เป็นโควิดต้องกินยาอะไร ฟาวิพิราเวียร์ควรกินไหม

           เป็นโควิดต้องกินยาอะไร ใครติดโควิดและมีอาการไม่หนัก ต้องพักรักษาตัวที่บ้าน มาดูยาที่สามารถรับประทานได้ 
          อาการโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรุนแรง โดยผู้ติดเชื้อบางรายก็แทบไม่แสดงอาการเลย หรือบางส่วนก็มีแค่คันคอ เจ็บคอ ไอ จาม มีน้ำมูก เสมหะเยอะ เป็นไข้ ถ่ายเหลว เป็นต้น ซึ่งคนติดโควิดก็อาจสับสนได้ว่าควรกินยาอะไรรักษาตัวเองดี แล้วยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสก่อโรคโควิด 19 จำเป็นต้องกินไหม เอาเป็นว่าวันนี้มาไขข้อสงสัยกัน 

เป็นโควิดกินยาอะไร

ยาที่ผู้ป่วยโควิดกิน

    อย่างที่บอกว่าหากติดโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่อาการจะไม่หนัก ซึ่งก็สามารถกินยารักษาตามอาการที่เป็นได้ เช่น

  • ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม สำหรับลดไข้ ปวดศีรษะ แก้ปวดเมื่อยร่างกาย โดยกินเมื่อมีอาการ ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
     
  • ยาแก้ไอ ได้ทั้งแบบชนิดอมหรือยาน้ำแก้ไอ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ช่วยให้ชุ่มคอ
     
  • ยาอมแก้เจ็บคอ หรือสเปรย์พ่นคอ เช่น ยาอมมะแว้ง ยาอมมะขามป้อม ยาอมรสมะนาวน้ำผึ้ง หรือยาอมที่มีส่วนผสมของสมุนไพรที่ทำให้เย็นคอ อย่างเมนทอล หรือยูคาลิปตัส หรืออาจใช้สเปรย์สำหรับช่องปากและลำคอ พ่นแก้อาการเจ็บคอก็ได้เหมือนกัน
     
  • ยาละลายเสมหะ สามารถใช้ได้ทั้งแบบเม็ดฟู่และชนิดน้ำ 
     
  • ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้แพ้ ซึ่งควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร และใช้ยาเท่าที่จำเป็นนะคะ 
     
  • ยาแก้ท้องเสีย เช่น ยาธาตุน้ำขาว หรือผงคาร์บอน
     
  • เกลือแร่ ORS สำหรับทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากการถ่ายเหลวบ่อยครั้ง หรือในคนที่มีอาการท้องเสีย 
     
  • ยาฟ้าทะลายโจร สำหรับช่วยลดการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บคอ อาการไอ และลดไข้ โดยควรกินวันละ 180 มิลลิกรัม แบ่งกิน 3 มื้อ ก่อนอาหาร ถ้าจำนวนแคปซูลมากสามารถแบ่งเป็น 4 มื้อได้ และกินติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน (ตรวจสอบปริมาณฟ้าทะลายโจรที่สามารถรับประทานได้ของแต่ละยี่ห้อ ที่นี่) อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่กินยากันเลือดเป็นลิ่ม ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด ยาลดความดันโลหิต ไม่ควรกินฟ้าทะลายโจร

เด็กติดโควิด กินยาอะไรดี

ยาที่ผู้ป่วยโควิดกิน

    ในผู้ป่วยเด็กที่ติดโควิด 19 หากกลืนยาเม็ดไม่สะดวก สามารถบรรเทาอาการไม่สบายได้ด้วยยาดังต่อไปนี้

  • ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ชนิดน้ำ โดยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กิน 1 ช้อนชา 1-2 เวลา และอายุ 5 ขวบขึ้นไป กิน 1 ช้อนชา 3 เวลา 
     
  • ยาแก้อาเจียน ชนิดน้ำ กินตามน้ำหนักตัว คือ น้ำหนัก 10 กิโลกรัมขึ้นไป กิน 2.5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง
     
  • ยาลดอาการคัดจมูก Oxymetazoline เช่น iliadin 0.025 หยดในจมูกทั้ง 2 ข้าง ทุก ๆ 8 ชั่วโมง แต่ห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
     
  • ยาลดน้ำมูก ชนิดน้ำ โดยกินตามอายุ 2-6 ขวบ กิน 1/2 ช้อนชา 3 เวลา อายุ 6-12 ปี กิน 1 ช้อนชา 3 เวลา
     
  • เกลือแร่ ORS ในกรณีที่เด็กถ่ายเหลว ท้องเสียบ่อยครั้ง และควรเปลี่ยนนมเป็นสูตรปราศจากแล็กโทสด้วยค่ะ
     
  • ยาลดไข้ ชนิดน้ำ กินตามน้ำหนักตัว หากหนัก 10 กิโลกรัมขึ้นไป ให้กินพาราเซตามอลชนิดน้ำขนาด 60 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 มิลลิลิตร ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน 

คนเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการรุนแรงต้องใช้ยาอะไร

         สำหรับผู้ที่ติดโควิด 19 และเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เป็นโรคอ้วน หรือผู้สูงอายุ หรือมีอาการปอดอักเสบ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ แพทย์อาจเลือกให้ยาต้านไวรัส ตามแนวทางการรักษาผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 18 เมษายน 2566 ดังนี้

  • ยาฟาวิพิราเวียร์ : ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่อายุไม่ถึง 18 ปี และมีปอดอักเสบเล็กน้อย หรือมีปัจจัยเสี่ยงปอดอักเสบ
     
  • ยาเรมเดซิเวียร์ : ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบรุนแรง รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 1 ข้อขึ้นไป 
     
  • ยาเนอร์มาเทรลเวียร์/ริโทนาเวียร์ หรือ Paxlovid : เป็นยาเม็ดรักษาโควิด 19 จากบริษัทไฟเซอร์ อาจพิจารณานำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโควิด 19 รุนแรง ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร
     
  • ยาโมลนูพิราเวียร์ : เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านไวรัสโคโรนา อาจพิจารณานำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโควิด 19 รุนแรง เช่น ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง หรือเป็นผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนน้อยกว่า 3 เข็ม แต่ห้ามใช้กับเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
     
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ : เป็นยาลดอาการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก คือ ค่าออกซิเจนไม่เกิน 94% หรือมีปอดอักเสบรุนแรง
     
  • ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting Antibody : LAAB) : ใช้สำหรับผู้ป่วยอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง

ปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่
     1. อายุมากกว่า 60 ปี
     2. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ
     3. โรคไตเรื้อรัง (stage 3 ขึ้นไป)
     4. โรคหัวใจและหลอดเลือด  
     5. โรคหลอดเลือดสมอง
     6. เบาหวาน 
     7. ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.)
     8. ตับแข็ง (Child-Pugh class B ขึ้นไป) 
     9. ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เป็นโรคที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบําบัด หรือยากดภูมิ หรือ Corticosteroid Equivalent to Prednisolone 15 มก./วัน 15 วันขึ้นไป 
     10. ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มี CD4 cell count น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.
     11. โรคมะเร็ง (ไม่รวมมะเร็งที่รักษาหายแล้ว)

ติดโควิด ทำไมไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์ทุกคน

ยาฟาวิพิราเวียร์

         คนที่รักษาตัวที่บ้านอาจสงสัยว่า ทำไมไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสชนิดอื่น ๆ นั่นก็เพราะคนที่ Home Isolation ส่วนใหญ่มีอาการไม่หนักและสามารถรักษาให้หายได้เอง ดังนั้น หากไม่มีความเสี่ยงจะมีอาการรุนแรง ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองหรือแดงที่มีแววอาการหนัก ก็จะไม่ได้รับยาต้านไวรัสนะคะ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วย เช่น มีอาการตับอักเสบ หรือเกิดเชื้อดื้อยาได้ในภายหลัง

ข้อควรระวังเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ 

          เนื่องจากฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่มีผลข้างเคียงที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ จึงมีข้อควรระวังในการรับประทาน ดังนี้

  • ไม่ซื้อยาฟาวิพิราเวียร์กินเอง เพราะอาจเป็นของปลอม เนื่องจากยาชนิดนี้ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป
  • ไม่ควรกินยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ เพราะอาจดื้อยา และหากตั้งครรภ์อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้
  • ห้ามกินยาฟาวิพิราเวียร์ร่วมกับฟ้าทะลายโจร เพราะยังไม่มีข้อมูลการใช้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดอื่น และอาจเพิ่มโอกาสในการเป็นพิษต่อตับ
           ได้รู้กันไปแล้วว่ายารักษาโควิด 19 มีอะไรบ้าง ดังนั้นหากติดโควิด 19 แล้วมีอาการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ  ก็ใช้ยาเหล่านี้รักษาอาการตัวเองได้ หรือหากใครยังรอดปลอดเชื้อ แต่ก็ไม่รู้จะรอดไปถึงเมื่อไร ลองเตรียมยาเหล่านี้ติดบ้านเผื่อไว้ก็ดี

บทความที่เกี่ยวข้องกับยารักษาโควิด 19

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 19 เมษายน 2566
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข,​ โรงพยาบาลเปาโล, เฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 (1), (2), เฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand, กระทรวงสาธารณสุข, กรมการแพทย์   

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เป็นโควิดต้องกินยาอะไร ฟาวิพิราเวียร์ควรกินไหม อัปเดตล่าสุด 20 เมษายน 2566 เวลา 09:16:03 221,488 อ่าน
TOP
x close