อากาศร้อนขนาดนี้ ไม่เปิดแอร์คงอยู่ไม่ไหว แต่สำหรับผู้ป่วยโควิด ถ้านอนเปิดแอร์จะส่งผลอะไรไหมนะ ?
ทุกวันนี้ยังคงมีคนติด โควิด 19 อยู่เรื่อย ๆ แต่อาการโควิดล่าสุดมักไม่รุนแรง จึงใช้วิธีรักษาโควิดที่บ้าน ทว่าอากาศเมืองไทยค่อนข้างร้อนอบอ้าว ยิ่งซัมเมอร์นี้ยิ่งร้อนระอุทะลุ 40 องศากันหลายพื้นที่ หลายคนเลยสงสัยว่า คนติดโควิดที่กักตัวอยู่จะสามารถเปิดแอร์ได้ไหมนะ แล้วจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้คนที่อยู่บ้านเดียวกันหรือเปล่า งั้นลองมาหาคำตอบกัน
เป็นโควิดเปิดแอร์ได้ไหม
ประเด็นนี้ ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำให้เลี่ยงการเปิดแอร์ค่ะ เนื่องจากห้องแอร์เป็นห้องที่มีอากาศปิด อากาศไหลเวียนได้ไม่ค่อยดี จึงมีโอกาสที่เชื้อโควิด 19 จากผู้ป่วยจะสะสมอยู่ในห้อง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโควิด 19 จะฟื้นตัวได้ดีหากอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี จึงแนะนำให้ใช้พัดลม และเปิดประตู-หน้าต่างแทน เพื่อให้อากาศถ่ายเท โดยต้องสังเกตทิศทางของลมด้วย ถ้าลมพัดไปยังพื้นที่ที่มีคนไม่ป่วยอยู่ก็ไม่ควรเปิดหน้าต่าง เพราะลมอาจพัดเชื้อจากตัวเราไปสู่คนอื่นได้
ถ้าอยากเปิดแอร์ ต้องทำอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ถึงกับห้ามผู้ป่วยโควิดเปิดแอร์ซะทีเดียว เพราะหากอากาศร้อนมาก ๆ จนอยู่ในห้องไม่ไหว หรือจำเป็นต้องเปิดแอร์จริง ๆ ผู้ป่วยก็สามารถทำได้ ดังนี้
-
เปิดแอร์ได้ครั้งละไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง แล้วปิด
-
เมื่อปิดแอร์ ให้เปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศออก อย่างน้อย 20-30 นาที แล้วเปิดแอร์ใหม่
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสะสมอยู่ตามจุดต่าง ๆ ภายในห้อง เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนสามารถอยู่บนพื้นผิวสเตนเลส พลาสติก และแก้ว ได้นานหลายวัน และมีความเป็นไปได้ที่โอมิครอนอาจจะอยู่ในอากาศได้นานกว่าปกติ
ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย
ในกรณีที่เรายังไม่ติดเชื้อ แต่พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับคนติดเชื้อ หากจะเปิดพัดลมหรือแอร์ก็ควรปฏิบัติตามนี้เพื่อความปลอดภัย
-
ไม่เปิดพัดลมจ่อบริเวณใบหน้า เพราะถ้าในอากาศมีเชื้อโควิด 19 ปนเปื้อน เราอาจหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง
-
ไม่ควรใช้พัดลมเพดานทุกชนิด โดยเฉพาะบ้านที่มีลักษณะปิดทึบ ไม่มีช่องระบายอากาศ เพราะถ้ามีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ แรงลมจากพัดลมเพดานจะยิ่งทำให้เชื้อโรคในอากาศฟุ้งกระจายมากขึ้น
-
หากบ้านไหนเปิดแอร์ ควรเปิดพัดลมดูดอากาศร่วมด้วย
-
ควรเปิดพัดลมตั้งโต๊ะ หรือพัดลมตั้งพื้น โดยหันหน้าออกไปด้านนอกหน้าต่าง เพื่อให้อากาศภายนอกไหลเข้ามาภายในมากขึ้น ซึ่งจะช่วยดันอากาศสกปรกภายในห้องหรือภายในบ้านออกไป
-
หมั่นเปิดประตู-หน้าต่างทุกวัน เพื่อระบายอากาศในห้องที่ปิดทึบออกไป
-
ควรเปิดหน้าต่างให้แสงแดดตอนเช้าส่องเข้ามาภายในห้องหรือตัวบ้าน เพื่อช่วยทำลายเชื้อโรคได้อีกทาง
-
ไม่นอนในห้องแอร์ร่วมกับผู้ติดเชื้อโควิด แม้จะนอนห่างกัน 2 เมตรขึ้นไป เพราะการอยู่ร่วมกันในห้องปิดเป็นเวลานาน ทิศทางการไหลเวียนอากาศในระบบแอร์อาจทำให้เชื้อกระจายเข้าสู่ตัวเราได้
โควิด 19 เป็นโรคทางเดินหายใจที่ติดต่อง่ายกว่าที่คิด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่อยู่ในอากาศได้นานขึ้น ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นผู้ติดเชื้อ หรือยังไม่ติดเชื้อแต่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ก็ต้องป้องกันตัวเองให้ดีด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และเมื่อจะใช้พัดลมหรือแอร์ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดนะคะ
บทความเกี่ยวกับการรักษาโควิด 19
- อาการโควิดล่าสุดปี 2567 เบื้องต้นเป็นยังไง กี่วันหาย อันตรายหรือไม่
- ติดโควิดทำอย่างไร 2567 ล่าสุดที่ Covid-19 ระบาดรอบใหม่ต้องกักตัวกี่วัน
- วิธีรักษาโควิดที่บ้าน ปี 2567 เป็นโควิดกินยาอะไรได้บ้าง มาอัปเดตล่าสุดกัน
- หายโควิดแต่ยังไอ แพร่เชื้อได้อยู่ไหม ใช่ Long Covid หรือเปล่า
- ติดโควิด 19 รอบ 2 อันตรายขึ้นไหม อาการป่วยจะรุนแรงกว่าเดิมหรือเปล่า ?
- หายโควิดแล้ว แต่ตรวจ ATK เจอ 2 ขีด สรุปว่าหายหรือยัง แพร่เชื้อได้ไหม ?
- เช็กอาการลองโควิด (Long Covid) ใครเสี่ยง มีอะไรบ้างที่อาจกระทบสุขภาพไปอีกยาว
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, สสส., องค์การอนามัยโลก