โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช็กอาการต้องสงสัย ก่อนเสี่ยงจากไปอย่างกะทันหัน

          โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อีกหนึ่งภัยเงียบที่ควรรู้ให้ทัน เพราะหากเป็นขึ้นมาอาจลาโลกไปแบบปุบปับเลย
          ความน่ากลัวของโรคภัยบางโรคคือแอบซ่อนอาการเก่งมาก และเมื่อสำแดงเดชขึ้นมาก็อาจเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็จัดเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพเช่นกัน ดังนั้นเรามาทำความรู้จักโรคนี้และเช็กอาการเพื่อให้รู้ทันกันดีกว่า
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ สาเหตุเกิดจากอะไร
หลอดเลือดหัวใจตีบ

          โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease : CAD) สาเหตุส่วนใหญ่กว่า 95% เกิดจากการอักเสบและความเสื่อมของผนังหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากมีไขมันและเนื้อเยื่อเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจมีความหนาตัวขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดตีบ การไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจทำได้น้อยลง กล้ามเนื้อหัวใจจึงมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอจนนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) และหากไขมันในผนังหลอดเลือดแตกตัวเป็นลิ่มเลือด และไหลไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เสียชีวิตกะทันหันได้

          อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมของหลอดเลือดหัวใจจะใช้เวลานานนับสิบ ๆ ปี โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ ด้าน และกว่าจะรู้ตัวว่าหลอดเลือดหัวใจตีบก็อาจสายไปแล้ว

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง
          ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จำแนกออกได้ 2 ปัจจัย ดังนี้

1. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่

  • อายุที่มากขึ้น โดยกลุ่มเสี่ยงคือผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี

  • เพศ โดยเพศชายเป็นได้มากกว่าเพศหญิง แต่หญิงวัยประจำเดือนจะมีความเสี่ยงเท่า ๆ กันกับเพศชาย 

  • พันธุกรรม โดยเฉพาะหากเป็นเพศชายที่มีประวัติบิดาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจก่อนอายุ 55 ปี หรือมารดาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจก่อนอายุ 65 ปี

2. ปัจจัยที่ควบคุมได้

  • การสูบบุหรี่

  • ไขมันในเลือดสูง

  • ความดันโลหิตสูง

  • โรคเบาหวาน

  • การไม่ออกกำลังกาย

  • น้ำหนักมากหรืออ้วน

  • กินอาหารไม่มีประโยชน์

  • ความเครียด

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าตกใจอีกอย่างคือ ปัจจุบันพบคนอายุน้อยป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น โดยคาดว่าอาจเป็นเพราะการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบในยุคที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงของอาหารและความเครียดก็มีส่วนสำคัญ ทำให้พบผู้ป่วยอายุ 30 ปีกว่า ๆ มากขึ้น หรือพบเคสกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและเสียชีวิตระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ ในผู้ป่วยอายุ 48-49 ปีเท่านั้น จากที่เคยพบโรคนี้ในเพศชายวัยกลางคน หรือหญิงวัยทองเป็นส่วนใหญ่

10 พฤติกรรมเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน ทราบแล้วเปลี่ยนให้ทันก่อนหมดลมหายใจ !

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการเป็นอย่างไร
หลอดเลือดหัวใจตีบ

          แม้จะเป็นโรคที่อาการแสดงไม่โจ่งแจ้งเท่าไร แต่เราก็สามารถสังเกตความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้จากอาการเหล่านี้

          1. หายใจหอบ หายใจเข้าได้ไม่เต็มปอด และไม่สามารถนอนราบกับพื้นได้

          2. หน้ามืด เวียนหัว แน่นหน้าอก เนื่องจากความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน

          3. เหนื่อยง่ายขณะออกแรง หรือเวลาออกกำลังกาย

          4. เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกเค้นแรง ๆ และอาจมีอาการปวดร้าวตั้งแต่คอ กราม ไหล่ และแขนทั้งสองข้าง อาการมักเกิดขึ้นในขณะใช้กำลัง เช่น ออกกำลังกาย เดินขึ้นที่สูง ยกของ หรืออาจจะเกิดหลังรับประทานอาหารอิ่มมาก ๆ ถ้าได้พักอาการจะดีขึ้น

          5. ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจหมดสติหรือมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

​​​​​​​          ทั้งนี้ หากมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบแคบในระยะเริ่มต้นประมาณ 50% อาจมีอาการหอบเหนื่อยเมื่อออกแรงมากขึ้น แต่เมื่อพักสักหน่อยอาการเหนื่อยก็จะหายไป ทว่าหากหลอดเลือดหัวใจตีบมากเกิน 75% อาจมีอาการเหนื่อยแม้นั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งหากพบความผิดปกติดังที่กล่าวก็ควรรีบตรวจรักษา

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาหายไหม
          การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ณ ปัจจุบัน มีอยู่ 3 ทางเลือกด้วยกัน คือ 

1. การรักษาด้วยยา

          ในกรณีที่เส้นเลือดตีบเพียงบางส่วน ยาจะทำให้ภาวะอุดตันในหลอดเลือดบรรเทาลง การไหลเวียนของเลือดก็จะสะดวกขึ้น

2. การรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ

          ในกรณีที่หลอดเลือดอุดตันมาก การทำบอลลูนหัวใจจะช่วยดันไขมันที่อุดตันเส้นเลือดอยู่ให้ไปชิดกับผนังหลอดเลือด ขยายหลอดเลือดที่อุดตันให้เลือดวิ่งผ่านได้สะดวกยิ่งขึ้น

3. การผ่าตัดด้วยวิธีบายพาส

          ในกรณีที่ทำบอลลูนหัวใจไม่ได้ แพทย์จะเลือกใช้การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดบายพาส (Bypass) โดยใช้หลอดเลือดจากส่วนอื่นมาต่อเข้ากับหลอดเลือดหัวใจที่ตีบหรืออุดตัน ทำให้หลอดเลือดนั้นสามารถลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้

          ทั้งนี้ แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยประคองอาการแล้วก็ยังช่วยยืดอายุเราให้อยู่ได้นานขึ้นด้วย

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นแล้วควรดูแลตัวเองอย่างไร

          หากมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ และกำลังรักษาตัวอยู่ แพทย์จะแนะนำให้ปฏิบัติตัวเพื่อช่วยลดทอนความรุนแรงของโรคตามนี้

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง (ควบคุมอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม ลดน้ำหนักตัว)
  • กินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • กินผัก ผลไม้ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร
  • กินอาหารแต่พออิ่ม หลังกินเสร็จพัก 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เพราะหลังกินอาหารเลือดจะไปเลี้ยงที่ท้อง หากไม่พักจะทำให้เจ็บหน้าอก
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลังการรักษาแพทย์จะให้คนไข้ฝึกเดิน จากนั้นควรเพิ่มระยะเวลาทีละน้อย
  • ทำจิตใจให้สงบ หาโอกาสพักผ่อน ลดความเครียด
  • ไม่สูบบุหรี่
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาหารที่ควรกินมีอะไรบ้าง
อาหารโรคหัวใจ

     ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบควรเน้นกินอาหาร ดังนี้

  • อาหารอ่อน ย่อยง่าย รสชาติไม่จัดจนเกินไป 
     
  • คาร์โบไฮเดรตที่มีกากใยสูง มีส่วนประกอบของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวต่ำ (Low glycemic index) 
     
  • เลือกบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยไขมันที่รับประทานควรมีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัว
     
  • เพิ่มการบริโภคอาหารที่มีผัก ผลไม้ อาหารกลุ่มธัญพืช และกากใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นแหล่งวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้

ป่วยโรคหัวใจควรกินอะไร ไม่ควรกินอะไร ป้องกันไว้ไม่ให้อาการกำเริบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ป้องกันได้ไหม

    เราสามารถปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารเค็มจัด อาหารรสจัด และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว  
  • กินอาหารที่มีไขมันต่ำ 
  • เน้นกินผัก-ผลไม้ที่ไม่หวานจัด 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะการออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้น กระโดดเชือก ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เพื่อให้หัวใจแข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่เครียด
  • ควบคุมน้ำหนักและรอบเอว
  • ควบคุมความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 
  • ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
          เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากป่วยด้วยโรคใด ๆ โดยเฉพาะโรคที่เป็นภัยเงียบแบบนี้ ดังนั้นพยายามตรวจเช็กสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อพบความผิดปกติก็อย่าละเลย แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช็กอาการต้องสงสัย ก่อนเสี่ยงจากไปอย่างกะทันหัน อัปเดตล่าสุด 22 สิงหาคม 2564 เวลา 16:22:25 20,931 อ่าน
TOP
x close