งาขี้ม้อน คืออะไร
งาขี้ม้อน หรือที่เรียกเพี้ยนกันว่า งาขี้ม่อน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Perilla frutescens หรือที่บางคนอาจคุ้นหูกับคำว่า ใบชิโซะ (Shiso) คือพืชตระกูลเดียวกับกะเพรา โหระพา แมงลัก โดยมีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก ต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งที่อ่อนหรือต้นอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่หนาแน่น และต้นจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
เมื่อโตเต็มที่โคนต้นจะแข็งแรงขึ้นและออกเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่ ขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร โคนใบกลม ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่งยาว ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบงาขี้ม้อนจะเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบจะมีขนขาวเล็ก ๆ อ่อน ๆ ทั้งสองด้าน ที่ท้องใบจะมีต่อมน้ำมัน
ส่วนดอกของงาขี้ม้อนจะออกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบ และที่ปลายกิ่งของแต่ละช่อจะมีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ขนาดดอกย่อยจะยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีขนสีขาวปกคลุมบริเวณดอกอยู่หนาแน่นเช่นกัน
มาที่ส่วนผลของงาขี้ม้อนจะมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่กลับ ขนาดเล็กแต่ค่อนข้างแข็ง มีสีน้ำตาลหรือสีเทา ที่ผลจะมีลวดลายรูปตาข่าย ขนาดผลยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร
งาขี้ม้อน
คุณค่าทางโภชนาการไม่ธรรมดา
เมล็ดงาขี้ม้อนขนาด 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
-
โปรตีน 15.7 กรัม
-
ไขมัน 26.3 กรัม
-
คาร์โบไฮเดรต 37 กรัม
-
แคลเซียม 350 มิลลิกรัม
-
ฟอสฟอรัส 33 มิลลิกรัม
-
วิตามินอี 6.7-7.6 มิลลิกรัม (วัดจากงาขี้ม้อนที่ได้ผลผลิตต่างฤดูกาล)
-
กรดไขมันโอเมก้า 3 ประมาณ 50.9-53.4% (วัดจากน้ำมันงาขี้ม้อน)
-
กรดไขมันโอเมก้า 6 ประมาณ 21.2-24.1% (วัดจากน้ำมันงาขี้ม้อน)
นอกจากนี้ในงาขี้ม้อนยังมีวิตามินบี สารกลุ่มโพลีฟีนอล เช่น กรดโรสมารินิก (Rosmarinic acid) และสารลูทีโอลิน (Luteolin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง รวมไปถึงยังพบสารเซซามอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้ปกติ รวมถึงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อและต้านการอักเสบของข้อต่อต่าง ๆ จึงลดความเสี่ยงของโรคข้อเสื่อมอีกด้วย
สรรพคุณงาขี้ม้อน ดียังไง
งาขี้ม้อนประโยชน์ดี ๆ มีตามนี้เลย
-
ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตในเด็ก ซ่อมแซมกระดูกและฟัน เพราะมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง
-
มีส่วนช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ด้วยแคลเซียมและเซซามอลที่อยู่ในงาขี้ม้อน
-
มีวิตามินบีที่ช่วยบำรุงสมอง ลดอาการไมเกรน บรรเทาอาการเหน็บชา และอาการโรคปากนกกระจอก
-
มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยบำรุงการทำงานของระบบประสาทและสมอง ช่วยบำรุงความจำ ป้องกันโรคหัวใจและโรคสมองขาดเลือดได้
-
กรดไขมันโอเมก้า 6 ในงาขี้ม้อน มีส่วนช่วยป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบต่าง ๆ และดูแลความชุ่มชื้นให้ผิวหนังไม่แห้งกร้าน พร้อมทั้งมีส่วนช่วยลดริ้วรอยต่าง ๆ บนผิวพรรณได้ด้วย จึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง
-
ในงาขี้ม้อนมีวิตามินอีที่ช่วยเติมความชุ่มชื้นให้ผิวพรรณ และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องระบบประสาท กล้ามเนื้อ และการทำงานของปอด
-
สารโพลีฟีนอลและเซซามอลในงาขี้ม้อนสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ เพราะมีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง
-
น้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อนหากนำมาทอดผสมกับเหง้าไพล สามารถใช้เป็นยานวดบริเวณที่ปวดเมื่อยได้
-
กรดโรสมารินิกในงาขี้ม้อนมีฤทธิ์ต้านภูมิแพ้ จึงมีการพัฒนาต่อยอดเป็นเจลจากสารสกัดงาขี้ม้อน เพื่อใช้รักษาอาการผิวหนังอักเสบและโรคภูมิแพ้
งาขี้ม้อน กินยังไง กินดิบได้ไหม
งาขี้ม้อนนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูด้วยกัน เช่น นำเมล็ดไปคั่วแล้วตำผสมกับข้าวเหนียวและเกลือ ซึ่งจะเรียกว่าข้าวหนุกงา เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวเหนือ หรือจะนำงาขี้ม้อนไปทำขนมต่าง ๆ อย่างข้าวหลาม คุกกี้ งาขี้ม้อนแผ่น หรือนำเมล็ดงาขี้ม้อนไปสกัดเป็นชาไว้จิบ หรือสกัดเอาน้ำมันมาปรุงอาหารเมนูสลัด ผัด หรือทอดก็ได้
แต่หากจะกินงาขี้ม้อนดิบ ๆ ก็กินได้นะคะ โดยกินเปล่า ๆ เหมือนของกินเล่นได้เลย ส่วนใบงาขี้ม้อนก็สามารถกินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก หรือนำไปกินคู่กับเมนูปิ้งย่างได้เช่นกัน
งาขี้ม้อน กับข้อควรระวัง
แม้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน แต่การรับประทานงาขี้ม้อนก็มีข้อควรระวัง ดังนี้
-
ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้งาขี้ม้อน หรือแพ้พืชตระกูลกะเพรา (Lamiaceae)
-
สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยง เพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยมากเท่าที่ควร
บทความที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพื่อสุขภาพ
- 11 ประโยชน์ของงาดำ คุณค่าล้นเมล็ด ซูเปอร์ฟู้ดเพื่อสุขภาพ
- อาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง มีอะไรบ้าง ไม่ต้องกินแต่ปลาก็ได้ !
- ปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง ช่วยลดไขมันร้าย เติมไขมันดีจากปลาชนิดไหนได้บ้าง
- ประโยชน์ของน้ำลูกเดือย ยาอายุวัฒนะชั้นเลิศที่ต้องลอง
- ข้าวกล้อง VS ข้าวไรซ์เบอร์รี ต่างกันยังไง ข้าวชนิดไหนประโยชน์ดีกว่ากัน
- 10 ธัญพืชช่วยลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย กินง่าย ได้สุขภาพ