เหงื่อออกมือ-เท้ามากเกินไป ภาวะนี้อาจไม่ใช่เรื่องปกติ

          ถ้าเหงื่อออกมือ ออกเท้า อยู่บ่อย ๆ โดยไม่ขึ้นกับสภาพอากาศ อาจส่อถึงโรคที่ซ่อนอยู่ในสุขภาพของเราเอง
          การที่เรามีเหงื่อออกเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับเหงื่อออกมาเพื่อปรับสมดุลภายใน ซึ่งโดยปกติร่างกายจะขับเหงื่อวันละเกือบ 1 ลิตร หรือประมาณ 1-2 ลิตร ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและการทำกิจกรรมหนัก-เบาในแต่ละวัน แต่หากสังเกตเห็นว่าเหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้า เยอะและบ่อยมากเกินปกติ คงต้องเอะใจในอาการนี้ของตัวเองกันหน่อย เพราะการมีเหงื่อออกมือ ออกเท้า อาจชี้ถึงความผิดปกติของสุขภาพได้
เหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้า อาการแบบไหนผิดปกติ
เหงื่อออกมือเท้า

          ถ้ามีเหงื่อออกมือ ออกเท้า ทั้งที่อากาศไม่ได้ร้อน ไม่ได้อยู่ในที่อบอ้าว หรือไม่ได้ออกแรงหนักพอที่จะเรียกเหงื่อได้ ภาวะเหงื่อออกแบบนี้อาจสัมพันธ์กับความผิดปกติของระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการหลั่งเหงื่อของร่างกาย ทำให้มีเหงื่อออกที่มือ ที่เท้า หรือบริเวณรักแร้ และหากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือผอมลง อีกทั้งเป็นมานานติดต่อกัน 6 เดือน ก็จัดว่าเป็นอาการเหงื่อออกเยอะ ผิดปกติ และอาจเป็นสัญญาณที่บอกโรคบางโรคได้ด้วย
เหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้า บอกโรคอะไรได้บ้าง
          การมีเหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้ามาก อาจเป็นเพราะมีโรคซ่อนอยู่ในร่างกาย เช่น

1. ภาวะหลั่งเหงื่อมาก

          เป็นภาวะมีเหงื่อออกที่ไม่สัมพันธ์กับอากาศร้อน ไม่สัมพันธ์กับการออกแรง ไม่เกี่ยวกับความเครียดหรือความตื่นเต้น และมักจะมีเหงื่อออกไม่เป็นเวลา ทว่าก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากร่างกายมีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ได้ง่าย โดยอาการก็มักจะมีเหงื่อออกมากบริเวณมือ เท้า รักแร้ หรืออาจจะมีเหงื่อออกที่หู หนังศีรษะ และบริเวณด้านหลังด้วยในบางราย อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ไม่อันตราย แต่อาจทำให้มีกลิ่นตัวแรง และการมีเหงื่อชื้นที่ผิวอยู่ตลอดเวลาอาจเกิดการอับชื้นจนเสี่ยงติดเชื้อที่ผิวหนังได้ง่ายกว่าปกติ

2. โรคไทรอยด์เป็นพิษ

          โรคไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหงื่อออกซึมทั่วตัวและบริเวณฝ่ามือ ผมร่วง หิวน้ำบ่อย กินจุแต่น้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ และอาจมีอาการมือสั่น ใจสั่น ร่วมด้วย
 

ไทรอยด์เป็นพิษ เช็กอาการสักนิดแล้วรีบรักษา

3. โรคเบาหวาน

          ผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีเหงื่อออกที่มือ เหงื่อออกเท้ามาก และบางรายอาจมีอาการเหนื่อยหอบ หรือวูบได้ โดยเฉพาะคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
 

อาการโรคเบาหวาน 10 สัญญาณควรระวัง เช็กได้ง่ายนิดเดียว

4. โรคเครียด

           แค่มีความเครียดในระดับที่สูงมาก ก็อาจมีอาการเหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้า เหงื่อออกหน้าผาก ร่วมกับอาการใจสั่น และอาการมือสั่น
 

ผลกระทบสุดแย่ ที่เกิดเพราะแค่คุณเครียด !

5. โรคหัวใจ

          โรคหัวใจที่มีผลกระทบต่อระบบประสาทอัตโนมัติ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหงื่อออกมือ ร่วมกับอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เนื่องจากร่างกายต้องใช้พลังงานในการสูบฉีดโลหิตมากกว่าปกติ จึงทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งหากพบผู้ป่วยในสภาวะนี้ควรต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
 

7 สัญญาณเงียบโรคหัวใจ สังเกตตัวเองไว้ ป้องกันหัวใจวาย

          อย่างไรก็ตาม การมีเหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้า มากผิดปกติโดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็อาจไม่เกี่ยวกับโรคเสมอไป แต่หากพบความผิดปกติร่วมด้วยเมื่อไร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษานะคะ
เหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้า แก้ยังไง รักษาได้ไหม
เหงื่อออกมือเท้า

          การรักษาภาวะเหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้ามาก แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษา ดังนี้

1. รักษาโรคที่เป็นอยู่

          สำหรับคนที่มีเหงื่อออกมือที่สัมพันธ์กับโรคที่เป็นอยู่ แพทย์จะรักษาตามอาการของโรคประจำตัว หรืออาจปรับยาที่ส่งผลทำให้เหงื่อออกมาก เช่น ยารักษาความดันโลหิตบางตัว หรือยารักษาโรคเบาหวานบางตัว เป็นต้น

2. รักษาโดยใช้ยาทา

          ในกลุ่มที่มีเหงื่อออกมากโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์อาจให้ยาทาที่มีฤทธิ์ระงับท่อหลั่งเหงื่อ โดยให้ทาก่อนนอน เพื่อระงับเหงื่อไม่ให้ออกในวันถัดไป แต่วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องทายาบรรเทาอาการทุกวัน

3. ฉีดโบท็อกซ์

          โบท็อกซ์สามารถรักษาอาการเหงื่อออกมือ-ออกเท้าได้เช่นกัน โดยจะใช้ฉีดระงับประสาทที่ส่งมายังต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อออกมือลดลง แต่ข้อเสียคือต้องฉีดหลายจุด อาจมีอาการเจ็บจากการฉีดยา และการฉีดโบท็อกซ์จะช่วยระงับเหงื่อได้ชั่วคราว ประมาณ 3-6 เดือนเท่านั้น ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน

4. การผ่าตัด

          สำหรับคนที่มีเหงื่อออกมากอย่างรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยการใช้กล้องผ่าตัดเพื่อจี้แก้ปมประสาทที่ส่งผลต่อการหลั่งเหงื่อ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยแก้เหงื่อออกมือ ออกเท้า หรือเหงื่อออกเยอะบริเวณอื่นได้อย่างถาวร

          การมีเหงื่อออกที่มือ ที่เท้ามาก อาจทำให้ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น ดังนั้นลองไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุอาการเหงื่อออกมือ เหงื่อออกเท้า และรักษาจากต้นเหตุกันนะคะ หรือจะลองแก้เหงื่อออกด้วยตัวเองก่อนก็ได้
 

9 วิธีแก้เหงื่อออกเยอะอย่างง่าย ๆ ปราบเหงื่อให้อยู่หมัด !

บทความที่เกี่ยวข้องกับภาวะเหงื่อออก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เหงื่อออกมือ-เท้ามากเกินไป ภาวะนี้อาจไม่ใช่เรื่องปกติ อัปเดตล่าสุด 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 15:31:01 72,335 อ่าน
TOP
x close