นิ้วปุ้ม นิ้วตะบอง ลักษณะคล้ายไม้กลอง แต่บอกถึงโรคร้ายที่ซ่อนอยู่

           นิ้วปุ้ม หรือ นิ้วตะบอง (Clubbed fingers) เป็นสัญญาณนิ้วบอกโรคที่ควรต้องใส่ใจ เพราะกำลังส่อถึงโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา
นิ้วตะบอง

           นิ้วตะบอง หรือถ้าภาษายุคนี้ก็คือลักษณะนิ้วที่คล้ายกระบอง เป็นนิ้วปุ้ม ๆ เหมือนหัวไม้กลอง ดูบวมผิดปกติ ซึ่งก็เกิดจากความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในร่างกายจริง ๆ โดยนิ้วตะบองเป็นสัญญาณของโรคหลายอย่างเลยค่ะ ลองมาดูรายละเอียดกันเลย

นิ้วตะบอง นิ้วปุ้ม คืออะไร

นิ้วปุ้ม คือ

           นิ้วตะบอง หรือ นิ้วปุ้ม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Clubbed fingers คือ ภาวะที่ปลายนิ้วมือหรือปลายนิ้วเท้ามีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดูป้อม ๆ บวม ๆ คล้ายตะบอง และบางรายอาจมีอาการนิ้วเขียวร่วมด้วยได้ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายอาจมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง

นิ้วตะบอง นิ้วปุ้ม
อาการเป็นยังไง

นิ้วปุ้ม อาการ

           ภาวะนิ้วปุ้ม สังเกตได้ง่าย ๆ จากอาการปลายนิ้วบวมและกลมมน เล็บหนาขึ้นและมีลักษณะงุ้มลง มุมระหว่างเล็บกับฐานเล็บเปิดกว้างขึ้น มีลักษณะอ่อนนุ่มจนเล็บลอย และอาจรู้สึกว่าปลายนิ้วมีสีแดง หรือสีเขียวได้ สามารถเกิดได้พร้อมกันทุกนิ้วหรืออาจเป็นบางนิ้ว

นิ้วปุ้ม เกิดจากอะไร

           สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนิ้วตะบองนั้นยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการขาดออกซิเจนในเนื้อเยื่อ ซึ่งเกิดได้จากหลายโรคต้นเหตุ เช่น

1. มะเร็งปอด

มะเร็งปอด

          80% ของอาการนิ้วปุ้ม พบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด โดยจะมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บที่กระดูกหรือข้อต่อ เจ็บหน้าอก หายใจสั้น ๆ ไม่เต็มปอด ไอเรื้อรัง และมีลักษณะเปลี่ยนแปลง เช่น ไอแห้ง ๆ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นไอแบบมีเสมหะ ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะเป็นเลือด ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดลง อ่อนเพลียง่าย สุขภาพโดยรวมอ่อนแอ
 

มะเร็งปอด แสนร้ายกาจ ไม่สูบบุหรี่ก็ถึงฆาตเพราะโรคนี้ได้

2. โรคเนื้อเยื่อปอดอักเสบ

          เป็นหนึ่งในโรคปอด โดยอาจมีสาเหตุได้จากหลายอย่าง เช่น ติดเชื้อไวรัสไข้หวัด โควิด 19 มีฝีในปอด มีน้ำหรือหนองในช่องปอด เป็นต้น
 

8 สัญญาณเตือนปอดบวม ปอดอักเสบ สังเกตจากอะไรได้บ้าง

3. โรคปอดอุดตันเรื้อรัง

           โรคนี้เกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน มลพิษทางอากาศ สารเคมีในโรงงาน ฝุ่นละออง จนหลอดลมและถุงลมในปอดถูกทำลาย ทำให้อากาศผ่านเข้า-ออกปอดได้ยากขึ้น หายใจลำบากขึ้น ร่วมกับหายใจดังหวีด แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง

4. โรคพังผืดในปอด

           เกิดจากเนื้อเยื่อปอดมีการอักเสบเรื้อรัง จนเป็นแผลเป็นและพังผืดที่ทำให้เนื้อปอดแข็งและหนาขึ้น ส่งผลต่อการทำงานของปอดในการแลกเปลี่ยนก๊าซ ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น หายใจไม่สะดวก ไอแห้งเรื้อรัง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เป็นต้น

5. โรคหลอดลมอักเสบ

โรคหลอดลมอักเสบ

          โรคที่เกิดจากการอักเสบของหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก มีอาการไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะ ร่วมกับคัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ ๆ และอาจมีเสียงหวีดในลำคอ เจ็บหน้าอก หรือหอบเหนื่อยร่วมด้วย และหากร่างกายหมุนเวียนออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็จะส่งผลให้มีอาการนิ้วตะบองได้ด้วย
 

โรคระบบทางเดินหายใจ มีอะไรบ้าง เช็กอาการให้ชัวร์ แบบไหนกำลังป่วย !

6. โรคหัวใจ

          เช่น โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหัวใจวาย หรือเนื้องอกในหัวใจ โดยจะพบว่ามีอาการนิ้วปุ้มจากภาวะขาดออกซิเจน เพราะหัวใจหรือหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจทำงานผิดปกติไป ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนนิ้วมือและนิ้วเท้าไม่เพียงพอ จนปลายนิ้วบวมและขยายตัวออกมาในลักษณะนิ้วปุ้ม
 

โรคหัวใจ เจ็บหน้าอกแบบไหนใช่ เช็กสัญญาณก่อนเสี่ยงหัวใจวาย

7. เยื่อบุหัวใจอักเสบ

           จากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ทำให้การทำงานของหลอดเลือดหัวใจอ่อนแอ เซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง เกิดภาวะโลหิตจาง ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือด และแสดงอาการเริ่มแรกเป็นภาวะนิ้วตะบองให้เห็นก่อน

8. โรคตับแข็ง

โรคตับแข็ง

          เกิดจากการอักเสบเรื้อรังในตับ จนทำให้เนื้อเยื่อดีของตับถูกแทนที่ด้วยแผลเป็น และกลายเป็นภาวะตับแข็งในที่สุด ซึ่งเมื่อการทำงานของตับมีปัญหา ก็จะลำเลียงออกซิเจนไปให้ปอดและหัวใจได้น้อยลง และอาจเกิดภาวะนิ้วปุ้มขึ้นได้
 

โรคตับแข็ง มหันตภัยร้าย ที่อาจกลายเป็นมะเร็งตับได้ด้วย

9. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)

          รวมไปถึงโรคโครห์น และโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร อย่างโรคลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งการอักเสบที่เกิดขึ้นนี้อาจส่งผลต่อการลำเลียงออกซิเจนไปยังปอดและหัวใจ เสี่ยงต่อภาวะขาดออกซิเจนได้ โดยอาจพบอาการผิดปกติ เช่น ไอแห้ง เจ็บหน้าอก เสียงแหบ เจ็บคอ กลืนลำบาก แสบร้อนลำคอและหน้าอก เบื่ออาหาร ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูก คลื่นไส้บ่อย น้ำหนักลดลง เหนื่อยง่าย เป็นไข้บ่อย เป็นต้น
 

เช็กอาการลำไส้อักเสบ ถ่ายบ่อย ปวดท้องบิด มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ ?

10. โรคไทรอยด์ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Thyroid acropachy)

          เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย โดยอาจจะพบได้ใน 1% ของผู้ป่วยโรคเกรฟฟ์ จากการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป ทั้งทำงานเกินและทำงานน้อยไป โดยมีสาเหตุจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการนิ้วตะบองได้ทั้งที่นิ้วมือและนิ้วเท้า ร่วมกับมีอาการบวมของเนื้อเยื่ออ่อน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และอ่อนเพลีย เป็นต้น
 

ไทรอยด์เป็นพิษ... ท้องเสียบ่อย น้ำหนักลด กินเท่าไรก็ไม่อ้วน นี่อาจเป็นสัญญาณเตือน

11. ภาวะเนื้องอก

           เนื้องอกอาจไปกดทับเส้นเลือด หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หลอดเลือด จนขัดขวางการขนส่งออกซิเจนในร่างกาย และทำให้เกิดภาวะนิ้วปุ้มได้
           อย่างไรก็ตาม ภาวะนิ้วตะบองไม่จัดเป็นโรค แต่เกิดจากโรคอื่น ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งการรักษาก็มีวิธีที่หลากหลายไปด้วยค่ะ

นิ้วปุ้ม รักษาได้ไหม

           การรักษานิ้วตะบองจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิด โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคต้นเหตุ ทั้งการใช้ยาเพื่อรักษาโรคที่เป็น การผ่าตัดรักษา หรือตามดุลยพินิจของแพทย์เจ้าของไข้ เป็นต้น

นิ้วปุ้ม ป้องกันได้ไหม

           เนื่องจากภาวะนิ้วตะบองเกิดได้จากโรคอื่น ๆ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ และพยายามลดความเสี่ยงโรคปอด ด้วยการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละอองและมลพิษ งดสูบบุหรี่ รวมไปถึงการตรวจสุขภาพประจำปีอย่าได้ขาด เพราะหากเจ็บป่วยด้วยโรคใดขึ้นมาก็จะได้หาทางรักษาได้ทันท่วงทีนั่นเอง
           พร้อมกันนี้ก็อย่าลืมหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราด้วยนะคะ หากพบว่าอาการตรงกับที่เป็นอยู่ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยเร็ว เพราะการรักษาโรคต้นเหตุตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษา และถือเป็นการป้องกันไม่ให้อาการนิ้วตะบองรุนแรงขึ้นด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมือ-นิ้ว-เล็บ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิ้วปุ้ม นิ้วตะบอง ลักษณะคล้ายไม้กลอง แต่บอกถึงโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14:35:31 9,571 อ่าน
TOP
x close