มีผักหลายชนิดที่สรรพคุณเสมือนยา ช่วยรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของเราได้โดยอาจไม่ต้องพึ่งยาให้ลำบากไต แต่ผักชนิดไหนรักษาโรคอะไรได้บ้างลองมาดู
กินผักแล้วดี เพราะผักมีประโยชน์ แต่นอกจากประโยชน์ในด้านสารอาหารแล้ว รู้ไหมคะว่าผักบางชนิดยังมีสรรพคุณรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยของเราได้อีกด้วย ใครที่ป่วยแล้วอยากให้อาการป่วยหายไว ๆ ลองกินผักเหล่านี้เข้าไปช่วยก็ได้ ลองมาดูว่าผักรักษาโรค มีผักอะไรบ้าง
1. ขี้เหล็ก : แก้ท้องผูก นอนไม่หลับ
แม้ขี้เหล็กจะมีรสขม แต่สรรพคุณจมเลยนะจะบอกให้ โดยเฉพาะคนที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ กินขี้เหล็กเข้าไปจะช่วยให้การขับถ่ายเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะใบขี้เหล็กมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ บวกกับกากใยในใบขี้เหล็กที่มีค่อนข้างมาก จึงทำให้ใบขี้เหล็กช่วยแก้ท้องผูกได้ ทั้งนี้อาจจะกินแกงขี้เหล็ก หรือนำใบขี้เหล็ก 3-4 ใบ ต้มกับน้ำ 1 1/2 แก้ว แล้วเติมเกลือเล็กน้อย จากนั้นดื่มหลังตื่นนอนหรือหลังอาหารเช้าวันละครั้ง
ส่วนประโยชน์เด่น ๆ ของใบขี้เหล็กอีกอย่างก็คือแก้นอนไม่หลับ โดยการวิจัยของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่า ใบอ่อนและดอกอ่อนของขี้เหล็กมีสารช่วยคลายเครียด อีกทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับอ่อน ๆ อีกด้วยนะคะ แต่ใครอยากกินขี้เหล็กแก้นอนไม่หลับ แนะนำให้ใช้ใบขี้เหล็กแห้งหรือใบขี้เหล็กสด 50 กรัม ต้มกับน้ำพอท่วม แล้วดื่มก่อนนอน เพราะใบขี้เหล็กในแกงขี้เหล็กส่วนมากจะถูกต้มน้ำทิ้งเพื่อลดความขมไปก่อน ซึ่งอาจทำให้สารช่วยให้นอนหลับในใบขี้เหล็กเจือจางเกินไป ดังนั้นควรจะต้มใบขี้เหล็กดื่มแก้นอนไม่หลับไปเลย
อ้อ ! นอกจากนี้ใบขี้เหล็กยังแก้เหน็บชา รักษาโรคบิด แก้ร้อนใน ขับพยาธิ รักษาฝีมะม่วง และลดความดันโลหิตสูงได้ด้วยนะ
2. มะระขี้นก : รักษาเบาหวาน
กลุ่มวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ศึกษาผลของมะระขี้นกในการรักษาโรคเบาหวาน โดยศึกษากลไกการออกฤทธิ์และประสิทธิภาพทางคลินิกของมะระขี้นก และพบว่า ในมะระขี้นกมีกลไกที่ออกฤทธิ์ต้านเบาหวานอยู่หลายทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเสริมการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน เพิ่มความไวต่อการตอบสนองอินซูลินที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมัน ลดการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความทนต่อกลูโคส นอกจากนี้ยังยับยั้งการหลั่งกลูโคสในลำไส้เล็กและยับยั้งเอนไซม์กลูโคซิเดสได้อีกด้วย
แต่ทั้งนี้ก็ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณการใช้และระยะเวลาในการใช้มะระขี้นกต่อไปในอนาคต เพื่อที่จะสามารถใช้มะระขี้นกกับผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยอย่างที่สุด
- มะระขี้นก สรรพคุณเพียบ ต้านเบาหวานก็จัดให้
3. ตำลึง : ลดน้ำตาลในเลือด
จากข้อมูลของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การศึกษาทางคลินิก ในอาสาสมัครสุขภาพดี ที่รับประทานอาหารเช้าที่มีตำลึงเป็นกับข้าว ปริมาณ 20 กรัม ผสมกับมะพร้าวและเกลือ พบว่า อาสาสมัครกลุ่มนี้มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครที่กินอาหารเช้าโดยไม่มีตำลึงเป็นส่วนประกอบ และจากการทดลองนี้อาจแสดงว่า ตำลึงมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
ส่วนการกินตำลึงลดน้ำตาลในเลือด ให้ใช้เถาแก่ของตำลึงประมาณครึ่งถ้วย นำมาต้มกับน้ำ หรือนำน้ำคั้นจากผลตำลึงดิบ ๆ มาดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- ตำลึง สรรพคุณไม่ไก่กา เป็นผักริมรั้วธรรมดา แต่สรรพคุณทางยาอย่างเยอะ !
4. ผักเชียงดา : ลดน้ำตาลในเลือด
หลายคนอาจรู้จักผักชนิดนี้ในชื่อว่าผักฆ่าน้ำตาล และคงรู้สรรพคุณผักเชียงดากันมาบ้างแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก เราบอกกันตรงนี้เลยค่ะว่าผักเชียงดามีสารสำคัญที่ชื่อว่า Gymnemic Acid ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาล ส่งผลให้การดูดซึมน้ำตาลในลำไส้เล็กช้าลง ทั้งยังช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินได้อีกต่างหาก ใครอยากรู้จักผักเชียงดาให้มากกว่านี้ก็ลองมาดู
- ผักเชียงดา สรรพคุณไม่ธรรมดา เป็นสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด
5. หัวไชเท้า : ลดอาการอักเสบ
หัวไชเท้าเป็นผักที่เราเจอได้บ่อยในน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว หรือในต้มจืด น้ำซุปข้าวมันไก่ เป็นต้น ซึ่งก็ถือว่าหัวไชเท้าเป็นผักที่หากินง่าย มีรสชาติหวาน อร่อย และยังมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการอักเสบในร่างกายได้ด้วยนะคะ โดยจากการวิจัย พบว่า น้ำคั้นจากหัวไชเท้าหรือการกินหัวไชเท้ามีส่วนช่วยลดการอักเสบในร่างกายได้ แถมยังช่วยแก้ปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อจากการเล่นกีฬาได้ด้วย
- หัวไชเท้า สรรพคุณไม่ธรรมดา รักษาฝ้า-บำรุงร่างกาย
6. หัวปลี : บำรุงเลือด ขับน้ำนม
สำหรับแม่ที่ให้นมบุตร แล้วน้ำนมไม่ค่อยไหล หรือน้ำนมมีน้อย ลองกินหัวปลีแก้ปัญหานี้ดูค่ะ เพราะหัวปลีมีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด ซึ่งจะช่วยขับน้ำนมของคุณแม่หลังคลอดได้ นอกจากนี้หัวปลียังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่า มีทานอล ซึ่งงานวิจัยในวารสาร Food Science and Biotechnology เมื่อปี 2010 ระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระในสารสกัดจากหัวปลีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณป้องกันเซลล์ถูกทำลาย จึงช่วยป้องกันการอักเสบในร่างกายได้
- 7 ประโยชน์ของหัวปลี เทรนด์นี้มาแรง กินแทนเนื้อสัตว์ แคลอรีต่ำ !
7. หน่อไม้ฝรั่ง : แก้ท้องอืด
ใครที่มักจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ กรด แก๊สในกระเพาะเยอะ อยากให้ลองกินหน่อไม้ฝรั่งเพื่อช่วยบรรเทาอาการที่ว่ามาค่ะ เพราะหน่อไม้ฝรั่งมีไฟเบอร์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร และในหน่อไม้ฝรั่งยังมีคาร์โบไฮเดรตชนิดฟรุกโตโตโอลิโกแซคคาไรด์ ที่มีส่วนช่วยเพิ่มแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ พร้อมทั้งช่วยลดกรดและแก๊สในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้โดยไม่ต้องกินยา แต่นอกจากนี้แล้วหน่อไม้ฝรั่งยังมีสรรพคุณอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกเยอะเลยนะ
- หน่อไม้ฝรั่ง สรรพคุณเหลือล้ำ ขอย้ำว่าต้องกิน !
8. ผักบุ้ง : บำรุงดวงตา
อยากมีสายตาดีให้กินผักบุ้ง เพราะผักบุ้งมีเบต้าแคโรทีนสูง ซึ่งเบต้าแคโรทีนในผักบุ้งจะไปเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย แล้ววิตามินเอก็จะไปบำรุงสายตา รักษาอาการตาแห้ง ตาล้า บรรเทาอาการแสบตาจากภาวะตาแห้งได้ด้วย และยังไม่หมดแค่เท่านี้ค่ะ สรรพคุณของผักบุ้งยังมีอีกมากเลยล่ะ ลองมาดู
- ผักบุ้ง สรรพคุณจัดเต็ม บำรุงสายตา ลดเบาหวาน ของดีที่หาได้ใกล้ตัว
9. ผักปวยเล้ง : รักษาอาการเลือดออก
ผักที่หลายคนชอบกินอย่างปวยเล้งมีสรรพคุณดีกว่าที่คิดเยอะเลยล่ะ โดยเฉพาะสรรพคุณด้านรักษาโรคตา อย่างโรคตาบอดกลางคืน เพราะผักปวยเล้งมีแบต้าแคโรทีนค่อนข้างสูง ช่วยบำรุงและรักษาอาการเสื่อมของดวงตาได้ แถมยังรักษาโรคโลหิตจาง รักษาอาการเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ อย่างเลือดกำเดาไหลก็ได้ด้วย
10. กระเจี๊ยบเขียว : รักษาโรคกระเพาะ
สำหรับคนเป็นโรคกระเพาะ มีแผลในกระเพาะอาหาร กระเจี๊ยบเขียวช่วยบรรเทาได้ โดยการศึกษาพบว่า กระเจี๊ยบเขียวมีสารประกอบไกลโคไซเลต และไกลโคโปรตีน ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร (แบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร) ทำให้เชื้อแบคทีเรียตัวนี้เกาะเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ยากกว่าปกติ อาการแผลในกระเพาะอาหารก็จะบรรเทาลง
ส่วนวิธีกินกระเจี๊ยบเขียวใครจะกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำกระเจี๊ยบเขียวมาหั่นเป็นแว่น ตากแดดให้แห้ง แล้วบดละเอียด จากนั้นตักผงกระเจี๊ยบเขียวมาละลายในน้ำต้มสุก นม หรือน้ำผลไม้ กินวันละ 3-4 ครั้งหลังอาหาร ก็แล้วแต่สะดวกเลย
- กระเจี๊ยบเขียว สรรพคุณบรรเจิด เป็นเลิศที่เมือกลื่น ๆ บนฝัก
11. ใบบัวบก : แก้ช้ำใน ลดเส้นเลือดขอด
เรามักจะได้ยินว่าใบบัวบกมีสรรพคุณแก้ช้ำใน ซึ่งนอกจากบรรเทาอาการช้ำในร่างกายแล้ว การศึกษาชิ้นหนึ่งยังพบว่า ใบบัวบกมีส่วนลดอาการเส้นเลือดขอดได้ โดยได้ทำการทดลองกับอาสาสมัคร 90 คน แบ่งให้กลุ่มหนึ่งรับประทานใบบัวบก และอีกกลุ่มหนึ่งรับประทานยาหลอก จากนั้นก็ทำการอัลตราซาวด์หลอดเลือด แล้วพบว่า กลุ่มที่รับประทานใบบัวบกมีการรั่วไหลของหลอดเลือดดำลดลง อาการเส้นเลือดขอดก็บรรเทาลงด้วย
- สรรพคุณใบบัวบก ประโยชน์เลอค่า เพื่อความงามและสุขภาพ
12. มะระ : ช่วยเจริญอาหาร
ความขมของมะระก็มีประโยชน์ซ่อนอยู่มากมาย อย่างคนที่เบื่ออาหาร กินข้าวได้น้อยลง ลองกินมะระช่วยกระตุ้นความอยากอาหารก็ได้นะคะ เพราะในความขมของมะระมีสารโมโมดิซีน ที่มีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร และช่วยให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ พร้อมด้วยสรรพคุณของมะระอีกหลายข้อเลย
- มะระ สรรพคุณอย่างจี๊ด ลืมความขมไปเลย
ผักรักษาโรคมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน และอย่างที่รู้ ๆ ว่าผักก็มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง ใครที่อยากดูแลสุขภาพ บรรเทาอาการเจ็บป่วยของร่างกาย มากินผักกันเยอะ ๆ นะคะ
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 4 ตุลาคม 2562
, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล