หายโควิดแล้ว แต่ตรวจ ATK เจอ 2 ขีด สรุปว่าหายหรือยัง แพร่เชื้อได้ไหม ?

           รักษาโควิดจนหายแล้ว แต่ทำไมพอตรวจ ATK ก็ยังเป็นบวก แบบนี้จะไปทำงาน หรือออกไปนอกบ้านได้หรือยังนะ

          วิธีรักษาผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ตามแนวทางปัจจุบัน คือให้กักตัวที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ตรวจพบเชื้อ เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดก็ถือว่าหายป่วยจากโรคนี้แล้ว สามารถออกไปทำงานหรือออกจากบ้านได้ตามปกติ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือ Hospitel  ประมาณ 20 วัน นับจากวันที่มีอาการ ถึงจะถือว่าหายป่วย

          แต่ถึงกระนั้นยังมีหลายคนที่รักษาตัวครบกำหนดแล้วไปลองตรวจ ATK แต่ขึ้น 2 ขีด เลยอดกังวลไม่ได้ว่า นี่เราหายป่วยหรือยัง แล้วจะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้อีกไหม ลองมาทำความเข้าใจกันสักนิด

ทำไมหายโควิดแล้ว แต่ยังตรวจเจอเชื้อ
โควิด 19

          ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยให้ข้อมูลว่า คนที่เพิ่งหายป่วยโควิดมีสิทธิ์ตรวจ ATK เป็นผลบวกได้ เพราะในร่างกายของเราอาจยังมีซากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่ร่างกายยังกำจัดไม่หมดหลงเหลืออยู่ในน้ำมูกหรือน้ำลาย ซึ่งบางคนอยู่ได้นาน 30-90 วันเลยทีเดียว

          อย่างไรก็ตาม ซากสารพันธุกรรมดังกล่าวคือจุลชีพที่ถูกร่างกายทำลายจนหมดฤทธิ์ เป็นเชื้อที่ตายแล้ว ถ้านำไปเพาะเชื้อก็จะเพาะไม่ขึ้น เท่ากับว่าเชื้อที่พบไม่สามารถแพร่ไปให้ผู้อื่นได้อีก เป็นเสมือนซากเชื้อที่ก่อโรคไม่ได้แล้วนั่นเอง 

          ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโควิดที่รักษาครบตามกำหนดเวลาแล้วไปตรวจโควิดซ้ำ เพราะเมื่อตรวจย่อมมีโอกาสเจอซากเชื้อ ทำให้เข้าใจผิดว่ายังไม่หายป่วย  

ถ้าเชื้อตายแล้ว แต่ทำไมยังตรวจเจอได้

          ประเด็นนี้ อ. ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้ว่า การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธี RT-PCR คือการตรวจเพื่อบอกว่าในร่างกายมีหรือไม่มีสารพันธุกรรมนี้ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย ดังนั้นถ้าตรวจเจอก็แสดงว่าในร่างกายยังมีสารพันธุกรรมชนิดนี้ เช่น อาจจะหลงเหลืออยู่ในปริมาณเล็กน้อย โอกาสที่จะแพร่กระจายไปสู่คนอื่นถือว่าน้อยมาก

          ทั้งนี้ ทุกโรคที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ไม่ใช่แค่โรคโควิด ยังสามารถทิ้งซากให้หลงเหลืออยู่ในร่างกาย บางเชื้ออยู่ได้ 2-3 เดือน หรือถึง 6 เดือน ขึ้นอยู่กับเชื้อแต่ละชนิด

เปิดความเห็นอีกมุม แนะให้กักตัว
จนกว่าผลตรวจ ATK เป็นลบ
อย่างไรก็ตาม มีความคิดเห็นจากแพทย์และนักวิชาการที่แนะนำว่า ผู้ป่วยควรกักตัวต่อจนกว่า ATK จะเป็นผลลบ 

          อย่าง ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ที่ระบุว่า การตรวจ ATK จะไม่เจอซากเชื้อได้เหมือนกับการตรวจแบบ RT-PCR อีกทั้ง ATK มีความไวน้อยกว่า RT-PCR ดังนั้นถ้าตรวจ ATK แล้วเป็นบวกอยู่แสดงว่า ยังมีอนุภาคของไวรัสที่มีปริมาณโปรตีน N อยู่พอสมควร มีแนวโน้มติดเชื้อต่อได้ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยกักตัวต่อจนกว่าจะตรวจ ATK แล้วเป็นผลลบ 2 วันติดต่อกัน

          ขณะที่ นพ.อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม แสดงความเห็นว่า การตรวจ ATK ไม่ได้ละเอียดถึงขนาดเจอซากเชื้อ มีแค่การตรวจแบบ RT-PCR ที่ตรวจเจอซากเชื้อ ซึ่งการตรวจ RT-PCR ยังผิดได้  ดังนั้น หากตรวจ ATK แล้วยังขึ้น 2 ขีด นั่นหมายถึงยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้ไม่มากก็น้อย และหากคนใกล้ชิดเป็น เด็ก คนชรา ผู้มีโรคประจำตัว ยิ่งติดง่าย

          ด้าน นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ชี้ว่า การตรวจ ATK คือการตรวจหาโปรตีน Nucleocapsid ซึ่งอยู่ในตัวไวรัส และจะพบเมื่อมีการแบ่งตัวไวรัส หรือ พบในเซลล์ที่ถูกไวรัสติดเข้าไป หาก ATK ขึ้น 2 ขีดหมายความว่า ที่ตรวจเจอนั้นคือเชื้อจริง ๆ ไม่ใช่ซากเชื้อแบบที่เคยได้ยิน ทั้งนี้ ในคนที่หายจากอาการของโรคแล้ว แม้ผ่านไป 14-28 วัน ก็ยังสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสได้ผ่านวิธี  RT-PCR เท่านั้น ซึ่งสารนี้หลายคนเรียกว่าซากเชื้อ แต่ปริมาณจะน้อยมาก 

สังเกตให้ดีว่าไม่ใช่ติดเชื้อรอบ 2
โควิด 19

          กรณีที่เป็นซากเชื้อจริง ๆ แม้ว่าจะไม่สามารถแพร่โรคให้คนรอบข้างได้ แต่เราก็ต้องมั่นใจด้วยว่านี่ไม่ใช่การติดโควิดรอบ 2 เพราะมีบางเคสที่หลังจากหายป่วยไม่นานก็ติดโควิดอีกรอบแต่คนละสายพันธุ์กับครั้งแรก จึงตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นบวกได้เช่นกัน

          กรณีนี้เราต้องสังเกตตัวเองด้วยค่ะว่ามีอาการคล้ายป่วยโควิดอีกหรือไม่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย ฯลฯ กลับมาอีกหรือเปล่า หรือเพิ่งได้สัมผัสใกล้ชิดกับคนติดเชื้อมาไหม เพราะแม้เราจะมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อครั้งแรกมาแล้ว แต่ถ้าเจอโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ ก็มีโอกาสติดซ้ำได้อีกครั้ง เพียงแต่อาการที่เกิดขึ้นรอบนี้อาจจะไม่รุนแรงเช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วนั่นเอง

          แม้จะหายป่วยจากโควิดแล้วก็อย่าชะล่าใจไปนะคะ เรายังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองจากโควิด 19 อย่างเคร่งครัด เพราะยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีกจากสายพันธุ์อื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้องกับ โควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หายโควิดแล้ว แต่ตรวจ ATK เจอ 2 ขีด สรุปว่าหายหรือยัง แพร่เชื้อได้ไหม ? อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2565 เวลา 14:31:56 295,881 อ่าน
TOP
x close