กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน อันตรายไหม อาการไหนเป็นสัญญาณเตือน !

         กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน สาเหตุเกิดจากอะไร อาการแบบไหนที่เข้าข่ายต้องเฝ้าระวัง 
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

         โรคหัวใจจริง ๆ แล้วมีอยู่หลายชนิด หลายอาการ และบ่อยครั้งมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว หนึ่งในนั้นก็คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Acute Myocarditis) ที่หากปฐมพยาบาลหรือรักษาไม่ทัน อาจถึงแก่ชีวิต ตามมาศึกษาสาเหตุและอาการของโรคนี้ เพื่อเฝ้าสังเกตสัญญาณเตือนสุขภาพบางอย่างจากร่างกายกัน

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ คืออะไร

          กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาษาอังกฤษ คือ Myocarditis เป็นโรคที่เกิดการอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การสูบฉีดโลหิตเพื่อส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายลดลง และอาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดลิ่มเลือดอุดตันหัวใจ กระทั่งหัวใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยภาวะนี้หากเกิดขึ้นอย่างกะทันหันจะเรียกว่า กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Acute Myocarditis) สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกเพศ ทุกวัย

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สาเหตุเกิดจากอะไร

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

          กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ

  • การติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เช่น อะดีโนไวรัส หรือไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด, คอกซากีไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก, พาร์โวไวรัส ที่ทำให้เกิดผื่น, ไวรัสเอชไอวี สาเหตุของโรคเอดส์, ไวรัสเฮอร์ปีส์ ที่ทำให้เกิดโรคเริม รวมทั้งโคโรนาไวรัส ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด 19
  • การติดเชื้ออื่น ๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต 
  • การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษามะเร็ง ยาปฏิชีวนะ
  • การใช้สารเสพติด 
  • การได้รับสารเคมีหรือสารพิษบางชนิด เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ตะกั่ว รังสีบางชนิด พิษจากงู พิษจากแมลงกัดต่อย  
  • ผลพวงมาจากอาการป่วยที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคลูปัส

          นอกจากนี้ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ยังอาจพบได้ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยมีรายงานพบผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนชนิด mRNA บางรายมีภาวะดังกล่าว และมักจะเป็นเพศชายที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่ถึงกระนั้นก็เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนที่พบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งเกือบทั้งหมดหายได้เอง

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการเป็นอย่างไร

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

          กล้ามเนื้อหัวใจ มีหน้าที่สำคัญในการบีบและคลายตัว เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากอักเสบขึ้นมาในระยะแรกอาจจะยังไม่แสดงอาการอะไรออกมาเลย บางคนมารู้ตัวเมื่อมีอาการหนักแล้ว อย่างไรก็ตาม อาการทั่วไปที่พอจะสังเกตเห็นได้ มีดังนี้

  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
  • อ่อนเพลีย อ่อนแรง
  • เหนื่อยง่าย 
  • หายใจลำบาก หายใจสั้นลง หายใจถี่ขณะพักหรือระหว่างทำกิจกรรม
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ 
  • มือบวม ขาบวม เท้าบวม นอนราบไม่ได้
  • หากเกิดจากการติดเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ท้องเสีย อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร
  • วิงเวียน เป็นลม หมดสติ

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อันตรายหรือไม่

          ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจส่งผลให้การทำงานของหัวใจมีปัญหา เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น หรือหัวใจวาย เพราะไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้เพียงพอ อีกทั้งอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจหลุดไปอุดตันที่เส้นเลือดสมอง ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองได้อีก ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รักษาอย่างไร

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

          แพทย์จะต้องตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และรักษาตามสาเหตุนั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่

การให้ยา

          ส่วนใหญ่จะเป็นการให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดการอักเสบ, ยารักษาโรคหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ และยาขับปัสสาวะ เพื่อช่วยกำจัดของเหลวส่วนเกินในร่างกาย กรณีมีความดันโลหิตสูงก็จะให้ยาลดความดันร่วมด้วย

          ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรงก็จำเป็นต้องได้รับยาในระยะยาวหรือตลอดชีวิต

การผ่าตัดและหัตถการอื่น ๆ

          หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่น ๆ ร่วมรักษาด้วย เช่น การให้ยาทางหลอดเลือดดำ, การใช้เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด (VAD), การใส่บอลลูนปั๊มหัวใจ (IABP) หรือการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) เป็นต้น รวมทั้งการผ่าตัดและการปลูกถ่ายหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างรุนแรง

การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

          ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาจะต้องปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เช่น

  • รับประทานยาให้ตรงเวลา ห้ามหยุดยาเอง  
  • รับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ งดของเค็ม เพราะอาหารที่มีรสเค็มมากอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำคั่ง น้ำท่วมปอด นำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลว
  • งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะจะไปเพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • งดออกกำลังกายหนัก ๆ เล่นกีฬาหนัก ๆ หรือทำกิจกรรมที่ทำให้หัวใจเต้นแรง จนกว่าอาการจะดีขึ้น โดยส่วนใหญ่จะต้องพักหัวใจประมาณ 3-6 เดือน
  • พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

          อย่างไรก็ตาม โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ และในบางกรณีอาจทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายตัวผิดปกติ (Dilated Cardiomyopathy : DCM) ซึ่งความเสี่ยงของการเกิดซ้ำอยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 10-15%

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หายเองได้ไหม

          กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจหายเองได้ เช่น กรณีที่เป็นผลข้างเคียงมาจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ส่วนในกรณีที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ต้องขึ้นอยู่กับอาการและระยะเวลาที่ป่วย เพราะในบางคนอาจมีอาการไม่รุนแรง หรือไม่รู้ตัวว่าป่วยเลยไม่ได้รักษา แต่หากยังมีอาการบ่อย ๆ กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสียหายหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ที่เป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น

วิธีป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ต้องทำยังไง

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

         เนื่องจากสาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการป้องกันการติดเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะดังกล่าว เช่น

  • ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการสะสมและแพร่เชื้อโรค
  • สวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ในสถานที่ที่มีคนเยอะ ๆ
  • ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นหวัด โควิด 19 หรือโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ จนกว่าจะหายดี
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี เช่น วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งวัคซีนโควิด 19 ซึ่งจริง ๆ แล้วโอกาสที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด
  • ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเอชไอวี เช่น สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
          อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบค่อนข้างคล้ายกับอาการหัวใจวาย ดังนั้นหากใครรู้สึกเจ็บหน้าอกบ่อย ๆ หอบเหนื่อยง่าย หายใจถี่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริง และหากมีอาการแบบเฉียบพลัน อยู่ ๆ ก็หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ให้รีบขอความช่วยเหลือโดยเร็ว

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน อันตรายไหม อาการไหนเป็นสัญญาณเตือน ! อัปเดตล่าสุด 23 มิถุนายน 2566 เวลา 17:07:03 50,253 อ่าน
TOP
x close