ลำไส้แปรปรวน อาการเป็นแบบไหน รักษาหายไหมถ้าป่วย ?

          ลำไส้แปรปรวน อาการที่เกิดความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ มีสาเหตุมาจากอะไร ถ้าเป็นแล้วอันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไร มีอาหารอะไรควรกินหรือควรเลี่ยงบ้าง พร้อมวิธีป้องกัน

ลำไส้แปรปรวน

          หากท้องเสีย หรือท้องผูกแบบเรื้อรังอาจเป็นลำไส้แปรปรวนก็ได้ แม้ว่าอาการจะไม่ร้ายแรงและไม่ได้เป็นสาเหตุสู่โรคร้ายแรงอื่น ๆ แต่ก็มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อยถ้าไม่ได้ทำการรักษา หรือป้องกันไม่ให้ป่วย ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับอาการลำไส้แปรปรวนนี้กันให้มากขึ้นดีกว่า

ลำไส้แปรปรวน คืออะไร


          ลำไส้แปรปรวน หรือไอบีเอส (IBS : Irritable Bowel Syndrome) เป็นภาวะผิดปกติของระบบการทำงานในลำไส้ใหญ่ โดยมีอาการปวดท้องร่วมกับท้องผูกหรือท้องเสีย และจะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย หรือมีอาการท้องอืด มีลมในท้อง และเรอบ่อย ซึ่งส่วนใหญ่อาการเรื้อรังเหล่านี้มักเป็นนานเกิน 3 เดือน

ลำไส้แปรปรวน สาเหตุเกิดจากอะไร


          อาการลำไส้แปรปรวนยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากตรวจไม่พบความผิดปกติของร่างกายใด ๆ  แต่พบว่ามีหลายปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้น สามารถแบ่งได้ดังนี้

     • สภาพจิตใจและอารมณ์ โดยผู้ที่มีความเครียดหรือความวิตกกังวลสูง จะทำให้ลำไส้เกิดการบีบตัวผิดปกติเกิดอาการลำไส้แปรปรวนได้

     • ไวต่ออาหารบางชนิดมากเกินไป เช่น กลุ่มนม กลุ่มอาหารที่มีไขมันสูง กาแฟ น้ำส้มสายชู อาหารรสเผ็ด หรือผลไม้บางชนิด เป็นต้น เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะไปกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว รู้สึกอยากปวดท้องถ่ายทันที

     • ร่างกายย่อยอาหารเร็วไป หรือช้าไป ซึ่งถ้าร่างกายย่อยอาหารเร็วไป ไม่ทันได้ดูดซึมพวกกากใยและน้ำ จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย และถ้าหากร่างกายย่อยอาหารช้าไป จะดูดซึมน้ำและสารอาหารมากเกินไป ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวลำบากและเกิดอาการท้องผูก

     • จุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร โดยพบว่าผู้ป่วยมีชนิดและจำนวนจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารแตกต่างจากคนปกติ

     • การติดเชื้อในทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น ติดเชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) หรือเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) ซึ่งทำให้ท้องเสีย

     • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า หรือยาที่มีส่วนผสมซอร์บิทอล (Sorbitol) เป็นต้น

     • พันธุกรรม โดยพบว่าครอบครัวที่มีผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนมีโอกาสเกิดลำไส้แปรปรวนได้เช่นกัน

          หลังจากเราพอทราบคร่าว ๆ เกี่ยวกับปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวนแล้ว ลองมาดูกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสป่วยโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป ประกอบด้วย

     • ผู้หญิง มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงการมีรอบเดือน
     • กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงช่วงอายุประมาณ 40-50 ปี
     • ผู้ที่ครอบครัวมีคนเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จะมีแนวโน้มในการเกิดโรคนี้ได้ 2-3 เท่า
     • ผู้ที่มีความเครียดเป็นประจำ

ลําไส้แปรปรวน อาการเป็นแบบไหนบ้าง


ลำไส้แปรปรวน

          ลักษณะอาการลำไส้แปรปรวนที่เด่น ๆ คือ ปวดท้อง โดยเกิดร่วมกับการขับถ่ายที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นท้องผูก ท้องเสีย หรือทั้งท้องผูกและท้องเสีย ดังนี้

     1. มีอาการปวดท้องบริเวณท้องน้อย ลักษณะปวดเกร็ง อาจปวดมากหรือปวดน้อยก็ได้ โดยอาการปวดท้องจะทุเลาหลังขับถ่าย ผู้หญิงบางคนอาจปวดมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือน
     2. มีอาการปวดท้อง และท้องผูก โดยถ่ายแข็ง หรือคล้ายลูกกระสุน และอาจมีอาการถ่ายไม่หมดหรือถ่ายแล้วมีมูกเลือดปน
     3. มีอาการปวดท้อง และท้องเสีย มักเป็นในช่วงเช้าก่อนทำงานหรือหลังรับประทานอาหาร และอาจมีอาการถ่ายไม่หมดหรือถ่ายแล้วมีมูกเลือดปน
     4. มีอาการปวดท้อง และท้องผูกสลับกับท้องเสีย ทั้งนี้ต้องมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเด่นกว่าอีกอย่าง
     5. มีอาการท้องอืด แน่นท้อง มีลมมากในท้อง เรอบ่อย เวลาขับถ่ายมักมีลมออกมาด้วย
    
          ทั้งนี้ จะต้องมีอาการลักษณะดังกล่าวมานานอย่างน้อย 3-6 เดือน และต้องมีอาการปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาการปวดท้องเกิดขึ้นสัมพันธ์กับการขับถ่าย จึงจะถือว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวน
    

อาการลำไส้แปรปรวน คล้ายกับโรคไหนบ้าง


          อาการลำไส้แปรปรวนมีลักษณะคล้ายกับโรคอื่น ๆ มากมาย อาทิ

     • ท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียเรื้อรัง : แต่ทั้ง 2 โรคนี้จะไม่มีอาการปวดท้อง เป็นอาการเด่นเหมือนกับโรคลำไส้แปรปรวน
     • ภาวะลำไส้สั้น : เกิดจากการผ่าตัดลำไส้บางส่วนออกไป ทำให้ลำไส้ส่วนที่เหลือทำงานผิดปกติ จึงมีอาการท้องร่วงหรือขับถ่ายในปริมาณมาก
     • โรคลำไส้อักเสบ : มีอาการปวดบีบที่ท้อง ขับถ่ายเหลวเป็นน้ำ มูก หรือมูกเลือด ถ่ายบ่อยหรือต้องลุกขึ้นมาถ่ายกลางดึก อาจมีไข้สูงหรือต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน
     • มะเร็งลำไส้ใหญ่ : มีอาการปวดท้องเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย หรือท้องเสียเรื้อรัง ขับถ่ายเป็นเลือดหรือเป็นมูกเลือดปนมา ถ่ายไม่สุด น้ำหนักลด คลำเจอก้อนบริเวณหน้าท้อง
     • โรคกระเพาะอาหาร : มีอาการปวดท้องส่วนบน

          ดังนั้นต้องตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจนว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวนจริง ๆ หรือมีโรคอื่นซึ่งอันตรายกว่าแฝงอยู่ เพื่อรักษาได้ถูกโรคและถูกวิธี

ลำไส้แปรปรวน อันตรายหรือไม่


          อาการลำไส้แปรปรวน เป็นภาวะผิดปกติของระบบขับถ่ายชนิดเรื้อรัง แม้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ สามารถรักษาให้ดีขึ้นหรือหายชั่วคราวได้ ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด และอาจเป็นได้ตลอดชีวิต จึงเป็นโรคที่สร้างความรำคาญให้ผู้ป่วยไม่น้อย โดยผู้ที่มีอาการไม่หนักแค่หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่สำหรับคนที่มีอาการหนักอาจต้องใช้ยาในการรักษา

ลำไส้แปรปรวน รักษายังไง กินยาอะไร


ลำไส้แปรปรวน

          อาการลำไส้แปรปรวน จะมีวิธีการรักษาแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม และการใช้ยา

การปรับพฤติกรรม


     1. ต้องรับประทานอาหารเป็นเวลา และควรเคี้ยวให้ละเอียด กินช้า ๆ เพื่อให้ลำไส้ไม่ต้องทำงานหนัก
     2. หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะลำไส้จะมีการเกร็งตัวนำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก ควรออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
     3. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเตนสำหรับคนที่มีอาการแพ้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตนอย่างไวจะทำให้ระบบขับถ่ายผิดปกติ
     4. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร  
     5. ควรขับถ่ายให้เป็นเวลาและไม่ควรอั้นถ่าย เพราะจะเกิดอาการท้องผูกได้
     6. เลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเสีย
     7. พยายามกินอาหารให้หลากหลาย ครบหมู่ ไม่ควรกินอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค
     8. รับประทานอาหารทีละน้อย แต่กินให้บ่อยขึ้น และไม่ควรกินจนอิ่มมากเกินไป เพราะการกินอาหารในปริมาณจะทำให้ปวดท้องและท้องเสียได้ง่าย

          ทั้งนี้ถ้าหากปรับพฤติกรรมแล้ว แต่อาการลำไส้แปรปรวนที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้น แพทย์จะใช้ยาเพื่อปรับการทำงานของทางเดินอาหารให้ดีขึ้น โดยยาที่ใช้รักษาจะขึ้นอยู่กับว่ามีอาการแบบใด

การรักษาด้วยยา


     1. กลุ่มยาลดอาการปวด หรือยาช่วยลดการหดเกร็งของลำไส้ ได้แก่ ยาลดอาการปวด (Antispasmodics) เช่น ซินเทอโรเปียม (Cinteropium) ไดไซโคลมีน (Dicyclomine) หรือยาต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressant) เพื่อช่วยคลายเครียด
     2. กลุ่มยาสำหรับอาการท้องเสีย เช่น อโลเซตรอน (Alosetron) หรือราโมซีตรอน (Ramosetron)
     3. กลุ่มยาสำหรับอาการท้องผูก ช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น เช่น ลูบิพรอสโตน (lubiprostone)

ลำไส้แปรปรวน ควรกินอะไร อาหารประเภทใดควรเลี่ยง


ลำไส้แปรปรวน

          ใครที่มีอาการลำไส้แปรปรวน การเลือกรับประทานอาหาร รวมทั้งเลี่ยงรับประทานอาหารบางอย่างเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวนได้

อาหารที่ควรรับประทานอาหารสำหรับผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน

     • ผู้ที่มีอาการท้องผูกให้ดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ อย่างเช่น ข้าวโอ๊ต ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว แครอต ผักกาดขาว มะเขือเทศ เป็นต้น จะช่วยเพิ่มกากใยให้ลำไส้ ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ขับถ่ายคล่องขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย ควรลดการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์เยอะ เนื่องจากทำให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น

     • ผู้ที่มีอาการท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรังควรรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติก (Probiotics) หรือแบคทีเรียดี เพื่อเข้าไปปรับสมดุลในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายในลำไส้ใหญ่ ช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ

     • ควรรับประทานอาหาร Low FODMAPs (Fermentable Oligosaccharides Disaccharides Monosaccharides and Ployols) หรืออาหารที่มีน้ำตาลแลกโตส น้ำตาลฟรุกโตส น้ำตาลซูโครส หรือน้ำตาลทรายในปริมาณน้อย เช่น กะเพรา ขิง ฟักทอง หน่อไม้ แตงกวา ส้ม สับปะรด แก้วมังกร ขนุน เสาวรส กีวี นมปราศจากแลกโตส เป็นต้น เพื่อช่วยลดปัญหาอาหารไม่ย่อย ช่วยให้อาการท้องเสียหรือท้องผูกดีขึ้น

     • เน้นรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น เต้าหู้ เนื้อปลา

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน

     • ไม่ควรรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดลมในกระเพาะ เช่น นม ถั่ว และผักตระกูลกะหล่ำ รวมทั้งอาหารรสจัด ซึ่งจะทำให้ท้องอืด และมีอาการปวดท้อง

     • ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงในปริมาณมาก ๆ เช่น หนังเป็ด หนังไก่ เนื้อสัตว์ติดมัน เนย รวมทั้งของทอด เพราะย่อยยากและตกค้างในลำไส้เป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด มีลมในกระเพาะ ทำให้ปวดท้อง

     • ควรเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลแลกโตส น้ำตาลฟรุกโตส น้ำตาลซูโครส หรือน้ำตาลทรายทรายในปริมาณสูง รวมทั้งน้ำตาลเทียม เช่น แอปเปิล มะละกอ กล้วย เป็นต้น เนื่องจากย่อยยาก ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ของผู้ป่วยได้มาก

     • ควรเลี่ยงอาหาร High FODMAPs หรืออาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดย่อยยาก เช่น คุกกี้ ขนมปัง เค้ก พาสต้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถั่วชนิดต่าง ๆ เป็นต้น เพราะก่อให้เกิดแก๊สและกรดอ่อน ๆ ในลำไส้เพิ่มขึ้น ทำให้ลำไส้แปรปรวนได้

     • ควรเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการท้องเสีย หรืออาหารที่แพ้ โดยต้องสังเกตตัวเองว่ามีอาการท้องเสียมากกว่า 3 ครั้งต่อวันไหม หลังจากรับประทานอาหารมื้อนั้น ถ้าใช่ควรงดอาหารดังกล่าว

     • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม เนื่องจากอาหารเหล่านี้ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติได้

ลำไส้แปรปรวน ป้องกันได้อย่างไร


          เราสามารถป้องกันอาการลำไส้แปรปรวนได้ ดังนี้

     • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะจะช่วยคลายความเครียด และกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ทั้งนี้ควรออกกำลังกายตามความเหมาะสมของร่างกาย และไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป

     • พยายามไม่เครียด เพราะจะทำให้ลำไส้ใหญ่มีอาการเกร็งและแปรปรวน ควรทำจิตใจให้สบาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

     • ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอาหารเช้า เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายและมีกากใย เช่น ข้าวกล้อง ฟักทอง เป็นต้น

     • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อไปหล่อลื่นระบบขับถ่าย ช่วยให้กากอาหารอ่อนตัว ไม่เกิดอาการท้องผูก
   
          อาการลำไส้แปรปรวนแม้ไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าหากเราลดพฤติกรรมเสี่ยงทั้งเรื่องการเลือกอาหารที่มีประโยชน์และลดความเครียด ก็จะทำให้เราห่างไกลจากอาการลำไส้แปรปรวนได้แล้ว    
    

บทความที่เกี่ยวข้องกับลำไส้


     ◆ ลำไส้ใหญ่ทำหน้าที่อะไร ดูแลอย่างไรห่างไกลโรค
     ◆ ท้องอืด อึดอัด ไม่ถนัดขับถ่าย อาจเสี่ยงอุจจาระอุดตันในลำไส้ !
     ◆ มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการระยะต่าง ๆ เป็นอย่างไร โรคร้ายจากไลฟ์สไตล์อันเร่งรีบ
     ◆ เช็กอาการลำไส้อักเสบ ถ่ายบ่อย ปวดท้องบิด มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ ?
     ◆ 10 สูตรระบายท้องทำง่าย ช่วยถ่ายคล่อง แก้ท้องผูกได้อยู่หมัด !
     ◆ 10 เมนูอาหารไทยแก้ท้องผูก กินแล้วปลุกระบบขับถ่าย
     ◆ ท้องเสียบ่อย เช็กหน่อย...ป่วยเป็นอะไรได้บ้าง
     ◆ ผัก ผลไม้+สมุนไพรแก้ท้องเสีย บรรเทาถ่ายไม่หยุดด้วยสูตรธรรมชาติ
     ◆ ท้องเสียกินอะไรถึงจะหาย อาการไม่สบายกายที่แก้ได้ด้วยอาหาร
     ◆
ทำไมดื่มกาแฟแล้วท้องเสีย ไขข้อสงสัย เรื่องคาใจของเครื่องดื่มแก้วโปรด

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โรงพยาบาลพระราม 9
โรงพยาบาลนครธน
โรงพยาบาลสมิติเวช
โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลำไส้แปรปรวน อาการเป็นแบบไหน รักษาหายไหมถ้าป่วย ? อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2564 เวลา 11:59:50 267,288 อ่าน
TOP
x close