจ อาจมีโรคภัยซ่อนอยู่ ! อัปเดตล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13:20:18 141,154 อ่าน
TOP