กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อีกหนึ่งภัยเงียบในกลุ่มโรคหัวใจที่อาจตายได้กะทันหัน เช็กเลยใครเสี่ยงบ้าง

           กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นหนึ่งโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายได้อย่างเฉียบพลัน และหากช่วยเหลือไม่ทันก็เสี่ยงเสียชีวิตสูงมาก
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

           กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ โรคหัวใจขาดเลือด จัดเป็นภัยเงียบอันตรายที่ใกล้ตัวเราอยู่เหมือนกัน เพราะเกิดได้อย่างกะทันหัน และผู้ป่วยก็มักจะไม่รู้ตัว แบบจู่ ๆ มีอาการแล้วก็ทรุดไปเลย ที่สำคัญคือช่วงอายุไหนก็เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ เพราะมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหลายอย่าง ดังนั้นเพื่อเป็นการรู้เท่าทัน เรามาเช็กความเสี่ยง-สัญญาณเตือน-อาการ-การรักษา รวมไปถึงการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกันดีกว่า

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คืออะไร ทำไมถึงเป็นได้

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

           กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงตีบแคบลง เนื่องจากมีไขมันสะสมในผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจลดน้อยลงหรือไม่มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจเลย จนกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติไป อีกทั้งยังอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตกะทันหันได้

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง

          ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่ทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอยู่หลายส่วนด้วยกัน ดังนี้

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวัย 40 ปีขึ้นไป ในเพศชาย และอายุ 45 ปีขึ้นไป ในเพศหญิง

  • เพศ โดยจากสถิติพบว่าเพศชายมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากกว่าเพศหญิง

  • การสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และเป็นสาเหตุให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเล็กลง

  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันสูง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือโรคอ้วน เป็นต้น

  • มีภาวะหยุดหายใจระหว่างหลับ ทำให้ขาดออกซิเจน ส่งผลให้หลอดเลือดเสื่อมเร็ว และกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย

  • การขาดการออกกำลังกาย ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก อีกทั้งยังลดโอกาสเผาผลาญไขมันส่วนเกินในร่างกาย และนำพาโรคอ้วนได้

  • ภาวะเครียดเรื้อรัง ที่นำไปสู่โรคอื่น ๆ อีกมากมาย

  • พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการเป็นยังไง

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

          อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยอาจจะมีสัญญาณเตือนอยู่บ้าง ดังนี้

  • เจ็บหน้าอก โดยอาจจะเจ็บแบบทันทีทันใด หรือเป็น ๆ หาย ๆ พร้อมกับอาการหายใจไม่สะดวก จุกเสียดลิ้นปี่ เจ็บแน่นคล้ายมีของหนักมากดทับ หัวใจเหมือนถูกบีบรัด และปวดร้าวไปที่บริเวณต่าง ๆ เช่น ขากรรไกร คอ หัวไหล่ หรือปวดแขนซ้าย และอาการจะเป็นอยู่นานประมาณ 20-30 นาที นั่งพักก็ไม่ดีขึ้น

  • เจ็บหน้าอกเมื่อออกแรง เช่น เมื่อเดินขึ้นสะพานลอย ออกกำลังกาย เดินขึ้นบันได หรือมีภาวะเครียดจัด เป็นต้น

  • หายใจติดขัด หายใจไม่ออก หายใจหอบ

  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงที่ออกแรง เช่น ออกกำลังกาย ยกของหนัก

  • เวียนศีรษะ หน้ามืด จะเป็นลม

  • นอนราบไม่ได้

  • คลื่นไส้ อาเจียน

  • เหงื่อออกมาก ตัวเย็น

          อย่างไรก็ดี อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะมีความรุนแรงที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพหลอดเลือดหัวใจว่าตีบมาก-น้อย หรือผิดปกติแค่ไหน ซึ่งหากตีบไม่มาก อาการอาจแค่ส่งสัญญาณเตือนมาก่อน ทว่าหากมีอาการมาก อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจรุนแรงถึงจุดที่อันตราย เช่น หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นได้

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รักษาอย่างไร

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

          วิธีรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องบอกว่าหากพบสัญญาณเตือนได้เร็ว เข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาได้ทัน และอาการไม่มาก ก็จะมีวิธีรักษาอยู่หลายทางเลือกด้วยกัน ดังนี้

  • รักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือด เพื่อสลายเลือดที่แข็งตัวอยู่ที่เส้นเลือดแดงหัวใจ

  • รักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยวิธีใส่บอลลูนหัวใจ 

  • การผ่าตัด โดยจะใช้วิธีบายพาส ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวกขึ้น

           ทั้งนี้ การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็จำเป็นต้องถึงมือแพทย์ให้ไวด้วยนะคะ

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ป้องกันได้ไหม

          เราสามารถป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ตามนี้เลย

     • ไม่สูบบุหรี่ 

     • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

     • ลดอาหารหวาน อาหารมัน ๆ อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง หรือเลี่ยงได้ก็จะดี

     • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม

     • ออกกำลังกายรักษาหัวใจอยู่เสมอ เช่น การแอโรบิก คาร์ดิโอ เป็นต้น

     • หลีกเลี่ยงความเครียด และอารมณ์หงุดหงิด ขุ่นมัวต่าง ๆ

     • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

     • หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

            จริง ๆ แล้วการมีสุขภาพร่างกายที่ดี ลดความเสี่ยงจากโรคภัย ไม่ว่าจะโรคเรื้อรังต่าง ๆ รวมไปถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สามารถทำได้ง่าย ๆ แค่ปรับพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบของความเฮลธ์ตี้ กินให้ดี อารมณ์ดี นอนให้ดี และหมั่นออกกำลังกายเท่านั้นเอง

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อีกหนึ่งภัยเงียบในกลุ่มโรคหัวใจที่อาจตายได้กะทันหัน เช็กเลยใครเสี่ยงบ้าง อัปเดตล่าสุด 23 สิงหาคม 2566 เวลา 10:42:51 11,286 อ่าน
TOP
x close