ผักคาร์บน้อย หรือมีปริมาณแป้งต่ำ มีอะไรบ้าง คนที่ลดน้ำหนักหรือกำลังคุมน้ำตาลในเลือดลองตามมาดู

ใครที่คิดว่าผักเป็นอาหารที่ไม่มีแป้ง บอกเลยว่าอยากให้คิดใหม่ เพราะผักบางชนิดก็มีคาร์โบไฮเดรตสูงพอสมควร ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น อีกทั้งหากร่างกายเผาผลาญน้ำตาลไม่หมดก็จะกลายเป็นไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ได้เหมือนกัน ดังนั้น สำหรับคนที่วางแผนว่าจะลดน้ำหนัก หรือในคนที่จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ เรามีผักคาร์บน้อย หรือ ผักที่มีแป้งน้อย มาให้เช็กว่ามีประโยชน์อย่างไร จากนั้นค่อยเก็บลิสต์แล้วไปกินตามกัน
ผักคาร์บน้อย ประโยชน์ดียังไง

ปกติผักจะเป็นกลุ่มอาหารที่อุดมไปด้วยกากใยอาหาร วิตามิน และสารพฤกษเคมีต่าง ๆ นานา และสำหรับผักคาร์บน้อย มีแป้งต่ำ ก็จะได้ประโยชน์ตามนี้ไปด้วย
- ผักคาร์โบไฮเดรตต่ำ มีน้ำตาลต่ำ กินแล้วไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงอย่างกะทันหัน
- มีไฟเบอร์ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย ส่งเสริมสุขภาพลำไส้ แถมกินแล้วจะอิ่มอยู่ท้องนานขึ้น ลดความอยากอาหาร ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
- เป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินเค และสังกะสี ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- ผักหลายชนิดอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ
- แม้จะมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ แต่ผักก็มีวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น
- มีส่วนช่วยในการดูแลผิวพรรณ เพิ่มน้ำและวิตามินบำรุงผิว เช่น วิตามินซีที่กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน หรือในบางชนิดก็มีวิตามินอีที่ช่วยให้ผิวเปล่งปลั่ง
ได้ทราบประโยชน์ของผักคาร์บต่ำไปเรียบร้อย ต่อไปนี้ก็ถึงคิวที่จะแนะนำผักแป้งน้อยกันแล้ว
ผักคาร์บน้อย มีอะไรบ้าง
จัดกลุ่มผักคาร์บต่ำ แป้งน้อย มาให้ตามนี้ เช็กเลยว่ามีผักอะไรน่าสนใจบ้าง
1. ผักใบเขียว

เช่น ผักโขม ปวยเล้ง ผักเคล เป็นกลุ่มผักที่มีคาร์บต่ำและเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ สามารถเลือกกินได้ตามใจชอบและตามที่สะดวกเลย
2. ผักตระกูลกะหล่ำ

ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดขาว บรอกโคลี คะน้า ผักเหล่านี้ก็มีแป้งต่ำ สามารถสลับกินกับผักใบเขียวและผักอื่น ๆ ได้เหมือนกัน ที่สำคัญผักตระกูลกะหล่ำยังมีดีที่สารซัลโฟราเฟนและสารไอโซไทโอไซยาเนต ซึ่งมีสรรพคุณลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งด้วย
3. พริกหวาน

นอกจากจะเป็นผักคาร์บน้อยแล้ว พริกหวานยังอุดมไปด้วยวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย อย่างในพริกหวานสีแดงจะอุดมไปด้วยแคปไซซิน ที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคต้อกระจก ส่วนพริกหวานสีเหลืองจะมีลูทีนและเบต้าแคโรทีนสูง ดีต่อดวงตา และพริกหวานสีเขียวก็จะได้สารต้านอนุมูลอิสระอย่างคลอโรฟิลล์มาช่วยดูแลสุขภาพ
4. แตงกวา

แตงกวาเป็นผักฉ่ำน้ำ และแน่นอนว่ามาอยู่ตรงนี้ได้ก็เพราะมีคาร์โบไฮเดรตต่ำด้วย อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งอย่างสารคิวเคอร์บิทาซิน อี (Cucurbitacin E) ซึ่งจะพบได้เฉพาะในพืชวงศ์แตงเท่านั้น
5. บวบ

ผักในวงศ์แตงอีกหนึ่งชนิด ที่นำมาทำเมนูง่าย ๆ อย่างผัดใส่ไข่ก็อร่อย หรือใส่ในแกงเลียงก็ซดแล้วคล่องคอและกินได้เรื่อย ๆ ไม่ต้องคิดมากมาย เพราะมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไฟเบอร์สูง และมีเคอร์บิทาซิน อี ที่อาจช่วยลดการอักเสบและยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งด้วย
6. มะเขือม่วง

มะเขือม่วงเป็นผักที่มีแป้งต่ำ มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คนที่เป็นเบาหวานและต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดกินได้ เพราะนอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วนั้น ใยอาหารในมะเขือม่วงยังมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดด้วยเช่นกัน
7. ถั่วฝักยาว

ถั่วฝักยาวเป็นผักที่มีคาร์บต่ำและแคลอรีต่ำมาก มีไฟเบอร์สูง ช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี แถมกินอร่อยได้หลายเมนู เช่น ส้มตำ ผัดใส่ถั่ว ผัดน้ำมันหอย หรือต้มจิ้มน้ำพริกก็ดีไม่แพ้กัน
8. ขึ้นฉ่าย

ขึ้นฉ่ายก็เป็นอีกหนึ่งผักที่มีแป้งน้อย น้ำตาลต่ำ มีโพแทสเซียมที่ช่วยในการควบคุมความดันโลหิต และช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง รวมถึงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอ่อน ๆ แต่กลิ่นอาจจะแรงเล็กน้อย บางคนก็ไม่ชอบเท่าไร
9. หัวไชเท้า

อีกหนึ่งผักคาร์บต่ำ วิตามินซีสูง ที่อยากแนะนำคือ หัวไชเท้า เพราะเป็นผักที่หาง่าย ราคาถูก นำมาปรุงอาหารก็อร่อยได้หลากหลาย หรือเจอง่าย ๆ ได้ตามน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวเลย
10. หน่อไม้ฝรั่ง

หน่อไม้ฝรั่งก็เป็นผักคาร์บต่ำที่น่าสนใจ เพราะจากข้อมูลทางโภชนาการจะเห็นได้ว่า หน่อไม้ฝรั่ง 1 ถ้วย 180 กรัม มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต 7 กรัม แต่เป็นไฟเบอร์ไปแล้ว 4 กรัม และยังเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินเอและวิตามินเคอีกด้วย
จริง ๆ แล้วยังมีผักอีกหลายชนิดที่เป็นผักที่มีแป้งต่ำ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำตาลในอาหาร แต่นอกจากนี้ก็ควรรับประทานผักอย่างเหมาะสม โดยเลือกปรุงด้วยวิธีต้ม นึ่ง ตุ๋น แทนการทอด การผัด หรือวิธีการที่ใช้น้ำมัน อีกทั้งเวลาปรุงรสก็ควรเบามือกันหน่อย พร้อมกับบริโภคอาหารอื่น ๆ ในปริมาณที่พอดี ไม่มากจนเกินความสามารถในการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย